๑. ประวัติความเป็นมา
บ้านโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร มีสภาพภูมิประเทศที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ คือแม่น้ำน่านเก่า (แม่น้ำพิจิตร) ซึ่งเอื้อต่อการทำการเกษตร ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวน โดยเฉพาะการปลูกส้มโอ ซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่มีมากในชุมชน จึงมีการนำส้มโอมาแปรรูป เป็นอาหารพื้นถิ่นคือ ยำส้มโอ ซึ่งวัตถุดิบ100%มาจากท้องถิ่น บ้านโพธิ์ประทับช้าง ส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร รับประทานแล้วมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย และยังมีการประยุกต์ให้สะดวกกับการรับประทานโดยการนำเอากระทงทอง ซึ่งเป็นอาหารว่างของไทย มาเป็นภาชนะในการรับประทานได้ด้วย โดยใส่ยำส้มโอลงในกระทงทอง แล้วรับประทานพร้อมกัน ทำให้เพิ่มความอร่อยยิ่งขึ้น โดยกระทงทองมีความมัน ยำส้มโอมีความเปรี้ยวอมหวาน เมื่อรับประทานรวมกันจะอร่อยยิ่งขึ้น ทั้งสูตรการทำน้ำพริกเผาในการยำยังเป็นสูตรเฉพาะ สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย สามารถนำผักพื้นบ้านมาเป็นเครื่องเคียง เช่นใบชะพลู ใบชะมวง ฯลฯ ยิ่งเพิ่มประโยชน์มากขึ้นอีก
๒. วัตถุประสงค์
๑) เพื่อจัดเก็บองค์ความรู้เรื่องการทำอาหารพื้นถิ่น “ยำส้มโอกระทงทอง” หมู่ ๓ บ้านโพธิ์ประทับช้าง ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร.
๒) เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และสืบทอดองค์ความรู้เรื่องการทำอาหารพื้นถิ่น
๓. วัสดุอุปกรณ์
๑) ส้มโอท่าข่อย
๒) น้ำพริกเผา
๓) มะพร้าวคั่ว
๔) ถั่วลิสงคั่ว
๕) หอมกระเทียมเจียว
๖) ใบมะกรูดทอด
๗) ใบผักชี
๘) มะนาว
๙) แป้งเอนกประสงค์
๑๐) ไข่แดงของไข่ไก่
๑๑) น้ำมัน
๑๒) น้ำปูนใส
๑๓) น้ำเปล่า
๑๔) เกลือ
๑๕) พิมพ์สำหรับทอดกระทงทอง
๔. กระบวนการ/ขั้นตอน
๑) นำเนื้อส้มโอท่าข่อย น้ำพริกเผา มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสงคั่วหอมกระเทียวเจียว ใบมะกรูดทอด และใบผักชี ผสมคลุกเค้าให้เข้ากัน
๒) บีบน้ำมะนาวลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง และพักยำส้มโอไว้สักครู่หนึ่ง
๓) นำแป้งเอนกประสงค์ ไข่แดงของไข่ไก่ น้ำมัน น้ำปูนใส น้ำเปล่า และเกลือ ผสมให้เข้ากัน
๔) นำพิมพ์สำหรับทอดกระทงทอง จุ่มในน้ำมันให้ร้อน ยกออกมาซับกระดาษซับน้ำมัน
๕) นำพิมพ์ทอดกระทงทอง จุ่มแป้งที่ผสมไว้ และนำลงไปทอด จนกระทงทอง หลุดร่อนออกจากพิมพ์
๖) นำยำส้มโอที่ผสมไว้ มาตักใส่ในกระทงทอง เพื่อรับประทานเป็นคำ
๖. สถานที่ตั้งขององค์ความรู้:
ชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถีบ้านโพธิ์ประทับช้าง หมู่ที่ ๓ บ้านโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
๗. คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้
๑)คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม
๑. ทำให้ทราบถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการองค์ความรู้ เรื่องการทำอาหารพื้นถิ่น “ยำส้มโอกระทงทอง” ในปัจจุบัน ของอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
๒. ทำให้ทราบถึงข้อเสนอแนะแนวทางการจัดการองค์ความรู้ เรื่องการทำอาหารพื้นถิ่น “ยำส้มโอกระทงทอง” ของอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
๒)บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม
๑. การนิยมในสินค้าไทย อุดหนุนสินค้าที่ผลิตจากภูมิปัญญาไทย
๒. การรวมกลุ่มเพื่อร่วมอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านต่างๆ ตามความสมัครใจ ความสามารถของตนเอง นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
๘. ข้อมูลอ้างอิงบุคคล
ชื่อ-นามสกุล นางสมคิด ปานทิม
ตำแหน่ง คณะทำงานชุมชนคุณธรรมวัดโพธิ์ประทับช้าง
หน่วยงาน/องค์กร ชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถีบ้านโพธิ์ประทับช้าง
เลขที่ ๒๐ หมู่ที่ ๓ ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร รหัสไปรษณีย์ ๖๖๑๙๐
เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๑-๐๔๐๖๙๕๔