พิธีบายศรีสู่ขวัญไทยพวน ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ชุมชนไทยพวน อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ทั้งในงานแต่งงาน งานบวชนาค งานขึ้นบ้านใหม่ หรือการเรียกขวัญให้ผู้เสียขวัญ หรือผู้ที่หายจากการเจ็บป่วย และมักจะเห็นเด่นชัดในงานต้อนรับแขกบ้าน/แขกเมือง/ผู้มาเยี่ยมชมชุมชน หรือศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
พิธีบายศรีสู่ขวัญไทยพวนเป็นพิธีที่กระทำขึ้นเพื่อเรียกขวัญให้มาอยู่กับตัว ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิ่งนามธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า “ขวัญ" ซึ่งมีหน้าที่รักษาประคับประคองชีวิต และติดตามเจ้าของไปทุกหนแห่ง การทำพิธีสู่ขวัญจึงเป็นการเชิญขวัญที่หนีหายไปให้เข้ามาอยู่กับตัว และเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมพลังใจให้เข้มแข็ง มีสติและไม่ประมาท“การสู่ขวัญ” เป็นเรื่องเกี่ยวกับขวัญและกำลังใจ ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษของชาวไทยพวนได้เห็นความสำคัญ ของการดำเนินชีวิตซึ่งต้องอาศัยพลังจิตใจที่เข้มแข็ง ความมีสติสัมปชัญญะมั่นคงจะก่อให้เกิดปัญญา และความมุ่งมั่นที่จะไปสู่เป้าหมายได้พิธีบายศรีสู่ขวัญไทยพวนจึงได้มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
พิธีบายศรีสู่ขวัญไทยพวน สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ผู้เฒ่าผู้แก่ ปู่ย่า ตายาย จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด เป็นการถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่นตามประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ ไทยพวน อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก อพยพมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเกาะหวาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2341มีพวนอพยพจากเวียงจันทน์อีกกลุ่ม และต่อมาในปี พ.ศ. 2370 สมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการอพยพกลุ่มชาวพวนมาเป็นครั้งสุดท้าย จึงสันนิษฐานว่าพิธีบายศรีสู่ขวัญไทยพวนปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ไม่ต่ำกว่า 200 ปี