พื้นที่ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก และมีการปลูกพืช ผักชนิดต่าง ๆ ควบคู่กันไปเพื่อบริโภค แทบทุกหลังคาเรือนจะปลูกกล้วยน้ำว้ากันเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีปริมาณมาก ๆ จึงหาวิธีแปรรูปเพื่อเก็บไว้ทำอาหาร เช่น นำไปตากแดด หรือนำไปทำขนมกล้วย ขนมแดกกล้วย เป็นต้น ซึ่งขนมแดกกล้วยเป็นขนมไทยโบราณอีกอย่างหนึ่งที่นิยมทำเพื่อรับประทานในเทศกาลประจำถิ่น เช่น ช่วงเข้าพรรษา สารทไทย ออกพรรษา
กล้วยน้ำว้า(Cultivated banana) เป็นกล้วยพันธุ์หนึ่ง พัฒนามาจากลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี บริโภคกันอย่างแพร่หลาย ปลูกง่าย รสชาติดี สำหรับกล้วยน้ำว้าแบ่งออกเป็น ๓ ชนิด ตามสีของเนื้อ คือ น้ำว้าแดง น้ำว้าขาว และน้ำว้าเหลือง คนไทยรับประทานกล้วยน้ำว้าทั้งผลสด ต้ม ปิ้ง และนำมาประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังมีกล้วยน้ำว้าดำ ซึ่งเปลือกมีสีครั่งปนดำ แต่เนื้อมีสีขาว รสชาติอร่อยคล้ายกล้วยน้ำว้าขาว สำหรับกล้วยตีบเหมาะที่จะรับประทานผลสด เพราะเมื่อนำไปย่าง หรือต้มจะมีรสฝาด กล้วยน้ำว้ามีชื่อพื้นเมืองอื่นเช่น กล้วยน้ำว้าเหลือง กล้วยใต้ หรือ กล้วยอ่อง
คุณค่าทางอาหารและยา
กล้วยน้ำว้าเมื่อเทียบกับกล้วยหอมและกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้าจะให้พลังงานมากที่สุด กล้วยน้ำว้าห่ามและสุกมีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น กินกล้วยน้ำว้าสุก จะช่วยระบายท้องและสามารถรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย โดยกินวันละ ๔-๖ ลูก แบ่งกินกี่ครั้ง ก็ได้ กินกล้วยก่อนแปรงฟันทุกวันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และผิวพรรณดี เห็นผลได้ใน ๑ สัปดาห์ กล้วยน้ำว้าดิบและห่ามมีสารแทนนิน เพคตินมีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษา อาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ โดยกินครั้งละครึ่งผล หรือ ๑ ผล อาการท้องเสียจะทุเลาลง นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า มีผลในการรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย
การแปรรูปกล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้าสามารถแปรรูปได้หลากหลาย อย่างกล้วยน้ำว้าสุกสามารถใช้ทำเป็นขนม ของหวานต่าง ๆ เช่น กล้วยเชื่อม กล้วยบวชชี มีลักษณะสีเหลืองทั้งเปลือก และเนื้อ มีรสหวาน เหนียวนุ่ม นำมารับประทานเป็นผลไม้ และทำขนมหวาน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กล้วยตาก หรือ ข้าวต้มมัด เป็นต้น
ขนมแดกกล้วย
ขนมแดกกล้วยนั้น เป็นการต่อยอดแปรรูปจากกล้วยตาก ซึ่งเป็นขนมที่มีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มลาวครั่ง ต่อมามีการย้ายถิ่นฐานกระจัดกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ จึงนำวัฒนธรรมการทำขนมแดกกล้วยติดตามไปด้วย จนปัจจุบันขนมแดกกล้วยได้เข้าไปอยู่แทบทุกพื้นที่ไม่ได้จำกัดว่าเป็นของชาติพันธุ์ลาวเพียงอย่างเดียว กลุ่มไทยแท้ก็มีการทำขนมแดกกล้วยกันอย่างแพร่หลาย แต่มีกระบวนการทำที่แตกต่างออกไปบ้างตามรสชาติที่ถูกปากของแต่ละพื้นที่
คำว่าแดกในภาษาลาว แปลว่าการทุบ การตำให้ละเอียด การทำขนมแดกกล้วย คือการนำกล้วยตากมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำขนม ซึ่งการทำขนมแดกกล้วยของบ้านวังม้า อำเภอลาดยาว จะมีส่วนประกอบและวิธีการดังต่อไปนี้
ส่วนประกอบสำคัญ
๑. แป้งข้าวเหนียว ๑ กิโลกรัม
๒. น้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลปี๊บ ๑ กิโลกรัม (น้ำตาลโตนดแท้ จะให้ความหอม)
๓. กล้วยตากนำมาตำ หรือปั่นให้ละเอียด ๓๐๐ กรัม
๔. มะพร้าวสำหรับคั้นเป็นกะทิ ๔๐๐ กรัม
๕. แป้งข้าวเหนียวดำ ๑๕๐ กรัม
๖. ใบตองสำหรับใช้ห่อ
ส่วนประกอบสำหรับทำไส้ขนม
๑. เนื้อมะพร้าวน้ำหอมขูด ๕๐๐ กรัม
๒. เกลือป่น ๑ ช้อนชา
วิธีทำ
๑. นำน้ำตาล กะทิ กล้วยตากปั่นละเอียดมาใส่ภาชนะ เคี่ยวไฟอ่อน ๆ ให้ละลาย คอยคนไม่ให้ติดก้นภาชนะ
๒. เทแป้งข้าวเหนียว และแป้งข้าวเหนียวดำลงในภาชนะ
๓. นำน้ำตาลและน้ำกะทิที่เคี่ยวจากข้อ ๑. มาใส่ผสมในแป้ง และค่อย ๆ นวดแป้งให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน คอยสังเกตเนื้อแป้งให้สามารถนำมาปั้นได้ ไม่ให้เหลวหรือแข็งเกินไป
๔. ใช้ผ้าขาวบางคลุมแป้งที่นวดเสร็จแล้ว ทิ้งไว้อย่างน้อย ๔ ชั่วโมง จะทำให้เนื้อขนมเมื่อนำไปนึ่งแล้ว มีความนุ่ม รสชาติอร่อย
ระหว่างพักแป้งให้เตรียม ดังนี้
ไส้ขนม
ใช้กระต่ายขูดมะพร้าว โดยลงน้ำหนักมือเวลาขูดมากกว่าปกติ นำไปคลุกกับเกลือให้มีรสเค็มเล็กน้อย เพื่อตัดกับตัวขนมที่มีรสหวานอยู่แล้ว ถ้าใช้มะพร้าวน้ำหอมจะทำให้ไส้ขนมมีความหอมน่ารับประทานมากขึ้น
เตรียมตัดใบตองสำหรับนำมาห่อขนม
ตัดใบตอง ได้มาแล้วก็ผึ่งแดดให้พอนิ่ม ฉีกแนวกว้าง ประมาณ ๑๒ ซม. แล้วตัดเจียนปลายทั้งสองด้านให้โค้งมนตามรูป โดยส่วนแข็งที่ติดก้านไม่ต้องโค้งมากนัก แต่ส่วนปลายอ่อนให้โค้งๆ เข้าไว้เพื่อเหลือปลายสอดสลัก
๕. นำแป้งที่พักครบเวลาแล้วมาปั้นเป็นก้อนกลม ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ นิ้ว แล้วกดแผ่แป้งเป็นแผ่นกลม นำมะพร้าวขูดที่เป็นไส้ขนมมาวางกลางแผ่นแป้ง จากนั้นหุ้มแป้งปิดไส้ คอยคลึงให้กลมอีกครั้ง
๖. นำก้อนขนมที่ปั้นเสร็จแล้วไปชุบน้ำมันพืชเล็กน้อยก่อนนำไปห่อใบตอง เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อขนมติดใบตองเวลาแกะรับประทาน โดยวิธีการห่อจะห่อให้มียอดแหลม ที่เรียกว่านมสาว
๗. จากนั้นนำไปใส่ในซึ้ง นึ่งไฟแรง ประมาณ ๓๐ นาที นำมารับประทานได้