ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 45' 4.9219"
15.7513672
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 47' 22.6255"
99.7896182
เลขที่ : 197427
การแสดงเพลงฉ่อยแม่ทองใบ จินดา
เสนอโดย นครสวรรค์ วันที่ 20 กันยายน 2565
อนุมัติโดย นครสวรรค์ วันที่ 20 กันยายน 2565
จังหวัด : นครสวรรค์
0 1275
รายละเอียด

เพลงพื้นบ้านมีคุณค่าให้ความบันเทิงใจแก่คนในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในสมัยที่ยังไม่มีเครื่องบันเทิงใจมากมายเช่นปัจจุบันนี้ เพลงพื้นบ้านเป็นสิ่งบันเทิงชนิดหนึ่งซึ่งให้ความสุขและความรื่นรมย์แก่คนในสังคม ในฐานะที่เป็นการละเล่นพื้นบ้านของหนุ่มสาวและในฐานะเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมต่าง ๆ เพลงพื้นบ้านจึงจัดเป็นสิ่งบันเทิงที่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวบ้าน

ในอดีตมีการรวมตัวเล่นและร้องเพลงพื้นบ้านตามท้องถิ่นโดยทั่วไป ในเขตอำเภอลาดยาว มีการละเล่นเพลงฉ่อย โดยลุงสะอาด แม่ทองเกลียว ลุงช้าง แม่สุดใจ เป็นผู้บุกเบิกในยุคแรก ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้น ประกอบด้วยแม่แตงไทย พ่อสุชิน ทวีเขต ลุงเถิม ลุงถี ป้าเมี้ยน ป้าม้วน แม่เชื่อม ร่วมกันแต่งเนื้อและทำนอง โดยมีการนัดซ้อมกลางลานบ้าน และปู่แนม เป็นผู้ตีวงปี่พาทย์ให้ จนมีคนสนใจมาฝึกกันมากขึ้น

ศิลปะการแสดงประกอบด้วย ลักษณะการแสดง ประเภท พัฒนาการ ขนบ ความเชื่อ ลำดับขั้นตอนการแสดง รูปแบบการจัดการแสดง โน้ตเพลง บทเพลง บทละคร อุปกรณ์ และกระบวนท่า

เพลงฉ่อย เป็นเพลงพื้นเมืองที่มีการแสดงท่าทาง และการร้องคล้ายกับลำตัด โดยมีผู้แสดงประกอบด้วย ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ฝ่ายละประมาณสองถึงสามคน ในขณะที่พ่อเพลงแม่เพลงร้องโต้ตอบกับ ผู้เล่นคนอื่นๆ จะทำหน้าที่เป็นลูกคู่ เนื้อหาที่ร้องส่วนใหญ่มีทั้งเรื่อง ทางโลก ทางธรรม เชิงชู้ และมักจะมีถ้อยคำ ที่มีความหมายสองแง่สองง่าม การแสดงเพลงฉ่อยจะไม่มีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ แต่จะใช้การตบมือเป็นจังหวะแทน และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเพลงฉ่อยคือ ลูกคู่จะร้องรับด้วยคำว่า “เอ่ ชา เอ้ชา ชา ชาชาชา หน่อยแม่”

เพลงฉ่อย นิยมเล่นในทุกจังหวัดของภาคกลาง และ แพร่หลายไปยังภาคอื่นๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ แต่ในภาคอื่นๆ นิยมร้องเล่นเป็นบางจังหวัด มิได้แพร่กระจายโดยทั่วไปทุกจังหวัด ชาวบ้านนิยมร้องเล่นกันมานานแล้วไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นเมื่อใด

เอกลักษณ์ของเพลงฉ่อย

การขึ้นเพลงทั่วไป จะขึ้นว่าฉัดช่าฉัดชา ฉัดช่าฉัดฉ่า เอิงเอิงเออฉะเอิงเอ้ย ทางจังหวัดอุทัยธานี – จังหวัดนครสวรรค์ รับเพลงว่า เอ่ชา เอชา เอ๊ชา ฉ่าชาเอย– ส่วนทาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา – จังหวัดอ่างทอง – จังหวัดสุพรรณบุรี รับเพลงว่า เอ่ชา ชา ชาฉ่าชาเอย– ส่วนทางใต้ กรุงเทพมหานคร – จังหวัดราชบุรี รับเพลงว่า เอ่ชา เอชา ชาชาฉ่าชา หนอยแม่

การจัดรูปแบบการแสดง เนื่องจากเพลงฉ่อยเป็นการแสดงการร้องเพลงโต้ตอบกัน ระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยมีต้นเสียงร้อง แล้วมีลูกคู่รับ สลับกันไปทีละ “ลง” หรือท่อนของเพลง โดยทั่วไป ผู้ว่าจ้างจะต้องจัดสถานที่สำหรับแสดงไว้เป็นการเฉพาะ อาจอยู่กลางแจ้งหรือในอาคาร โดยเวทีการแสดง ซึ่งจะแบ่งพื้นที่เป็น ๒ ส่วน ได้แก่ ส่วนเวทีสำหรับแสดง และส่วนห้องเตรียมตัว นักแสดง หากเป็นโรงมหรสพ ส่วนใหญ่เป็นโรงยกพื้น บางแห่งมีหลังคาและฝากั้น บริเวณด้านหลังผู้แสดงมี ม่านหรือฉากกั้น มักจัดทำขึ้นโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นผ้า หรือไวนิล มีสีสันสดใส ข้อความต่างๆ ประกอบด้วย ชื่อวงหรือชื่อคณะ มักมีที่อยู่หรือหมายเลขโทรศัพท์เพื่อประชาสัมพันธ์ด้วย ส่วนพื้นที่ด้านหน้าซึ่งเป็นเวทีแสดง จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ส่วนของฝ่ายชาย ส่วนของฝ่ายหญิง และส่วนนักดนตรี ฝ่ายชายและฝ่าย หญิงอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวา นักดนตรีและลูกคู่อาจอยู่ด้านข้างหรือด้านหลังก็ได้ ในการแสดงนั้นผู้แสดง จะยืนเรียงแถวหน้ากระดาน ผู้ร้องของทั้งสองฝ่ายจะออกมายืนตรงกลาง ด้านหน้า ส่วนนักแสดงคนอื่นๆ ซึ่ง ทำหน้าที่เป็นลูกคู่ด้วยจะยืนหรือนั่งด้านข้างหรือด้านหลังก็ได้

ประวัตินางทองหลอม เขตวิทย์ (แม่ทองใบ จินดา)

เกิดวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๔๙๙ ที่ตำบลลาดยาว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ แต่เดิม ปู่ (นายแนม เพชรรัตน์) และ ย่า (เปลื้อง เพชรรัตน์) มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดอุทัยธานี แต่ได้ย้ายมาอยู่อำเภอลาดยาว โดยเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ รับจ้างแสดงทั่วไป

ในอดีตมีการมารวมตัวเล่นและร้องเพลงพื้นบ้าน ตามท้องถิ่นโดยทั่วไป ในอำเภอลาดยาว มีการละเล่นเพลงฉ่อย โดย ลุงสะอาด แม่ทองเกลียว ลุงช้าง แม่สุดใจ เป็นผู้บุกเบิกในยุคแรก โดยมีสมาชิกมารวมตัวกันประกอบด้วย แม่แตงไทย พ่อสุชิน ทวีเขต ลุงเถิม ลุงถี ป้าเมี้ยน ป้าม้วน แม่เชื่อม มาแต่งเนื้อและแต่งทำนอง มีการซักซ้อมกันบริเวณลานบ้าน ถึงเวลากลางคืนก็จุดตะเกียงให้แสงสว่าง โดยมีปู่แนม เป็นคนตีวงปี่พาทย์ให้ จนมีลูกศิษย์สนใจมาฝึกมากขึ้น

ต่อมาได้มีลูกศิษย์ของลุงสะอาด ได้ก่อตั้งคณะกันขึ้น ชื่อคณะ ส.ทองนพเก้า ๑, ส.ทองนพเก้า ๒, ส.ทองนพเก้า ๓ ได้รับทำการแสดงเช่น งานแห่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ลาดยาวเป็นประจำทุกปี เมื่อเวลาผ่านไปคณะ ส.ทองนพเก้า ถึงจุดอิ่มตัว นักแสดงได้แยกย้ายกันไป จนยุบคณะ แม่เพลงบางคนจาก คณะ ส.ทองนพเก้า ได้ตั้งคณะขึ้นมาใหม่ชื่อ เรณู เสียงสวรรค์ (ซึ่งเป็นลูกสาวของลุงสะอาด) ทำการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่

แม่ทองใบ จินดา ได้เริ่มฝึกร้องฝึกรำเมื่ออายุประมาณ ๗- ๘ ขวบ กับวงปี่พาทย์ของปู่แนม ที่แยกตัวออกมาจากคณะของลุงสะอาด และเริ่มฝึกอย่างจริงจังเมื่อเรียนจบ ป.๔ (จากโรงเรียนลาดยาว ปฐมสิทธิ์ พิทยาคาร ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลลาดยาว) จนสามารถร่วมแสดงกับพ่อเพลง แม่เพลงรุ่นเก่า เช่น แม่แตงไทยพ่อสุชิน ทวีเขต(ศิลปินแห่งชาติ จ.อุทัยธานี) ซึ่งมีการผสมผสานกับพ่อเพลงแม่เพลงรุ่นเก่า กับเด็กรุ่นใหม่ ต่อมาแม่ทองใบได้ร่วมกับ พ่อเพลง แม่เพลง เช่น โกมินทร์ พูลเขตกิจ แม่พเยาว์ เพชรรัตน์ (พี่สาวของทองใบ จินดา) พ่อบุญเถิง เมืองไทย ทำการแสดงออกอากาศทางสถานีวิทยุ วปถ. ๙ นครสวรรค์ และกองพล ปตอ. สี่แยกเกียกกาย จนมีคนรู้จักมากขึ้น

ต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ พระครูนิยุติรัตนวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดสระแก้ว ตำบลสระแก้ว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ได้ชักชวน แม่ทองใบ จินดา มาร่วมทำงานและจัดรายการวิทยุและนำเพลงฉ่อยของทองใบ จินดา มาออกอากาศเพื่อเผยแพร่ อนุรักษ์ ที่สถานีวิทยุของวัดสระแก้ว จนถึงปัจจุบัน เนื้อหาที่นำมาเล่นเพลงฉ่อย จะเลือก วรรณกรรมเช่นเรื่องขุนช้างขุนแผน ลักษณวงศ์ ไกรทอง สังข์ทอง พระเจ้าสิบชาติเป็นต้น

แม่ทองใบ จินดา ขณะจัดรายการวิทยุ เพื่อส่งเสริมศิลปะการแสดงเพลงฉ่อย ณ สถานีวิทยุชุมชนวัดสระแก้ว อำเภอลาดยาว

ลำดับขั้นตอนการแสดง โดยทั่วไปเพลงฉ่อยมีลำดับข้นตอนการแสดง ได้แก่ การไหว้ครู การร้องบทเกริ่น การร้องบทประ การร้องบทลา และการร้องอวยพรหรือขอบคุณเจ้าภาพ ดังนั้น การไหว้ครู เป็นการกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้มีพระคุณ เริ่มจากไหว้พระรัตนตรัย เทวดาในศาสนาพุทธ เทพในศาสนาพราหมณ์ ภูตผีต่างๆ จากนั้นจะไหว้พ่อแม่และครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะครูเพลงทั้งที่มีชีวิตและเสียชีวิตแล้ว การไหว้ครูจะต้องมีพานกำนล คือพานใส่สิ่งของเครื่องบูชาครู เช่น ธูป เทียน ดอกไม้ และเงินกำนล ซึ่งสิ่งของต่าง ๆ ในพานกำนลอาจแตกต่างกันตามที่ครูเพลงแต่ละคณะ กำหนด อาทิ หมาก พลู บุหรี่ และเหล้า เป็น ต้น

การไหว้ครูในการแสดงเพลงฉ่อย ส่วนใหญ่หัวหน้าคณะเป็นผู้ประกอบพิธี โดยจุดธูป เทียน ยกพานกำนลหรือพานไหว้ครู (ซึ่งอาจใช้จานหรือขันแทนพานก็ได้) ขึ้นจบที่หน้าผาก กล่าวคำบูชาครู ซึ่งอาจทำด้านหลังของฉาก หรือด้านหน้าก่อนร้องเพลงไหว้ครูก็ได้

การร้องเพลงไหว้ครูในลำดับแรกของการแสดง ผู้แสดงทุกคนนั่งเรียงกัน ด้านหน้าเวที แบ่งฝั่งแบ่งฝ่าย ผู้ร้องจะนั่งตรงกลางและต้องมีพานกำนลวางไว้ด้านหน้า และมักจะยกขึ้นถือไว้ ในขณะที่ร้อง พ่อเพลงซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายชายจะร้องก่อน แล้วแม่เพลงที่เป็นหัวหน้าฝ่ายหญิงจะร้องในภายหลัง เมื่อร้องจบแล้วก็นำพานกำนลไปวางไว้ในที่สูง อาจวางมุมใดมุมหนึ่งของเวที

ตัวอย่างบทไหว้ครูของคณะเพลงฉ่อยแม่ทองใบ จินดา

เอ่อ เอิง เอย.ย.ย. มือของลูกสิบนิ้วยกขึ้นเหนือหว่างคิ้ว น้อมพระกรทั้งสอง

ธูป ๓ เทียน ๑ เงินกึ่งตำลึงมาใส่พานจำลอง เอิง เอย.ย.ย

เอ่อ เอิง เอย.ย.ย. จะไหว้บิดา มารดา ที่เลี้ยงลูกมาอุ้มชู ได้อาบน้ำป้อนข้าว

เฝ้าเอ็นดูลูกจำไว้ได้ถ้วนถี่ จะแทนได้ใช้เสร็จด้วยพระทั้ง ๗ คัมภีร์ เอิง เอย.ย.ย

เอ่อ เอิง เอย.ย.ย.จะไหว้ครูบาอาจารย์เป็นวมภารที่พึ่ง ได้สั่งสอนลูกลึกซึ้ง

หมดทั้งลูกศิษย์ที่มา เงินกำนลต้นทรัพย์ ลูกจะขอคำนับครูบา เอิง เอย.ย.ย

เอ่อ เอิง เอย.ย.ย.จะไหว้พระพรหมเจ้าที่ แม่ธรณีเจ้าทาง เมื่อลูกจะว่าไว้วาง

ขออย่าให้ผิดจังหวะเมื่อลูกไปเล่นงานไหนขอให้ลูกมีชัยชนะ เอิง เอย.ย.ย

เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ประกอบการแสดง

เดิมการแสดงเพลงฉ่อยของคณะต่างๆ มีรูปแบบเรียบง่ายที่คล้ายคลึงกัน เช่น ใช้การตบมือให้จังหวะเพียงอย่างเดียว หรือใช้เครื่องดนตรีประกอบจังหวะเพียงหนึ่งหรือสองชนิด เช่น ฉิ่งและกรับ สำหรับเครื่องแต่งกายก็เรียบง่ายตามแบบชาวบ้าน และส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์ประกอบการแสดงใดๆ ปัจจุบันรูปแบบการเล่นเพลงฉ่อยมีการปรับเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ในการสร้าง เอกลักษณ์ของคณะ หรือดึงดูดความสนใจจากผู้ชม เช่น มีฉากกั้น มีเครื่องขยายเสียง บางคณะเพิ่มดนตรี ประกอบ ตลอดจนการแต่งกายที่สวยงามมีสีสันฉูดฉาดสะดุดตา แต่ส่วนใหญ่ยังคงรักษารูปแบบเดิม เช่น นุ่งโจงกระเบน เป็นต้น ดังความจากการสัมภาษณ์คณะเพลงฉ่อยของแม่ทองใบ จินดา ว่า“เสื้อผ้าส่าหรับการแสดงเพลงฉ่อยนั้นพ่อเพลงแม่เพลงแต่ละคนจะหากันเอง แต่จะ เน้นให้เหมือนสมัยโบราณ คือ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบนเสื้อลายดอกมีผ้าคาดเอว แม่เพลงก็จะใส่โจงกระเบนและเสื้อสีสันสดใส อาจใช้ผ้าที่มีความแวววาวเพื่อให้เกิดความสวยงาม ส่วนเครื่อง ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโบราณใช้แต่กรับร่วมกับการตบมือให้จังหวะเท่านั้น แต่ถ้ามีเพลง อื่น ๆ เช่น อีแซว ก็จะใช้ตะโพนด้วย และอาจมีปี่พาทย์ไปด้วยเพื่อใช้ร่าหน้าวง และใช้เวลาเล่น เข้าเรื่อง”

เพลงฉ่อยของแม่ทองใบ จินดาและพ่อโกมินทร์ พูลเขตกิจ รับงานการแสดงแทบทุก โอกาส ทั้งงานของชาวบ้านและงานของหน่วยงานราชการต่าง ๆ เป็นต้นว่า งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานโกนจุก งานทำบุญร้อยวัน งานทำบุญ งานประเพณี และและงานตามเทศกาลต่าง ๆ แต่จะไม่เล่นในงานแต่งงาน เนื่องจากครูบาอาจารย์ได้ห้ามเอาไว้ ซึ่งราคาในการติดต่อการแสดงนั้นจะอยู่ที่ตกลงกันเพราะบางครั้งราคา อาจจะไม่เท่ากัน ในช่วงนี้เมื่อไปแสดงก็จะมีเวทีและปี่พาทย์ไปด้วย โดยพื้นที่ที่เคยไปแสดงส่วนมากอยู่ในเขต ภาคกลาง เช่น จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น

สถานที่ตั้ง
ตำบล ลาดยาว อำเภอ ลาดยาว จังหวัด นครสวรรค์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง อวยพร พัชรมงคลสกุล อีเมล์ paitoog@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่