วัดหนองโพ ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังหลักฐานทางโบราณวัตถุและหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร อาทิ พระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย หน้าบันไม้แกะสลักรูปทรงฝีมือช่างสมัยอยุธยา รวมทั้งตำราคัมภีร์ที่ปรากฏอยู่ในวัดหนองโพ ซึ่งคัมภีร์ที่สำคัญภายในวัดหนองโพคือคัมภีร์ยา ซึ่งมีการศึกษากันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การรักษาโรคโดยใช้วิทยาการแพทย์แผนไทยเป็นการปรับสมดุลของร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นสุข มรดกภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยมิได้มีไว้เพียงการรักษาโรค แต่ยังสามารถนำความรู้ด้านแพทย์แผนไทยมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การกินอาหารเพื่อปรับธาตุ การอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านการแพทย์แผนไทยของบ้านหนองโพ ยังคงปรากฏและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือ “การอบสมุนไพร” ซึ่งปัจจุบันวัดหนองโพได้จัดสร้าง “สุขศาลา โรงอบสมุนไพร ตำรับเดิม” เพื่อให้บริการเป็นสาธารณกุศลแก่ประชาชนโดยทั่วไป อันจะเป็นการอนุรักษ์มรดกทางภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติสืบไป
วัดหนองโพ ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีตั้งแต่สมัยอยุธยา และมีความเจริญรุ่งเรืองที่สุดในสมัยของหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร (พ.ศ.๒๔๐๓-๒๔๙๔) ด้วยการจัดการศึกษาในด้านต่าง ๆในยุคของหลวงพ่อเดิม ทั้งการเรียนพระปริยัติธรรม การเรียนสายสามัญ การดนตรี งานก่อสร้าง ตลอดจนการศึกษาด้านการแพทย์แผนไทยที่นับรุ่งเรืองที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วยมีการรวบรวมตำรายาแผนไทยที่เรียกกัน "ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง” หรือ “ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์” มีตำราการเรียนการสอนที่เรียบเรียงไว้เป็นขั้นตอน อาทิ สมุฏฐานวินิจฉัย ธาตุอภิญญาณ ปฐมจินดา อสุรินทญาณธาตุ ตำราธาตุวินิจฉัย ข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการเลือกใช้ยา ซึ่งทำให้เกิดการศึกษาด้านแพทย์แผนไทยโดยกว้างขวาง
สำหรับวัดหนองโพนั้นเป็นวัดที่อยู่ในชนบทห่างไกลจากการแพทย์ทั้งแพทย์ตำรับหลวงและแพทย์แผนปัจจุบัน การศึกษาเล่าเรียนวิชาการแพทย์แผนโบราณจึงเป็นที่นิยมมีการเรียนคัดลอกตำราและศึกษาด้วยภูมิปัญญาสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลักฐานที่ปรากฏได้แก่ตำรายาต่าง ๆ ภายในวัดที่ได้รวบรวมไว้ในวัดหนองโพได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิมขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ โดยพระครูนิปุณพัฒนวงศ์ ดร. เจ้าอาวาสวัดหนองโพ รูปปัจจุบัน โดยตำรายาต่าง ๆ ได้บันทึกไว้ในใบลาน สมุดไทยขาว สมุดไทยดำ สมุดจีน และสมุดฝรั่ง โดยแยกประเภทได้ดังนี้
๑. โรคและอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคบิด โรคห่าท้องร่อง โรคไข้ป่วง โรคปวดท้อง โรคลมในท้อง เป็นเถาดาน เป็นต้น
๒. โรคและอาการที่เกี่ยวกับเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ประสาท เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต ปวดร่างกาย เส้นประสาทชามือเท้า เป็นต้น
๓. โรคและอาการของไข้ทั้งปวง เช่น ไข้กาฬ ไข้รากสาด ไข้เลือดลม ไข้ทับระดู ไข้หัวลม ไข้ทรพิษ ไข้อีดำอีแดง เป็นต้น
๔. โรคและอาการของโรคตา เช่น ดาเหลือง ตาแดง ตาบวม ตาฟาง เป็นต้น
๕. โรคและอาการของเด็ก เช่น ซางในเด็ก
๖. โรคและอาการของสตรี เช่น โรคเลือดโรคลม โรคเกี่ยวกับครรภ์ โรคโลหิต เป็นต้น
๗. โรคติดเชื้อ เช่น โรคโยนีบานทะโร่ โรคหนองในบุรุษ เป็นต้น
๘. โรคและอาการไม่สบายอื่น ๆ เช่น ผมร่วง คัน ไอ ยากวาด ยาดำ เป็นต้น
ตำรับยาของวัดหนองโพนี้ ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ศึกษาและสืบทอดเพื่อการนำมาบำรุงรักษาร่างกายทั้งในยามร่างกายปกติและป่วยไข้ ดังนั้นวัดหนองโพจึงได้เก็บรวมรวมและศึกษาเพื่อการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน อันเป็นต้นธารแห่งกุศลที่ผู้เจริญด้วยสุขอนามัยจะสามารถมีร่างกายสติปัญญาให้ถึงพร้อมในการดำรงชีวิตตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมและธำรงพระพุทธศาสนาได้สืบไป
ด้วยความเป็นมาดังกล่าววัดหนองโพ โดยพระครูนิปุณพัฒนวงศ์ ดร.เจ้าอาวาสวัดหนองโพรูปปัจจุบัน จึงได้มีวัตถุประสงค์ในการสงเคราะห์ประชาชนทั่วไปทางด้านสุขอนามัยเพื่อเป็นต้นธารแห่งกุศล ด้วยการจัดสร้างห้องอบยาสมุนไพร พร้อมทั้งการนวดคลายเส้น โดยมีตำรับยาของวัดหนองโพ ซึ่งเทียบเคียงเป็นตำรับยาเดียวกันของตำรับยาโอสถพระนารายณ์ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมการแพทย์แผนไทยแล้ว ห้องอบสมุนไพรของวัดหนองโพ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนคือ บริษัทเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์ คอร์ออฟเปอเรชั่น จำกัด มหาชน ในการสร้างเครื่องอบไอน้ำพร้อมการควบคุมอุณหภูมิอย่างเหมาะสมในการให้ความร้อนแก่ผู้ใช้บริการ เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีที่ทันสมัยกับภูมิปัญญาไทย เพื่อให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน
การอบสมุนไพรของวัดหนองโพมีอัตลักษณ์คือ เป็นตำรับยาดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณ และได้นำมาบูรณาการกับวิทยาการด้านเทคโนโลยีในการสร้างเครื่องอบไอน้ำพร้อมการควบคุมอุณหภูมิอย่างเหมาะสมในการให้ความร้อนแก่ผู้ใช้บริการ เพื่อให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน
ห้องอบสมุนไพรวัดหนองโพ ประกอบด้วย
๑. ห้องอบสมุนไพรสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จำนวน ๑ ห้อง
๒. ห้องอบสมุนไพรสำหรับบุรุษ จำนวน ๑ ห้อง
๓. ห้องอบสมุนไพรสำหรับสตรี จำนวน ๒ ห้อง
๔. ห้องอาบน้ำพร้อมสุขาชาย จำนวน ๓ ห้อง
๕. ห้องอาบน้ำพร้อมสุขาหญิง จำนวน ๓ ห้อง
๖. ห้องอาบน้ำพร้อมผู้พิการสุขาชาย จำนวน ๑ ห้อง
๗. ห้องอาบน้ำพร้อมผู้พิการสุขาหญิง จำนวน ๑ ห้อง
๘. ตู้ล็อคเกอร์ รับฝากของชาย ขนาด ๑๘ ช่อง จำนวน ๑ ชุด
๙. ตู้ล็อคเกอร์ รับฝากของหญิง ขนาด ๑๘ ช่อง จำนวน ๑ ชุด
๑๐. ตู้เก็บผ้าชาย จำนวน ๑ ตู้
๑๑. ตู้เก็บผ้าหญิง จำนวน ๑ ตู้
๑๒. นาฬิกาดิจิตอลพร้อมเครื่องวัดอุณหภูมิ จำนวน ๔ เครื่อง
๑๓. โทรทัศน์ จำนวน ๒ เครื่อง
๑๔. ถังน้ำ จำนวน ๔ จุด
๑๕. ถังขยะ จำนวน ๖ จุด
๑๖. โต๊ะเก้าอี้หินอ่อน จำนวน ๖ ชุด
ตัวยาที่ใช้อบสมุนไพรประกอบมี ดังนี้
ชุดที่ ๑
๑. แก่นขนุน ๒. แก่นสักขี ๓. แก่นมะหาด ๔. แก่นปรู ๕. แก่นหนามพรม ๖. แก่นลั่นทม ๗. แก่นแสมทะเล ๘. แก่นแสมสาร ๙. แก่นแกแล ๑๐.แก่นฝาง ๑๑.แก่นพระยามูลเหล็ก ๑๒. แก่น(ประกำไก่) ๑๓. แก่นกำลังเสือโคร่ง ๑๔. แก่นสัก ๑๕. แก่นไม้แดง ๑๖. แก่นรางแดง ๑๗. แก่นตะโกนา ๑๘. แก่นสะแกนา ๑๙. แก่นคูน ๒๐. แก่นกุ่มน้ำ กุ่มบก ๒๑. แก่นนกลิง
ชุดที่ ๒
๑. ตะไคร้แดง สดและแห้ง ๒. ตะไคร้หอม สดและแห้ง ๓. ข่าแห้ง ๔. ไพลแห้ง ๕. ราก ต้น แฝกหอมแห้ง ๖. การบูรแห้ง ๗. พริกพานแห้ง ๘. ผิวมะกรูดแห้ง ๙. ส้มป่อยแห้ง ๑๐. ใบหนาดแห้ง ๑๑.กะเพราแดงแห้ง ๑๒.กะเพราขาวแห้ง ๑๓. กระทือแห้ง ๑๔. โด่มิรู้ล้มแห้ง
ชุดที่ ๓
๑. ตะไคร้หอมสด ๒. ตะไคร้แกงสด ๓. ไพลสด ๔. ข่าสด ๕. กระทือสด ๖. ใบมะขามสด ๗. ใบหนาดสด
ชุดที่ ๔
๑. อบเชย ๒. จันทน์ชะมด ๓. สมุลแว้ง ๔. เทพพาโร ๕. จันทน์หอม
ยาอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม สูตรดั้งเดิมของวัดหนองโพนี้สูตรนี้นับว่าเป็นยาสูตรพิเศษ เพราะมีตัวยาสมุนไพรมากกว่าทุกสูตร แต่ละชนิดล้วนมีสรรพคุณสำคัญทางยาอยู่ทั้งสิ้น เช่น รากดีปลี เป็นพืชสมุนไพรที่สามารถรักษาอาการอัมพฤกษ์และอัมพาตได้ดี ส่วนรากเจตมูลเพลิงแดง จะใช้บำรุงรักษาผิวพรรณให้ผ่องใส รวมทั้งยังแก้อาการปวดตามข้อและปวดกล้ามเนื้อได้ดีอีกด้วย
ตำรับยาของวัดหนองโพจึงสมควรได้รับการสืบทอดเป็นมรดกทางภูมิปัญญา ให้ประชาชนได้รับบริการ ด้านสุขอนามัย มีห้องอบที่ทันสมัย สามารถสร้างอาชีพด้านการปลูกสมุนไพร และด้านการให้บริการ รวมทั้งเกิดการสร้างสำนึกในด้านสาธารณกุศล
ภูมิปัญญาด้านการอบสมุนไพรของวัดหนองโพนี้ เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างช้านาน มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร (Literature source) เป็นคัมภีร์ยา ทั้งใบลาน สมุดไทย สมุดฝรั่งโบราณ ภายในวัดหนองโพ มีแพทย์แผนไทยสืบทอดและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องในปัจจุบัน
ด้วยการดำรงชีวิตที่สมดุล การมียารักษาโรคในยามป่วยไข้ เป็นปัจจัยที่จำเป็นของมนุษย์ การสงเคราะห์ด้วยการแพทย์จึงนับเป็นโอสถธรรมอันประเสริฐ ซึ่งชาวหนองโพจะธำรงรักษาไว้เป็นสมบัติของชุมชนสืบไป