ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 19' 33.5374"
16.3259826
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 30' 47.4599"
100.5131833
เลขที่ : 197540
ผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ (Ecoprinting by Nongplong)
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 30 กันยายน 2565
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 30 กันยายน 2565
จังหวัด : พิจิตร
1 3206
รายละเอียด

๑.ประวัติความเป็นมา

ผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ(Ecoprinting) ดั้งเดิมเป็นองค์ความรู้ตะวันตก เริ่มพัฒนาจากประเทศออสเตรเลียเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์โลก ไม่ใช้สารเคมี เมื่อนำใบไม้หลากชนิดวางลงบนตัวเนื้อผ้า ผ่านกระบวนการทางธรรมชาติ ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ผ้าหลากชนิดไม่ซ้ำกัน เสมือนเป็นหนึ่งเดียวของผลิตภัณฑ์ ในกระบวนการผลิตในแต่ละครั้ง เนื่องจากธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามฤดูกาลและสภาวะแวดล้อม ส่งผลให้สีสันในใบไม้แต่ละใบทรงคุณค่าและสวยงามตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ เชื่อมโยงกับวิถีธรรมชาติ ง่ายต่อการบำรุงรักษา ประหยัดพลังงานและต้นทุนในการดูแล ผลิตภัณฑ์ผ้าสีธรรมชาติจึงเป็นสัญลักษณ์ของการรักษาความสมดุลของธรรมชาติและยังสร้างศิลปะแฟชั่นที่ให้ทั้งคุณค่าและราคา ผลผลิตของผ้าพิมพ์สีธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี ใช้สารจากธรรมชาติที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ขี้เถ้า เกลือ สารส้ม ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ สีใบไม้ดอกไม้บนผืนผ้าสวยงามตามธรรมชาติ และมีเอกลักษณ์ ผ้าพิมพ์ สีธรรมชาติเป็นงานศิลปะที่สวยงามทำจากสีของใบไม้และดอกไม้ที่ออกแบบลายต่างๆ บนผืนผ้าธรรมชาติ สามารถทำเพื่อใช้ส่วนตัว เป็นอาชีพหลักของคนรุ่นใหม่ หรืออาชีพเสริมหลังเกษียณอายุได้เป็นอย่างดี รูปทรงของใบไม้ดอกไม้ถ่ายทอดความเป็นลวดลายและให้สีสันที่สวยงาม

กระบวนการผลิตผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ ใช้องค์ความรู้ ทั้งศาสตร์และศิลปะ ผู้สนใจในการทำ ผ้าสีจากธรรมชาติต้องสนใจศึกษาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เบื้องต้นจะทำให้เข้าใจเกี่ยวกับสารที่เป็นสื่อ ในการจับสีหรือที่เรียกกันว่า โมเดิร์น (Mordant) และสารช่วยเปลี่ยนสีหรือโมดิไฟเออร์ (Modofier) เพื่อช่วย ในการทำให้สีใบไม้ติดทนนาน ตลอดจนความเป็นกรดและด่างที่มีผลต่อสีธรรมชาติที่พิมพ์ลงบนผืนผ้า ผ้าแต่ละชนิดจะรองรับสีจากธรรมชาติที่แตกต่างกัน แม้ว่าสีนั้นจะมาจากใบไม้ชนิดพันธุ์เดียวกันก็ตาม

งานวิจัยจะอธิบายความลับภายในใบไม้และดอกไม้ที่เราเก็บมาใช้ สีเขียวของใบไม้ที่มองเห็นด้วยตา เมื่อนำมาทดลองศึกษาผ่านกระบวนการวิจัยและจะพบว่า ใบไม้แต่ละใบซ่อนอาหารไว้มากมาย ดังนั้นใบตะขบสีเขียวอ่อนเมื่อนำมาพิมพ์ลงบนผืนผ้าจะได้สีเหลืองส้มสวยงามมาก ใบสักจะให้สีม่วงชมพู ใบสักทองจะสวยงามกว่าใบสักธรรมดาทั่วไป มะฮอกกานีสีเขียวสดใส แต่สีที่ออกมาจากกระบวนการพิมพ์เป็นสีน้ำตาลเข้มสวยงาม เป็นต้น ใบไม้หรือเปลือกไม้แต่ละชนิดมีสารบางอย่างที่ทำให้เกิดสีที่แตกต่างกันดังกล่าวมา ไม้ฝางนอกจากเป็นสมุนไพรบำรุงเลือดและหัวใจยังให้สีจากน้ำย้อมฝาง ทำให้สีผ้าที่ย้อมสดใสมากออกสีเหลืองเข้มสร้างเสน่ห์และคุณค่าบนผืนผ้า ใบยูคาลิปตัสคุณค่าแห่งแทนนิน เนื่องจากใบยูคาลิปตัสมีสัดส่วนแทนนินสูง ซึ่งเป็นที่เก็บอาหารและสะสมเม็ดสีเป็นจำนวนมาก จะให้สีที่เข้มข้น หลากหลายตามสายพันธุ์และให้โครงสร้างชัดเจนบนผืนผ้าธรรมชาติอย่างคาดไม่ถึง การเข้าใจหลักธรรมชาติ จึงเป็นหัวใจสำคัญของผู้ทำผ้าพิมพ์ สีธรรมชาติ งานวิจัยคือสะพานเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์สู่งานศิลปะที่งดงามตามธรรมชาติ หลังจากวางใบไม้ทำการม้วนมัดให้แน่นเตรียมนำไปนึ่งหรือต้ม งานพิมพ์ผ้าจากใบไม้สด ดอกไม้สด ที่ฝากรอย อันสวยงามบนผืนผ้า

ผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ (Ecoprinting by Nongplong)ริเริ่มจากนางบุษรินทร์ แตงเส็ง ปัจจุบันทำงานอยู่ที่เทศบาลตำบลหนองปล้อง ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ ในการส่งเสริมการสร้างอาชีพการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นมา ได้มีการจัดกิจกรรมอบรมสอนอาชีพทำเรื่องเกี่ยวกับผ้ามัดย้อม ต่อมานางบุษรินทร์ แตงเส็ง ได้ไปเห็นคลิปการทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ (Ecoprinting)การนำใบไม้มาพิมพ์ลายบนผ้าของ ผศ.ดร.จันทร์เพ็ญ อินทรประเสริฐ ด้วยความชอบและความสนใจ เลยได้ติดตามผลงานของท่าน ดูคลิปทดลองทำตามก็ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากสี ไม่ติดผ้า ต่อมาด้วยความใคร่รู้จึงลงคอร์สเรียนออนไลน์ คอร์สละ ๓,๐๐๐ บาท เพิ่มเติม การย้อมสีจากใบไม้เริ่มให้สีที่ติดผ้ามากขึ้น แต่ก็ยังให้สีที่ไม่สวยงาม และชัดเจนนัก เนื่องจากสูตรที่ใช้เรียนจะเป็นสูตรแบบค่ากลาง ด้วยความชื่นชอบและความเพียรพยายามในการฝึกฝนทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ (Ecoprinting)ตนเองจึงทดลอง ผิดลองถูก คิดต่อยอดด้วยตนเองเรื่อยมา โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ รวมระยะเวลา ๑ ปี หมดผ้าไปหลายสิบเมตร ทดลองใบไม้หลากหลายชนิด จนรู้ว่าเม็ดสีของใบไม้แต่ละใบ จะให้สีไม่เหมือนกัน ตัวที่ดึงสี คือสารส้ม ใบที่ให้สีที่ดีที่สุด คือ ใบเพกา สัก ระหุง (ใบไม้และดอกไม้ จะมีประเภททั้งให้สี และไม่ให้สี ใบแก่ ใบอ่อน ก็จะให้สีแตกต่างกัน ใบอ่อนจะให้สีดีกว่า แต่ใบแก่จะให้ลายชัดเจนกว่า กรณีที่ไม่ให้สี เราจะใช้สำหรับเล่นลายของใบไม้หรือดอกไม้แทน แล้วย้อมสีผ้าแทน ) และเนื่องจากพ่อแม่ของตนเองเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ ทำไร่ทำสวน จึงได้มีโอกาสทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ (Ecoprinting)จากการเก็บใบไม้ดอกไม้จากที่บ้านมา ทดลองทำ เกิดความสุขที่ได้ทำ พ่อแม่ก็มีส่วนร่วมเก็บใบไม้มาให้ลูกทดลอง เห็นลูกสนใจต้นไม้ของพ่อแม่ ที่ได้ปลูกไว้ท่านก็เกิดความสุข และได้มีกิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว และเกิดมูลค่า ใบไม้ก็ไม่ต้องลงทุน เนื่องจากที่บ้านปลูกต้นสักเยอะมาก ใบไม้ที่มีอยู่ก็สามารถเก็บใบไม้ขายได้ โดยใบสักมีราคากิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท ซึ่งกลุ่มลูกค้าจะเป็นคนกรุงเทพฯ ที่นำใบไม้ไปทำผลงานงานเหมือนกัน เนื่องจากที่กรุงเทพฯ หาใบไม้ไม่ได้

การทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ (Ecoprinting)ผ้าที่ใช้เป็นผ้าเส้นใยธรรมชาติสามารถใช้ได้ทั้งหมด เช่น ผ้าอินโด ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าป่าน ผ้าลินิน ขึ้นอยู่กับตลาด ถ้าตลาดบน ก็จะเป็นผ้าไหม จะเพิ่มมูลค่าสูง ขึ้นมาก จนถึงราคาหลักหมื่น ในส่วนความทนทานของสี จะจืดจางลงกาลเวลา วิธีการดูแลรักษา คือการใช้นำยาซักผ้าเด็ก ตากในร่ม นอกจากสีของใบไม้แล้ว คนทำต้องมีศิลปะในการจัดวางออกแบบการวางใบไม้ดอกไม้ เพื่อให้เกิดลวดลายบนผืนผ้าด้วย และต้องคำนึงถึงประโยชน์ของการนำไปแปรรูปด้วย เช่น ถ้าจะนำไปทำผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็กๆ เราก็ต้องออกแบบการจัดวางใบไม้ และใช้ใบไม้ขนาดเล็ก เพื่อที่เวลาทำเสร็จแล้ว จะสามารถตัดชิ้นผ้าเพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อย่างสวยงาม

เมื่อนางบุษรินทร์ แตงเส็ง มั่นใจในสูตรวิธีการที่คงที่แล้ว ก็ได้มีการขยายผล สอนให้กับชาวบ้าน แต่ยังขาดทุนงบประมาณในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ และชาวบ้านเองก็ไม่มีทุนมาเรียน เพราะโดยปกติ การเรียนทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติที่เขาเปิดสอนกัน ราคา ๑,๘๐๐ บาท ต่อคอร์ด ๆ ละ ๕ ชั่วโมง จึงได้มีแนวคิดจัดหาทุนโดยได้ของบประมาณจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิจิตร ครั้งแรกในการสาธิต ได้สาธิตให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยตนเองมีพื้นฐานเป็นคนตัดเย็บเสื้อผ้าเอง จึงได้ต่อยอดนำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ (Ecoprinting by Nongplong)ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดำเนินการจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ และจดแจ้งเป็นกลุ่มอาชีพ กับหน่วยงานพัฒนาชุมชนอำเภอให้กับชาวบ้าน ให้เกิดรายได้ในชุมชน ผลิตผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ (Ecoprinting by Nongplong)และแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น หมวก เสื้อ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นงาน ราคาอยู่ประมาณ ๒๕๐ – ๓๕๐ บาท ทั้งนี้ ในแผนของปี 2566 ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐศูนย์ส่งเสริมอาชีพภาคเหนือ จังหวัดลำปาง สนับสนุนงบประมาณในการต่อยอดผลงาน และทางกลุ่มจะคิดค้นสร้างผลงานที่สะท้อน อัตลักษณ์ของชุมชน ต่อไป

๒. วัตถุประสงค

๑) เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ ให้แก่ประชาชนทั้งในชุมชน และนอกชุมชน

๒) เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพ และการสร้างรายได้ให้กับประชาชน

๓) เพื่อส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์สีจากธรรมชาติด้วยภูมิปัญญา นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

๓. วัสดุ/อุปกรณ์

๑) ผ้าที่ทำจากธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม

๒) เชือกสำหรับมัด

๓) ใบไม้และดอกไม้สด

๔) สารช่วยติดสี โมเดิร์น (Mordant)ประกอบด้ว

- น้ำ ๕ ลิตร

- โซดาแอซ ๑๖๗ กรัม

- สารส้มป่น ๕๐๐ กรัม

-น้ำส้มสายชูกลั่น ๕%

๕) อุปกรณ์การนึ่ง

๖) ไม้ หรือ ท่อพีวีซี สำหรับม้วน

๗) แผ่นพลาสติกใส

๔. กระบวนการ/ขั้นตอน (ทำอย่างไร)

วิธีผสมสารช่วยติดสีโมเดิร์น (Mordant)

๑) นำน้ำ ๕ ลิตร , โซดาแอซ ๑๖๗ กรัม และสารส้มป่น ๕๐๐ กรัม นำมาผสมกันละลายให้เข้ากัน บนเตาไฟ เปิดไฟอ่อนๆ เมื่อทุกอย่างละลายจะเป็นสีขาว

๒) รอให้อุ่นจึงเติมน้ำส้มสายชูกลั่น ๕% จำนวน ๒๕๐ กรัม แล้วนำผ้าแช่ไว้ข้ามคืน จึงนำผ้ามาพิมพ์ หากใช้ผ้าที่แช่ไม่หมด สามารถแช่ต่อได้ หรือ นำมาตากแดดเก็บไว้ เมื่อจะพิมพ์อีกครั้งค่อยนำผ้ามาชุบน้ำธรรมดา แล้วนำมาพิมพ์ก็ได้เช่นกัน

ขั้นตอนการทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ (Ecoprinting)

๑) นำผ้าซักสะอาดแช่สารช่วยติดสี โมเดิร์น (Mordant) ทิ้งไว้อย่างน้อย ๓ ชั่วโมง

๒) วางผ้าชุบน้ำบิดหมาด

๓) วางใบไม้ดอกไม้ตามต้องการบนพื้นผิวผ้า หมายเหตุ : ด้านหลังใบให้ภาพพิมพ์ที่คมชัดที่สุด

๔) วางผ้าชิ้นที่สอง (หรืออีกครึ่งหนึ่ง) ทับผ้าชิ้นแรก

๕) นำแท่งไม้กลมๆ มาม้วนผ้าที่พับให้แน่นและสม่ำเสมอ

๖) มัดด้วยเชือกทั้งหมดไม่แน่นเกินไปและไม่หลวมเกินไป

๗) เติมน้ำในหม้อให้เพียงพอเพื่อทำการนึ่ง

๘) นำแท่งสำหรับพิมพ์ลงหม้อ เลือกการนึ่งแล้วต้มน้ำให้เดือดช้าๆ สกัดสีของใบโดยนึ่งเวลาสองชั่วโมง

๙) แกะชมผลงานได้ทันที โดยเปิดห่อแล้วเอาใบออก ตากแห้ง ๓ วัน ล้างในน้ำอุ่นด้วยสบู่อ่อนๆ หรือนำยาปรับผ้านุ่มได้

๕. คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้

๑)คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

- เป็นการเผยแพร่ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ ให้แก่ประชาชนทั้งในและนอกชุมชน ทำให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด ทำให้เกิดการสร้างอาชีพและการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

- การทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ ก็เหมือนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะสร้างความสุข และคุณค่าทางจิตใจให้แก่ผู้ทำแล้วนั้น การสร้างสรรค์ผลงานนี้ยังก่อให้เกิดการสร้างรายได้ ทางเศรษฐกิจและมูลค่าทางสังคมอีกด้วย

๒)บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

- มีการสอน และเผยแพร่ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ ให้แก่ประชาชนทั้งในชุมชน และชุมชนใกล้เคียงอยู่เสมอ ซึ่งในชุมชนเองมีจุดแข็งคือ ภายในชุมชนมีกลุ่มที่สามารถทอผ้า และตัดเย็บผ้าได้ จึงทำให้ชุมชนสามารถนำภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ มาพัฒนาต่อยอดกับทักษะด้านการทอผ้า และตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อนำมาพัฒนาชิ้นงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างเป็นรายได้ให้แก่ชุมชนได้

๖. การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม (ถ้ามี)

- ได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากเทศบาลตำบลหนองปล้อง อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร , สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิจิตร และในแผนของปีงบประมาณ พ.ศ ๒๕๖๖ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการต่อยอดจากศูนย์ส่งเสริมอาชีพภาคเหนือ จังหวัดลำปาง

๗. ข้อมูลอ้างอิงบุคคล

ชื่อ-นามสกุล......นางบุษรินทร์ แตงเส็ง..........

ตำแหน่ง...ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลหนองปล้อง...

หน่วยงาน/องค์กร....เทศบาลตำบลหนองปล้อง อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร...

เลขที่....38/2......หมู่ที่....4.....ตำบลหนองพระ..... อำเภอวังทรายพูน......จังหวัดพิจิตร....รหัสไปรษณีย์....66180...เบอร์โทรศัพท์...081-0367795...........

E-mail.rarin_rarin@hotmail.com............

สถานที่ตั้ง
เทศบาลตำบลหนองปล้อง
เลขที่ 38/2 หมู่ที่/หมู่บ้าน 4 ซอย - ถนน -
ตำบล หนองปล้อง อำเภอ วังทรายพูน จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร
บุคคลอ้างอิง นางสาวชมพูนุช นาคไพรัช อีเมล์ culture.phichit01@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน ศาลากลางจังหวัดพิจิตร (หลังเดิม) ซอย - ถนน บุษบา
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66000
โทรศัพท์ ุุ0 5661 2675 โทรสาร ุุ0 5661 2675
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/phichit
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่