หมู่บ้านวัฒนธรรมไทยทรงดำ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 บ้านลำตะคร้อ ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน
จังหวัดเพชรบูรณ์ เดิมทีแล้วขาวไทยทรงดำหรือไตดำ (หรือที่คนสยามเรียกเขาว่า ไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง)
เป็นชาติพันธุ์ตระกูลไทหรือไต ที่เคยมีดินแดนบ้านเมืองเป็นของตัวเอง ในบริเวณที่เคยถูกเรียกว่า แคว้นสิบสองจุไท ที่มีเมืองสำคัญคือ เมืองลอและเมืองแถน หรือเดียนเบียนฟู ที่อยู่ทางตอนเหนือของเวียดนามติดกับลาวในปัจจุบัน
ไททรงดำหรือไตดำ มีอัตลักษณ์ที่งดงามหลายอย่างโดยเฉพาะเครื่องแต่งกายที่ใช้แต่สีดำ ผู้ชายนุ่งโซ่ง
ผู้หญิงนุ่งซิ่นลายแตงโม มีลวดลายหัตถกรรมลายดอกผ้าปะสีสันสดใสประดับชุด และมีวัฒนธรรมประเพณี
อาหาร และภาษาเป็นของตัวเอง โดยจะนับถือผีแถนเป็นใหญ่สูงสุด และนับถือผีบรรพบุรุษ ไตดำได้อพยพ
และได้ถูกกวาดต้อนกระจายไปอยู่หลายพื้นที่ รวมทั้งถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ให้มาอยู่ที่เขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และก็ยังถูกกวาดต้อนลงมาอีกหลายครั้ง อพยพย้ายถิ่นฐานลงมาจากจังหวัดเพชรบุรี
มาที่อยู่จังหวัดสุพรรณบุรี และกระจายย้ายมาอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสรรค์ โดยสืบสาวราวเรื่องประวัติ
พบหลักฐานจากผู้เฒ่าผู้แก่ ปู่ย่า ตายาย ได้เดินทางจับจองหาถิ่นฐานบ้านเรือนตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2498 - 2500 ได้มาเลือกตั้งบ้านเรือนบริเวณหมู่บ้านยึดริมแม่น้ำป่าสัก บ้านลำตะคร้อ ที่มีลักษณภูมิประเทศ ดินดำ
น้ำชุ่ม สามารถทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ได้เหมาะสม ซึ่งในระยะแรกรวมตัวเป็นกลุ่มไทยทรงดำ (ไตดำ)
ที่นี่ มีครอบครัวตระกูลชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ได้แก่ สุริวงศ์ สร้อยทอง จันทร์สวยดี คาวีทอง ตาลเพชร แก้วเพชร
มีดา เลียบใจดี อั้วคนซื่อ และอื่น ๆ ซึ่งก็ได้อาศัยดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันมา ใครมีก็แบ่งปัน ช่วยเหลือในยามทุกข์ยาก รวมถึงการมีน้ำใจให้ความร่วมมือทุกด้านแก่ผู้ใหญ่บ้านลำตะคร้อ กำนันตำบลกันจุ
จนเป็นที่ยอมรับแก่สังคม ชาวบ้านกลุ่มไทยทรงดำบ้านลำตะคร้อ ได้ร่วมกันอนุรักษ์ รักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีไทยทรงดำของตนที่บรรพบุรุษสอนสั่งไว้เป็นอย่างดี ได้แก่ ภาษาไต (การพูด การเขียน) การเลี้ยงผี (ไหว้บรรพบุรุษ) การเสนบ้านเสนเรือน การแต่งงาน การละเล่นในประเพณีสงกรานต์ การแต่งกาย และอาหารการกิน
วัฒนธรรมด้านอาหารของไทยทรงดำบ้านลำตะคร้อ ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์
ชาวไทยทรงดำนิยมรับประทานอาหารรสจัด เช่น เผ็ด เค็ม เปรี้ยว และในพิธีกรรม ส่วนใหญ่จะมี
แกงหน่อส้ม เลือดต้า แกงผำ ผัดเผ็ดไส้หมู แจ่งเอือดด้าน แกงบอน แต่ที่โดดเด่นและแสดงถึงวัฒนธรรมด้านอาหารโดยแท้ของไทยทรงดำ คือ ผักจุ๊บ
ผักจุ๊บ คนไทยจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ยำผัก”ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นของชาวไทยทรงดำ จะต้องทำทุกครั้งเมื่อมีการทำพิธีกรรมในชุมชน
ส่วนประกอบ
1. ถั่วฝักยาว (ภาษาไทยทรงดำ เรียกว่า ถั่วฝักมี)
2. ผักแว่น
3. ผักบุ้ง (ภาษาไทยทรงดำ เรียกว่า ผักบ้ง)
4. ตระไคร้ (ภาษาไทยทรงดำ เรียกว่า ผักเจ่า)
5. ข่า
6. หอมแดง
7. กระเทียม
8. พริกแห้งคั่ว (ภาษาไทยทรงดำ เรียกว่า มะเอือด)
9. พริกป่น (ภาษาไทยทรงดำ เรียกว่า มะเอือด)
10. มะแขว่น
11. น้ำปลาร้า (ภาษาไทยทรงดำ เรียกว่า น้ำปลาแหละ)
วิธีการทำ
1. นำผักทุกชนิดมานึ่งให้สุก(ผักไม่จำเป็นต้องเอาเอาตามสูตร แต่สามารถใช้ผักได้ทุกชนิดตามใจชอบ)
2. เมื่อผักสุกแล้ว นำมาซอยให้ละเอียด
3. คั่วหัวหอมและคั่วกระเทียม ให้มีกลิ่นหอม
4. นำข่าและตะไคร้มาฟักให้ละเอียด
5. นำข่า ตะไคร้ หัวหอม กระเทียม นำไปคั่วให้หอม และนำมะแขว่นมาตำรวมกัน
6. เสร็จแล้วนำส่วนผสมทุกอย่างที่เตรียมไว้คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ใส่พริก
และเกลือเพื่อชูรสความอร่อย