"ตุ๊บเก่ง" เป็นดนตรีพื้นบ้านของเมืองเพชรบูรณ์ ที่จัดเป็นดนตรีพิธีกรรมที่ใช้บรรเลงเพื่อเพิ่มความขลัง
ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม มีต้นกำเนิดไม่ต่ำกว่า 100 ปีจากบ้านป่าแดง ตำบลป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
และได้ถ่ายทอดหรือเผยแพร่ออกไปสู่ชุมชนอื่น ๆ โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ โดยได้พบที่ บ้านนางั่ว บ้านสะเดียง และบ้านป่าเลา นอกจากนั้นยังมีการค้นพบว่าเคยมีการเล่นใน บ้านน้ำเลา บ้านห้วยไคร้ และบ้านท่าด้วง แต่ปัจจุบันนี้ ยังคงพอมีวงดนตรีตุ๊บเก่งเหลืออยู่เฉพาะในบ้านป่าแดงเท่านั้น ชื่อ “ตุ๊บเก่ง” มาจากเสียงของเครื่องดนตรีที่สำคัญ 2 ชนิดในวง นั่นคือ “ตุ๊บ” คือ เสียงของกลอง และ “เก่ง” คือ เสียงของฆ้องกระแตนั่นเอง
ดนตรีตุ๊บเก่งเล่นเป็นวงผสม ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 3 ชนิด 5 ชิ้น ได้แก่ ปี่แต้ 1 เลา กลองเดิน 1 ใบ กลองออก 1 ใบ และฆ้องราว 1 ชุดประกอบด้วย ฆ้องกระแต 1 ใบและฆ้องโหม่งต่างขนาดกัน 2 ใบ
ปกติมีผู้เล่น 5 คน ดนตรีมีลักษณะเจื้อยแจ้ว ช่วงเสียงแคบต่ำ ทำนองเพลงมี 3 ลักษณะคือ ลักษณะช้าราบเรียบ ลักษณะกระชับเร็วขึ้น และลักษณะจังหวะเร็ว โดยมีปี่แต้เป็นตัวดำเนินทำนอง ซึ่งจะต้องมีการทำเสียงได้อย่างต่อเนื่องกันตลอดเพลง ส่วนเครื่องดนตรีชนิดอื่นจะเป็นตัวให้จังหวะ ปี่แต้จะต้องบรรเลงทำนองเพลงให้สัมพันธ์กับกระสวนจังหวะกลองเดินและกลองออก ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะของแต่ละเพลง เพลงที่เล่นจะเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เป็นเพลงท่อนเดียวบรรเลงซ้ำไปเรื่อย ๆ ซึ่งในแต่ละเที่ยวผู้เป่าจะคิดด้นทำนองออกไป ส่วนฆ้องกระแตใบเล็กเสียงสูง และฆ้องขนาดกลางเสียงค่อนข้างต่ำและฆ้องขนาดใหญ่เสียงต่ำ จะเป็นตัวยืนแนวจังหวะให้กับวง วิธีการสร้างเครื่องมือนั้น นักดนตรีจะเป็นผู้สร้างขึ้นเพื่อเอาไว้ใช้เองเป็นส่วนตัว โดยสร้างตามลักษณะของดนตรีพื้นบ้านคือใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง วิธีการสร้างก็เรียบง่ายไม่พิถีพิถัน หรือไม่ก็จะได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษอีกทีหนึ่ง
ในอดีต ตุ๊บเก่งจะใช้บรรเลงประกอบพิธีกรรมทั้งในงานมงคลและงานอวมงคล แต่ในปัจจุบัน
วงดนตรีตุ๊บเก่งจะเหลือเป็นที่นิยมใช้บรรเลงแต่เพียงในงานศพเท่านั้น ในด้านสถานภาพและบทบาทในชุมชน ดนตรีตุ๊บเก่งยังได้มีบทบาทลดน้อยลงไปทุกทีจนปัจจุบันนี้มีเหลือเพียงไม่กี่วงและผู้เล่นก็ล้วนแต่อายุมากแล้ว
ทั้งนี้เพราะมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเป่าปี่แต้เป็นเรื่องที่ยากมากเพราะจะต้องทั้งเป่าให้มีเสียงต่อเนื่องตลอด จึงหาคนเป่าเป็นไม่ค่อยได้ การเล่นดนตรีตุ๊บเก่งไม่เป็นที่น่าจูงใจให้คนรุ่นใหม่ ๆ หันมาฝึกฝนสืบทอดได้เพราะทำนองช้า ไม่เร้าใจอย่างดนตรีสมัยใหม่ และที่สำคัญ ไม่สามารถทำเป็นอาชีพหารายได้อย่างมั่นคง "ตุ๊บเก่ง" ดนตรีพื้นบ้านของเพชรบูรณ์ ปัจจุบันจะต้องทำให้ดนตรีตุ๊บเก่งกลับมาเป็นที่นิยมนำไปเล่นในงานมงคลต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีการแต่งเพลงและทำนองใหม่ให้เร็ว เร้าใจ อีกทั้ง ยังมีการประดิษฐ์ท่ารำประกอบการเล่นดนตรีตุ๊บเก่งสด ในทำนองเพลงเร็วชื่อเพลง “นกกะปูด" ซึ่งเป็นท่ารำที่สวยงาม อ่อนช้อย จังหวะสนุกสนาน โดยเริ่มนำออกงานเพื่อเผยแพร่แก่ชาวเพชรบูรณ์ เพื่อช่วยกันนำไปเล่นในงานมงคล งานประเพณีต่าง ๆ ให้แพร่หลายต่อไป
เพลงที่ใช้เล่นในวงตุ๊บเก่ง มีดังนี้
1 เพลงต้น 2 เพลงสามไม้ 3 เพลงปลงศพ 4 เพลงระย้า 5 เพลงแก้วน้อยดับไฟ 6 เพลงสามใบหยัก(เพลงกันเสนียดจัญไร) 7 เพลงเดินหน 8 เพลงเข้าวัด 9 เพลงเวียน 10 เพลงกระตุไฟ 11เพลงรับพระ 12 เพลงนางข่อง 13 เพลงนกกระปูด 14 เพลงแกะชนกันตัวผู้ 15 เพลงแกะชนกันตัวเมีย 16 เพลงโทน 17 เพลงตะเข้ลากหาง 18 เพลงฤาษีเข้าถ้ำ