คำขวัญชุมชน
บางมูลนากแนบน้ำ น่านนที
เมืองน่าอยู่ดูดี เนิ่นแล้ว
บรรยากาศสุนทรีย์ อุ่นอก จริงนอ
บารมีเจ้าพ่อแก้ว ห่อหุ้ม คุ้มหัว
“บางมูลนาก”เป็นอำเภอหนึ่งทางตอนใต้ของจังหวัดพิจิตร และเป็น 1 ใน 3 อำเภอของจังหวัดที่มี ทางรถไฟสายเหนือพาดผ่าน ปัจจุบันที่ว่าการอำเภอบางมูลนากตั้งอยู่บริเวณภูมิบาลในเขตเทศบาลเมืองบางมูลนาก ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ 52 กิโลเมตร มีพื้นที่ปกครองทั้งหมด 354.94 ตารางกิโลเมตร
อำเภอบางมูลนาก ในอดีตเคยเป็น “เมืองภูมิ” มาก่อน โดยมีที่ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ตำบลภูมิ จากคำบอกเล่าได้ความว่า เมืองภูมินี้มีพระธรรมยาเป็นเจ้าเมือง แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นเจ้าเมืองมาตั้งแต่สมัยใด ปัจจุบันมีผู้สร้าง ศาลพระธรรมยา ขึ้นที่วัดหนองเต่า ตำบลภูมิ อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ชาวบ้านมีความศรัทธา เคารพนับถือกันเป็นจำนวมาก หลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเมืองภูมิก็คือ ใบบอกเมืองพิจิตร พ.ศ. 2432 ในสมัยรัชกาลที่ 5 และราชกิจจานุเบกษา เล่ม 10 แผ่นที่ 12 วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2436 ได้ความต้องตรงกันว่าเมืองภูมิ เป็นเมืองขึ้นของเมืองพิจิตรและผู้ว่าราชการเมืองชื่อพระณรงค์เรืองนาช ใน พ.ศ. 2446 เมืองพิจิตรแบ่งเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบางคลาน และอำเภอเมืองภูมิ สันนิษฐานว่าที่ว่าการอำเภอเมืองภูมินี้ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ตำบลภูมิ ต่อมา พ.ศ. 2450 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งใหม่ที่ริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกบริเวณเหนือวัดบางมูลนาก แต่ยังคงใช้ชื่ออำเภอภูมิอย่างเดิม จนกระทั่งวันที่ 29 เมษายน 2460 กระทรวงมหาดไทย จึงได้มีประกาศใช้ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งว่าการอำเภอ ซึ่งที่ว่าอำเภอเมืองภูมิตั้งอยู่ที่ ตำบลบางมูลนาก จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางมูลนาก และมาตั้งถิ่นฐานใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน จนกระทั่งปัจจุบัน
ชื่ออดีต “บางขี้นาก”
ชื่อเรียกอำเภอบางมูลนาก ในอดีตถูกเรียกแตกต่างกันออกไป บ้างก็เรียกว่า"บางขี้นาก"อาจเป็นเพราะเนื่องจากในอดีตมีฝูงนากน้ำจืดมาอาศัยอยู่ในลำน้ำน่านและบริเวณคลองบุษบง (เหนือตลาดบางมูลนาก) เป็นจำนวนมาก เพราะมีปลาชุกชุม พอฝูงนากกินปลาอิ่มก็ถ่ายของเสียทิ้งไว้ทั่วบริเวณส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว ซึ่งในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเขียนชื่อชุมชนนี้ว่า“บ้านมูลนาค”ขณะที่ชาวบ้านเรียกกันว่า"บางขี้นาก""บางมูลนาก"หรือ“บางบุนนาค”อย่างไรก็ดี ชื่อเรียกต่าง ๆ ข้างต้น มีหลักฐานที่กล่าวถึงชื่อเรียกของชุมชนแห่งนี้ในรูปแบบลายลักษณ์อักษรจำนวนมาก อาทิเช่น รายงานการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2441 (ร.ศ. 117) ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 (ร.ศ. 117) กล่าวถึงชื่อบ้านนามเมืองแห่งนี้ ความตอนหนึ่งว่า“...[บาง]มูลนาค ที่นี้ที่จริงเดิมเขาเรียกกันว่า “บางขี้นาค” ทีหลังแก้ชื่อเรียก ในคำหลวงว่า “บางมูลนาค” เดี๋ยวนี้กลายเป็นบางบุญนาคอยู่ตัวกันเพียงนี้ ”(ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2405-2486: 199) อย่างไรก็ดี ภายหลัง พ.ศ. 2477 ดูเหมือนชื่อเรียกและวิธีการสะกด“บางมูลนาก”จะได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากถูกใช้ในหนังสือราชการจนกลายเป็นต้นแบบการเขียนและสะกดชื่ออำเภออย่างเป็นทางการสืบมาจวบจนปัจจุบันนี้
ย่านการค้าตลาดบางมูลนาก
ท้องที่อำเภอบางมูลนากมีตลาดเป็นที่ประชุมชน มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่เป็นปึกแผ่นมีการคมนาคมและการค้าขายเจริญมาก ยังขาดการบำรุงรักษา ทางราชการจึงได้จัดตั้ง"สุขาภิบาลท้องที่บางมูลนาก"ขึ้นเพื่อบำรุงความสุขและความสะดวกของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นสุขาภิบาลท้องที่เพียงแห่งเดียว ของจังหวัดก่อนที่จะยกขึ้นเป็น"เทศบาลเมืองบางมูลนาก”ในปี 2478 และนับว่าเป็นเทศบาลเมืองแห่งแรก ของจังหวัดพิจิตร ซึ่งนับได้ว่าอำเภอบางมูลนาก เป็นอำเภอที่มีความเจริญมากมาตั้งแต่ในอดีต
เพลิงไหม้ตลาด ปี พ.ศ. 2492
เมื่อวันพุธ ขึ้นสี่ค่ำ เดือนสี่ ตรงกับวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2492 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ใน ตลาดบางมูลนาก ต้นเพลิงเกิดจากการหุงต้มอาหาร โดยใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง เมื่อไฟลามถึงโคนฟืน ไม่มีใครดูแล โคนฟืนหล่นจากเตาไหม้พื้นแล้วลามไปจนเกิดไฟไหม้ทั้งตลาด สมัยนั้นเป็นบ้านไม้เกือบทั้งหมด จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ไฟไหม้ลามจนเหลือแค่ห้องแถวทางไปสถานีรถไฟจำนวนไม่กี่ห้อง เพลิงไหม้ตลาดบางมูลนาก ครั้งนี้นับเป็นอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่สุด ทำให้บ้านเรือนในชุมชนบางมูลนากเสียหายนับร้อยหลัง ชาวบ้านไม่มีทีอยู่อาศัยหลายร้อยคน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชุมชนและได้สร้างความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เมือง เห็นได้จากภายหลังจากอัคคีภัยในปี พ.ศ. 2492 เทศบาลเมืองบางมูลนาก ได้จัดสรรที่ดินกันใหม่และได้ออกแบบอาคารไม้สองชั้นขึ้นบนถนนประธานเมืองและถนนข้างเคียง ให้ผู้ที่ประสบภัยได้สร้างอาคารขึ้นใหม่ซึ่งใช้เวลา อีกหลายปีกว่าอาคารเหล่านี้จะก่อสร้างแล้วเสร็จ
บางมูลนากเมืองน่าอยู่
มรดกทางความทรงจำ ของชาวบางมูลนาก โดยมูลนิธิแก้วคุ้มครอง จังหวัดพิจิตร ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและชุมชน เข้ามาพัฒนาพื้นที่ที่เคยเป็นตลาดเก่าแก่ที่เคยรุ่งเรือง แต่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา โดยเมื่อปี 2563 ได้เริ่มบูรณะพัฒนาตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก ให้กลับมามีชีวิต โดยมุ่งเน้นการนำมรดกทางความทรงจำในอดีตของชาวบางมูลนาก เช่น วิถีความเป็นอยู่ ในการดำเนินชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมภูมิปัญญา และเรื่องเล่า เพื่อสร้างเมืองที่มีชีวิต และเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่ และส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนบางมูลนาก กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ราบลุ่ม อันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำน่าน ประกอบกับการขยายเส้นทางรถไฟสายเหนือ ส่งผลให้บางมูลนากมีความเฉพาะตัวทั้งด้านเอกลักษณ์ ด้านคุณลักษณะ และด้านจิตวิญญาณ ซึ่งมีคุณค่าและความหมายต่อผู้คนในชุมชน การเปลี่ยนแปลงของชุมชน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นพัฒนาการ และความเจริญหรือความเสื่อมของชุมชนไปพร้อมกันการรื้อฟื้นและประกอบสร้างความทรงจำร่วมกันให้เกิดเป็นรูปธรรม ในชุมชนชาวบางมูลนาก จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวบางมูลนากตระหนักถึงคุณค่า และบทบาทของชุมชนของตนเอง อีกทั้งมีความปรารถนาที่จะเก็บรักษา อนุรักษ์ เอกลักษณ์วัฒนธรรมความเชื่อ ของชุมชนตนเอง เพื่อให้สามารถเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน ไปพร้อมกับการพัฒนา เศรษฐกิจแบบปัจจุบัน อีกทั้งเพื่อเป็นมรดกให้แก่บุตรหลานชาวบางมูลนาก ได้นำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต การสร้างชุมชนขึ้นใหม่ภายใต้แนวคิดบางมูลนากเมืองน่าอยู่โดยนำความทรงจำในอดีตมาใช้ประโยชน์เพื่อทำให้เรารู้ว่าชุมชน สังคมของเราว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร การเชื่อมโยงข้อมูล แล้วนำเรื่องราวเหล่านั้นมาสร้างเศรษฐกิจใหม่ในแบบของเรา ที่ยังรักษาและอนุรักษ์สังคมในอดีต ทำให้เราตระหนักว่า เราเป็นใคร มาจากไหน มีความเป็นมาอย่างไร และจะอยู่ต่อไปอย่างไรได้อย่างมีความสุข และยั่งยืน สืบต่อไป
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชนฯ ด้านประเพณีและวัฒนธรรม
งานประเพณีเจ้าพ่อแก้ว และงานงิ้วประจำปี อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
เจ้าพ่อแก้ว เป็นเจ้าพ่อที่ชาวอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร และอำเภอใกล้เคียงนับถือ มาเป็นเวลาหลายสิบปี ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคม ของทุกปี จะมีการจัดงานประจำปีทุกปี มีคนในอำเภอและต่างอำเภอมาร่วมงานกันมากมาย ในงานช่วงเช้าจะมีขบวนแห่ เจ้าพ่อแก้วจากศาลเจ้าพ่อ ไปรอบตลาด แล้วไปประดิษฐานที่บริเวณสนามหน้าโรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก“ราษฎร์อุทิศ” เพื่อให้ประชาชนกราบไหว้ เคารพสักการะ และมีงานเฉลิมฉลองรวม 6 วัน 6 คืน ในงานจะมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น งานงิ้วเจ้าพ่อแก้ว (แต้จิ๋ว) ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่ประชาชนให้ความสนใจ และเป็นที่ชื่นชอบในงานประเพณีเจ้าพ่อแก้ว การแสดงลิเกจากคณะลิเกชื่อดังของจังหวัดพิจิตร การแสดง แสง สี เสียง วงดนตรีจากศิลปินชื่อดัง และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ตลอดจน มีการขายสินค้าอุปโภคบริโภครวมทั้งมีการประมูลสิ่งของมงคลต่าง ๆ ที่มีผู้บริจาคให้เจ้าพ่อแก้ว เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ และสถานที่สำคัญ บริเวณตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก
1. พิพิธภัณฑ์ชาวบางมูลนาก
พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เยาวชนมีโอกาสศึกษาประวัติความเป็นมา บ้านเกิดเมืองนอน ประวัติศาสตร์ของชาวบางมูลนาก นำมรดกความทรงจำวิถีชีวิตของชาวบางมูลนาก พร้อมทั้งปรับพื้นที่ตลาดฟื้นอดีตตลาดบางมูลนาก ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สูงวัย เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งนักท่องเที่ยวได้ชื่นชม และศึกษาประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ของชาวบางมูลนากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
“ครอบครัวเค้าสงวนศิลป์” ได้บริจาคได้บริจาคบ้านพร้อมที่ดิน “ร้านเสริมศิลป์” โดยยกให้เป็นสมบัติของชาวบางมูลนาก เพื่อเก็บเป็นความทรงจำ มีชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ชาวบางมูลนาก” ในเวลาต่อมา “ครอบครัวอินทุภูติ” ยกที่ดินด้านข้างให้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาวบางมูลนาก สืบต่อไป
ในวันที่ 8 มีนาคม 2565 ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี พร้อมด้วยคุณหญิงรัชนีวรรณ วัฒนชัย ภรรยา เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชาวบางมูลนาก ณ ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
นอกจากนี้ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ได้มาเยี่ยมเยือน ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 โดยได้กล่าวว่า “บางมูลนาก เมืองน่าอยู่ สวยจริงๆ มันสุดยอดมาก สวยจริงๆ เมืองน่าอยู่ สวยงาม ย้อนยุค หาดูได้ยาก ทำให้ผมนึกถึงความสุขยามเด็กๆ บรรยากาศงดงามร่มเย็นหาดูได้ยากยังเหลืออยู่ที่นี่ ขอให้พวกเราโปรดช่วยกันรักษาสมบัติอันล้ำค่านี้ ให้คงอยู่กับประเทศเรา เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องชาว อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร” พร้อมทั้งวาดรูป “นาก” พร้อมลายเซ็น ประดับตกแต่งในพิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก
2. ศาลเจ้าพ่อแก้ว (หลังเดิม)
ตั้งอยู่ในบริเวณตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก เป็นอาคารไม้ที่ได้รับการบูรณะให้สวยงาม และยังคงรักษาต้นแบบเหมือนในอดีต อยู่ริมแม่น้ำน่าน มีทัศนียภาพที่สวยงามเป็นศาลเจ้าหลังเก่า ที่เคยประดิษฐานองค์เจ้าพ่อแก้ว แต่ชาวบ้านก็ยังมีความผูกพันต่อศาลเจ้าพ่อแก้ว (หลังเดิม) มิเสื่อมคลาย ปัจจุบันได้อัญเชิญองค์เจ้าพ่อแก้ว ไปประดิษฐานที่ ศาลเจ้าพ่อแก้ว (หลังใหม่) แล้ว
3. ศาลเจ้าพ่อแก้ว (หลังใหม่)
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองบางมูลนาก ใกล้ที่ว่าการอำเภอบางมูลนาก เป็นศาลเจ้าหลังใหม่ ที่สร้างแทนหลังเก่า เพื่อประดิษฐานองค์เจ้าพ่อแก้ว ณ ปัจจุบัน ซึ่งทุกปีจะมีงานประเพณีเจ้าพ่อแก้วและงานงิ้วประจำปี อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ช่วงเดือนธันวาคม ของทุกปี ก็จะอันเชิญองค์เจ้าพ่อแก้ว แห่รอบชุมชน เพื่อให้ชาวบางมูลนาก ได้กราบไหว้ และเคารพสักการะ
4. สถานีรถไฟบางมูลนาก
ตั้งอยู่ที่ ตำบลเนินมะกอก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร อยู่ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) มีระยะทางประมาณ 297 กิโลเมตร และเป็นสถานีรถไฟประเภท 1 (แบ่งตามปริมาณรายได้จากการโดยสาร จำนวนประชากรในชุมชน และความสำคัญในการเดินรถไฟ) เป็นที่ตั้งของแขวงเดินรถอยู่บนเส้นทางสายเหนือของการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2451 มีบรรยากาศที่สวยงาม และยังคงอนุรักษ์รูปแบบสิ่งก่อสร้าง อาคาร แบบดั้งเดิม ปัจจุบันสถานีรถไฟบางมูลนาก ยังคงได้รับความนิยมในการคมนาคมขนส่ง จากทั้งชาวบางมูลนากและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
5. ตลาดต้องชม ถนนฅนเดินบางขี้นาค
ตั้งอยู่ที่ ตำบลเนินมะกอก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ติดกับโรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก“ราษฎร์อุทิศ” ตลาดต้องชม ถนนคนเดินบางขี้นาค ได้ร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยภายในตลาดมีกิจกรรม การจำหน่ายสินค้า การแสดงศิลปะ และวัฒนธรรมของชุมชน พร้อมรับชมกิจกรรมรำวงย้อนยุคที่คนในท้องถิ่นได้มาทำกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำ ทั้งนี้ตลาดต้องชม ถนนคนเดินบางขี้นาค จะมีเฉพาะทุกเย็นวันเสาร์ บริเวณถนนหลังที่ว่าการอำเภอบางมูลนาก โดยจะเริ่มเปิดขายของตั้งแต่ เวลา 15.00 เป็นไป
การเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวภายในอำเภอบางมูลนาก
1. ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตร สิรินธร
ตั้งอยู่ที่ บ้านสะพานยาว หมู่ที่ 11 ตำบลเนินมะกอก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่ ประมาณ 91 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา ซึ่งนางจรัสศรี จินดาสงวน ได้ทูลเกล้าถวายให้แก่มูลนิธิศูนย์ชัยพัฒนาในราชูปถัมภ์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับพระราชานุญาต มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ด้านเกษตรกรรมตามแนวทางทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง รัชกาลที่ 9 และด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัย ลักษณะการดำเนินงานของศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตร สิรินธร แบ่งออกเป็น 13 กิจกรรม ได้แก่ จุดการเรียนรู้การปลูกผัก การเพราะเห็ด การปลูกพืชสมุนไพร การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก การเลี้ยงกบ การปลูกสวนผักสมุนไพรพื้นบ้าน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การเพราะพันธุ์ปลานิล การเพาะพันธุ์ปลาสวยงามและปลากัด การเลี้ยงโคนม แรปลูกพืชพันธุ์ไม้ผล และกิจกรรมระบบชลประทานภายในศูนย์ฯ
2. วัดสุขุมาราม
ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 11 ตำบลวังตะกู อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ดิน 63 ไร่ 23 ตารางวา เดิมมีชื่อวัดว่า “วัดใหม่วังตะกู” แต่หลวงพ่อเขียนพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในจังหวัดพิจิตร เรียกว่า “วัดสลักแกง” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสุขุมาราม” เพื่อให้คล้องจองกับนามสกุลของโยมกำจัด สุขุมานนท์ เพราะเป็นผู้ถวายที่ดินสร้างวัด และได้รับอนุญาตสร้างวัด เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2499 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2516” มีจุดเด่น คือ พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์สีทอง มีขนาด ยาว 55 เมตร โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย รวมถึงมีวิหารที่สวยงาม ปัจจุบันมี หลวงพ่อสุรินทร์ เป็นเจ้าอาวาสวัดสุขุมาราม สำหรับพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ จัดสร้างขึ้นโดย ใช้งบประมาณเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 95,000,000 จากความศรัทธาของประชาชน เปิดบริการให้เข้าชมเพื่อสักการะขอพรได้ทุกวัน
3. วัดบางมูลนาก
ตั้งอยู่ที่ 212 ตำบลบางมูลนาก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร วัดบางมูลนาก เริ่มก่อตั้งเป็นวัดตั้งแต่เมื่อสมัยกรุงธนบุรีตอนปลาย ประมาณ พ.ศ.2321 วัดบางมูลนาก มีหลักฐานปรากฏอยู่ในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่มที่ 6 ของกรมการศาสนา ได้บันทึกไว้ว่า วัดบางมูลนาก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อไร ครั้งที่ 2 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2506 และได้ทำพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๘ ภายในวัด มีพระพุทธรูปที่สำคัญ 2 องค์ คือ “พระพุทธชินวร” เป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ปางมารวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อพระพุทธชินวร” มีผู้ถวายนามไว้มีชื่อเต็มว่า “พระพุทธชินวร มุนินทรบพิตร อนันตฤทธิประภาต” และ “พระพุทธมงคล” เป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยคอนกรีต เสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ.2540
4. วัดห้วยเขน
ตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยเขน อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร อยู่ห่างจากอำเภอประมาณ 8 กิโลเมตร ตามถนนสายบางมูลนาก-วังงิ้ว ภายในวัดมีโบสถ์เก่าแก่ที่มีภาพเขียนสีจิตรกรรมฝาผนังโบราณ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ รามเกียรติ์และพระมาลัย โดยด้านหลังองค์พระประธานเป็นเรื่องพระเวสสันดรทั้งหมด ส่วนเรื่องพระพุทธประวัติจะอยู่ตอนบนเหนือระดับหน้าต่าง และทศชาติชาดกจะอยู่ตอนล่าง เริ่มตั้งแต่ชาติแรกจนถึงชาติสุดท้าย ส่วนมุม 4 ด้าน ภายในโบสถ์จะเป็นภาพที่เกี่ยวกับพระมาลัย คาดว่าเขียนราว ๆ ปี พ.ศ. 2456 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 อายุประมาณ 100 กว่าปี ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้เรียบร้อยแล้ว
การเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัดพิจิตร
ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก มีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองพิจิตรประมาณ 51 กิโลเมตร สามารถเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญภายในจังหวัดพิจิตร ดังนี้
1. วัดท่าหลวง (พระอารามหลวง)
ตั้งอยู่ที่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร กราบนมัสการองค์พระพุทธรูป ประจำจังหวัดพิจิตร “หลวงพ่อเพชร” (พระพุทธรูปประจำจังหวัดพิจิตร) และขอพรหลวงพ่อพัฒน์ (พัด) มีระยะทางประมาณ 51 กิโลเมตร
2.บึงสีไฟ
ตั้งอยู่ที่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่อันดับสาม ของประเทศมีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ บึงสีไฟถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งแรกของจังหวัดพิจิตร มีความสวยงามและเป็นธรรมชาติจึงกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของจังหวัดพิจิตร ระยะทางประมาณ 53 กิโลเมตร
3.อุทยานเมืองเก่าศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร และวัดมหาธาตุ
โบราณสถานคู่เมืองพิจิตร ตั้งอยู่ที่ ตำบลโรงช้าง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร สร้างในสมัยพระยาโคตรบอง ประมาณปี พ.ศ.1601 มีลักษณะเป็นเมืองโบราณ ประกอบไปด้วย กำแพงเมือง คูเมือง เจดีย์เก่า มีสวนรุกขชาติกาญจนกุมาร ซึ่งกรมป่าไม้ได้ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2520 พื้นที่ภายในมีความร่มรื่น เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มีระยะทางประมาณ 54 กิโลเมตร
4.วัดใหม่ปลายห้วย
ตั้งอยู่ที่ ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ภายในมีศาลาปฏิบัติธรรม เจดีย์สถาน ลานธรรมคติธรรม นรก สวรรค์ สุภาษิตไทย และหลวงปู่เทพโลกอุดร พระยืน พระนั่ง พระนอน ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนล่าง มีระยะทางประมาณ 61 กิโลเมตร
5.ชุมชนคุณธรรมบ้านดงกลาง (วัดดงกลาง)
ตั้งอยู่ที่ วัดดงกลาง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร หนึ่งในชุมชนต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วย พลังสามัคคี “บวร On Tour” ทุกเช้าวันอาทิตย์ มีกิจกรรมตักบาตรทางน้ำ สะท้อนวิถีดั้งเดิมหาชมได้ยาก ไหว้พระ ปั่นจักรยานเที่ยวชมวิถีธรรมชาติบริเวณริมคลองข้าวตอก มีระยะทางประมาณ ๔5 กิโลเมตร
6.วัดโพธิ์ประทับช้าง
ตั้งอยู่ที่ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เยือนถิ่นประสูติพระเจ้าเสือ โบราณสถานเก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2242-2244 ในสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (ขุนหลวงสรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือ) พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปหลวงพ่อโตหรือหลวงพ่อยิ้ม เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านเคารพนับถือมากในจังหวัดพิจิตร มีระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร
7.วัดบางคลาน
ตั้งอยู่ที่ อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ภายในมีพิพิธภัณฑ์นครไชยบวร เป็นพิพิธภัณฑ์รูปมณฑป 2 ชั้นชั้นบนประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริงของ หลวงพ่อเงิน เกจิอาจารย์ที่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศรู้จักและเคารพนับถือ ชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์นครไชรบวร เป็นที่แสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่ทางวัดได้สะสมไว้ ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร
8.วัดท้ายน้ำ
ตั้งอยู่ที่ อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร สักการะหลวงพ่อเงินองค์ใหญ่หน้าตักกว้างประมาณ 10 เมตร ที่ขึ้นชื่อว่าสวยงามและได้สัดส่วนที่สุด วิหารหลวงพ่อเงินและพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของเก่าที่หลวงพ่อเงินเคยใช้ รวมทั้งของเก่าอื่นๆ นับหมื่นชิ้น พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อเงิน อาคารไม้สักโบราณ มีระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร
การเดินทาง
การเดินทางเข้าสู่ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร สามารถเดินทางได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้รถยนต์ส่วนตัว
- จากกรุงเทพมหานคร โดยใช้ทางหลวง สายเอเชีย 1 (AH32) แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ ทางหลวงหมายเลข 117ที่จังหวัดนครสวรรค์ เลี้ยวขวาที่สี่แยกโพธิ์ไทรงาม จังหวัดพิจิตร เข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 1076 รวมระยะทางประมาณ 323 กิโลเมตร
- จากอำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 113 (พิจิตร – ตะพานหิน) ถึงแยกศิริวัฒน์อำเภอตะพานหิน เข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 1374 (ตะพานหิน - บางมูลนาก) เลี้ยวขวาที่สามแยกบางมูลนาก เข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 1188 รวมระยะทางประมาณ 51 กิโลเมตร
รถไฟ
- จากสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพมหานครสู่สถานีรถไฟบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร มีขบวนรถไฟสายเหนือ กรุงเทพ - เชียงใหม่ (บางมูลนาก จังหวัดพิจิตร) ออกเดินทาง ตั้งแต่เวลา 07.00 น. – 22.30 น. โดยมีราคาตั้งแต่ 228 – 608 บาท ตามประเภทและระดับของขบวนรถไฟ ใช้เวลาเดินทางเฉลี่ยประมาณ 5 – 7 ชั่วโมง
- จากสถานีรถไฟพิจิตร อำเภอเมืองพิจิตร สู่สถานีรถไฟบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร มีขบวนรถไฟสายเหนือ เชียงใหม่ - กรุงเทพ (บางมูลนาก จังหวัดพิจิตร) ออกเดินทาง ตั้งแต่เวลา 07.00 น. – 21.00 น. โดยมีราคาตั้งแต่ 20 - 60 บาท ตามประเภทและระดับของขบวนรถไฟ ใช้เวลาเดินทางเฉลี่ยประมาณ 1 ชั่วโมง
ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม
คณะกรรมการแก้วคุ้มครอง อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ร่วมกับชุมชนตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก คัดสรรร้านอาหารดั้งเดิมของชุมชนฯ รสชาติอร่อยถูกปาก ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาท่องเที่ยวยังชุมชนฯ แห่งนี้ โดยได้มอบ “น้องนาก การันตีความอร่อย” เพื่อเป็นการการันตีความอร่อย ดังนี้
1.โง้ว เซ็ก บี่ โกยซีหมี่โบราณร้านเก่าแก่ ดั้งเดิม ของชุมชน คัดสรรวัตถุดิบจากท้องถิ่นบางมูลนาก เส้นหมี่เหลือง ไก่เน้นส่วนอก ไม่ติดหนัง หน่อไม้สด เต้าหู้ปลา ฟองเต้าหู้ กุ้ง ปลาหมึก แป้งมัน ต่อด้วยการทำน้ำราด แล้วตักราดบนเส้นหมี่กรอบ ใส่พริกไทย โรยผักชี แนะนำโดย “น้องนาก การันตีความอร่อย”
2.แป๊ะโค้ว เย็นตาโฟเจ้าเก่าและดั้งเดิม ขายมายาวนานเกือบ 60 ปี ยังคงความอร่อยไม่เปลี่ยนแปลง น้ำซอสมะเขือเทศที่ใส่ในเย็นตาโฟก็เป็นสูตรเฉพาะของทางร้าน แนะนำโดย “น้องนาก การันตีความอร่อย”
3.เจ๊ลี้ ซาลาเปา ขนมจีบ หมั่นโถซาลาเปา หมั่นโถ ทำด้วยมือทุกขั้นตอน เน้นความอร่อยแบบดั้งเดิม คัดสสรคุณภาพของวัตถุดิบ และความสะอาด แนะนำโดย “น้องนาก การันตีความอร่อย”
4.FOR–ESTCAFE' ร้านอาหารสไตล์วินเทจร้านอาหาร สเต็ก กาแฟ ภายในร้านของมีเก่าแก่ที่สะสมนับไม่ถ้วน บรรยากาศดี มีต้นไม้ปกคลุมเขียวชอุ่มร่มรื่น แนะนำโดย “น้องนาก การันตีความอร่อย”
5. ไอติม ตาปอยร้านเก่าแก่และดั้งเดิม ขายมานานกว่า 50 ปี จากรุ่นสู่รุ่น ยังคงความอร่อย มีกลิ่นหอม มีความสดของวัตถุดิบ ใช้กระบวนการผลิตไอศกรีมสูตรโบราณ แนะนำโดย “น้องนาก การันตีความอร่อย”
สื่อวิดีทัศน์ ส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชนถนนสายวัฒนธรรมบางขี้นาก จังหวัดพิจิตร ตอนที่ ๒
EP 1 https://www.youtube.com/watch?v=ZsXpEC2vmdI
EP2 https://www.youtube.com/watch?v=Awk_2HD9M9Y
บรรณานุกรม
- นายอภิสิทธิ์ ประวัติเมือง / ชุมชนบางมูลนาก ประวัติและความเป็นมา / สืบค้น สิงหาคม 2565
จากชุมชนบางมูลนาก ประวัติและความเป็นมา.pdf,สถานีรถไฟกับชาวบางมูลนาก.pdf
- บางมูลนาก เมืองน่าอยู่ , พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก / BANG MUN NAK LIVING MUSEUM
/ สืบค้น สิงหาคม 2565/ จากhttps://www.bangmunnak.com/
- มูลนิธิแก้วคุ้มครอง เจ้าพ่อแก้ว อำเภอบางมูลนาก / สืบค้น สิงหาคม 2565
จากhttps://www.facebook.com/keawkhumkrongbmn/?_rdc=2&_rdr