ประเพณีเลี้ยงศาลปู่ตาเป็นการแสดงความเคารพ ที่ชาวบ้านทำเป็นประจำทุกปี สถานที่เลี้ยงปู่ตา คือ ศาลปู่ตาประจำแต่ละหมู่บ้าน ภายในศาลปู่ตานั้น จะประกอบด้วย รูปปั้นปู่ตา แท่นบูชา ข้าทาสบริวารต่างๆ พวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้ที่ดูแลรักษาศาลปู่ตาซึ่งชาวไทยพวนเรียกว่า “ เจ้าจ้ำ ” นอกจากเจ้าจ้ำจะเป็นผู้ดูแลศาลปู่ตาให้เรียบร้อยเป็นประจำอยู่แล้ว ยังมีหน้าที่ เป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างปู่ตากับชาวบ้าน เจ้าจ้ำจึงคล้ายกับทหารคนสนิทของปู่ตา เมื่อใครทำอะไรผิดขนบธรรมเนียมประเพณี หากปู่ตาโกรธก็จะบอกผ่านเจ้าจ้ำไปยังบุคคลที่กระทำผิด เมื่อปู่ตาต้องการให้ชาวบ้านปฏิบัติอย่างไรก็จะบอกผ่านเจ้าจ้ำไปยังชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านจะไม่สามารถติดต่อ กับปู่ตาได้โดยตรง
ศาลปู่ตาเปรียบเสมือนศาลหลักบ้านประจำหมู่บ้าน เป็นที่เคารพสักการะนับถือของชาวบ้าน ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งในปัจจุบันชาวไทยพวนตำบลเกาะหวายยังมีประเพณีความเชื่อนี้ และยังสืบทอดกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน คำว่าปู่ตา หมายถึง บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปหลายชั่วอายุคน เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปเพราะเมื่อปู่ตามีชีวิตอยู่นั้น ได้สร้างคุณงาม ความดีไว้กับลูกหลาน และสังคมมากมายหลายประการ เช่น ให้การเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี สะสมสาธารณสมบัติไว้เพื่อลูกหลาน เพื่อแสดงถึงกตัญญูกตเวที จึงมีการเลี้ยงปู่ตาสืบต่อมาเป็นประเพณี