ประเพณีก่อพระทรายข้าวเปลือก บ้านสะเดียงอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองเพชรบูรณ์ เป็นชุมชนใหญ่ประกอบด้วย ชุมชน 2ชุมชน 3ของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ และหมู่บ้าน หมู่ที่ 6หมู่ที่ 7
และหมู่ที่ 5,11ของตำบลสะเตียง เป็นเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลสะเตียง คือ บ้านตะกุดบง
บ้านไร่ และบ้านหนองนารี หมู่บ้านดังกล่าว มีอาชีพทำนา นับถือศาสนาพุทธ มาทำบุญที่วัดทุ่งสะเดียง
มีประเพณีต่าง ๆ ที่อนุรักษ์ สืบทอดมาจากปู่ ย่า ตา ยาย ประเพณีที่โดดเด่นของวัดทุ่งสะเดียง คือ ประเพณีกลบธาตุ ในวันสารทไทย คือ การก่อพระเจดีย์ทราย กระดูกของผู้ตายในบ้านของตน มีการประกวดแข่งขันกันได้รับความสนับสนุนจากเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์สืบเนื่องมาทุกปี
สำหรับประเพณีที่สืบทอดมาจากปู่ า ตา ยาย หลายชั่วอายุคนที่เคยปฏิบัติในการทำนา คือ ประเพณีก่อพระทรายข้าวเปลือก ประชากรชาวนาที่มีความศรัทธาลดน้อยลงมาก เป็นผลกระทบต่อประเพณีก่อ
พระทรายข้าวเปลือก จะเห็นได้จากการก่อพระทรายข้าวเปลือกในปีที่ผ่านมา (2555)บรรยากาศเงียบเหงาซบเซา มีประชาชนสนใจน้อยที่จะเข้าร่วมพิธีทำขวัญข้าว ทั้งที่ผลผลิตจากการตรากตรำทำนาแสนจะเหน็ดเหนื่อยกว่าจะได้เมล็ดข้าวมาเป็นกอบเป็นกำ เข้ามาเก็บไว้ในยุ้งฉาง อาจจะเป็นการทำนาสมัยปัจจุบัน ทำแบบสบาย ๆ จึงไม่ได้สำนึกถึงพระคุณของพระแม่โพสพ
การทำนาที่จะกล่าวในที่นี้ เป็นการทำแบบโบราณ ได้ข้อมูลจากนายทองสุก ขุนแก้ว อาจารย์พักตร์ ม่วงเล็ก อาจารย์ชะอุ้ม ต่วนโต และคุณรันดร เสือน้อย และจากประสบการณ์ตรงของตนเอง เนื่องจากพ่อแม่มีอาชีพทำนา
การทำนาในสมัยโบราณต้องอาศัยน้ำจากเหมือง ฝาย เพื่อเปิดน้ำเข้านา จากคลองป่าแดง ทำฝ่าย
เพื่อกักเก็บน้ำไว้ และขุดเหมืองให้น้ำไหลเข้านา มีฝายซุนปฏิเวธ (ปัจจุบันไม่ต้องทำฝาย และขุดลอกเหมืองแล้วใช้น้ำชลประทานป่าแดง) ฝายตะกุดบง ฝายกกไทร ฝายสี่แยกวัดทุ่งสะเดียง เป็นต้น การทำนาเปิดน้ำจากเหมือง ฝาย เข้านา และขังไว้ให้ดินได้ชับน้ำเต็มที่ จะต้องดูแลคันนาปิดรอยรั่วเพื่อขังน้ำไว้ได้ทุกแปลง
แล้วไถนากลบซังเข้านา แล้วไถนากลบซังข้าวและวัชพืช ปล่อยให้น้ำท่วมดินก้อนไถ ซังข้าวคือต้นข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวจะปล่อยทิ้งไว้ไม่เผาทิ้ง เพราะซังข้าวและวัชพืชถูกไถกลบแช่น้ำจะเปื่อยเน่าเป็นปุ๋ยข้าว
ที่จะดำใหม่ ดังคำพูดที่กล่าวว่า "หญ้าเน่าข้าวงาม" ชาวนาจะไถแปลงแรกไว้สำหรับหว่านกล้า เมื่อไถแล้วต้องคราดทับให้เละเป็นโคลน ทำแปลงสำหรับหว่านข้าว การหว่านข้าวจะนำพันธุ์ข้าวที่ต้องการแช่ไว้ 1 คืน แล้วใส่ภาชนะที่น้ำไหลซึมได้เพื่อไม่ให้น้ำขัง เช่น กระบุง ตะกร้า แล้วใช้ใบตองหรือผ้าคลุมไว้ 2-3 คืน
เมื่อข้าวงอกรากแล้วนำไปหว่านในแปลง ที่เตรียมไว้ หรือที่เรียกว่า ตากล้า ข้าวก็จะงอกสูงขึ้น กล้าที่จะนำไปดำนาต้องมีอายุหนึ่งเดือนเศษ จะเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงพอ เมื่อหว่านกล้าเสร็จแล้ว ชาวนาก็จะเร่งไถ
คราดในแปลงอื่น ๆ การไถ คราด ในสมัยนั้นใช้ควายไถนา ส่วนมากจะไถนาในตอนเช้าและตอนบ่าย แดดไม่ร้อน
และให้ควายได้พักเพื่อกินหญ้า พ่อของผู้เขียนจะหยุดใช้แรงงานควายคือไม่ไถนาในวันธรรมสวนะด้วย เนื่องจากเจ้าของไปทำบุญที่วัด และมีเมตตา ไม่ทรมานสัตว์นั่นเอง
เมื่อกล้าอายุหนึ่งเดือนเศษจึงถอนกล้า (บ้านสะเดียง เรียกว่า หลกกล้า) มัดเป็นกำหรือเป็นจุก
ตัดใบตอนปลายออก เพื่อนำไปปักดำในแปลงนาที่เตรียมไว้ ก่อนจะปักดำนั้นคนโบราณจะสันแรกก่อน สันแรกคือ การนำไม้รวกหรือปลายไม้ไผ่ผ่าแปดเหลือโคนไว้ประมาณ 1 เมตรครึ่ง นำไปปักดินตรงมุมของบึ้งนา
(แปลงนา) แล้วนำปลายไม้ที่ผ่าไว้ให้โค้งมาปักดินทั้งแปดเส้น สันแรกก็จะเป็นวงกลม บางแห่งใช้ไม้สานเป็นราชวัติ ปักเป็นบริเวณสี่เหลี่ยมชาวนาจะนำกล้ามาปักดำในบริเวณสันแรกก่อน ตรงกลางสันแรกจะนำเครื่องเซ่น (บวงสรวงขนาดเล็ก) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ และบูชาพระแม่โพสพ เครื่องเซ่น มีขนมต้มแดง ขนมต้มขาว หมากพลู 1 คำ ไข่ต้ม 1 ลูก ขนมลูกโคน ขนมสะบัดงา ข้าวตอกปั้น อย่างละเล็กน้อย นำใส่กระทง วางไว้บนสันแรก แล้วบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางที่เรานับถือในท้องถิ่นนั้น ๆ ว่า "สูญเจ้าข้าเจ้าพ่อนาเกน (ถ้านาอยู่ในย่านคลองสาน คลองคู ถ้านาอยู่ย่านวัดทุ่งสะเดียงก็เปลี่ยนเป็น เจ้าพ่อโคกนารายณ์) ที่ลูกเคารพนับถือ
สองมือข้าพเจ้าปักดำในนา ขออย่าให้มีศัตรูข้าว ได้แก่ หอย ปู แมลง มารบกวนข้าวกล้า ขอให้กล้าในนา
จงงามวันงามคืน ถึงข้าวท้องมาน ออกรวงขอให้รวงดกงดงาม เมื่อข้าวแก่ เก็บเกี่ยว ก็ขออย่าให้นก หนู
มารบกวน คำพูดใดที่มีมงคลก็ให้กล่าวไป
สันแรกนี้ชาวนา ถือว่าปักดำครั้งแรก เป็นแปลงตัวอย่าง จะดูแลเป็นพิเศษ เป็นต้นว่า ถึงวันธรรมสวนะ(วันพระ) เมื่อไปทำบุญที่วัดก็จะนำน้ำก้นบาตร ข้าวต้ม ขนมตกบาตร (ส่วนมากชาวนาทำบุญนิยมห่อข้าวต้มผัด เมื่อใส่ล้นบาตร จะตกลงมาจากบาตร) นำมาบูชาพระแม่โพสพที่สันแรกเป็นประจำ ระหว่างข้าวกล้างอกงามจะต้องดูแล ถอนหญ้าวัชพืชที่ขึ้นแชมข้าว โดยเหยียบให้จมโคลน เอารากไว้ด้านบน ชาวนาเรียกว่า "เหยียบหญ้านา" บริเวณไหนที่ข้าวตายมีที่ว่าง ก็จะนำกล้าที่ตกค้างหรือแบ่งจากกอข้าวที่สมบูรณ์มาปักดำในที่ว่างเพิ่มเติม เรียกว่า "ซ่อมข้าว" คอยดูแลเปิดน้ำให้เข้านาแช่ต้นข้าว จนกว่าข้าวจะออกรวงและรวงเริ่มสุก จึงปิดน้ำเข้านาเพื่อให้พื้นนาแห้งสะดวกในการเก็บเกี่ยว
เมื่อข้าวออกรวงสุกเหลืองได้ที่แล้วก็จะเก็บเกี่ยวมารวมไว้ลานข้าว ลานข้าวคือพื้นที่อยู่ใกล้นา
หรือที่อื่น ที่เหมาะสม สะดวกในการขนฟ่อนข้าวมารวมไว้ที่ลาน การทำลานข้าวต้องเตรียมพื้นที่ดายหญ้า
ที่ควรจะราบเรียบ รดน้ำบดดินให้แน่น แล้วนำขี้ควายผสมน้ำให้ข้นพอควร นำมาเทราดบนดินที่เตรียมไว้ เรียกว่า "ยาลาน " การยาลานเพื่อไม่ให้ดินมาปนกับข้าวเปลือก ปล่อยให้ลานข้าวแห้งดีแล้ว จึงนำข้าวที่เกี่ยวแล้วมัดเป็นฟ่อน ขนหาบมาไว้ที่ลาน วิธีขนข้าวขึ้นลาน จะใช้ไม้รวกยาวพอควร นำมาเสี้ยมเหลาให้ปลายแหลมทั้งสองข้าง เรียกว่า ไม้หลาว นำไม้หลาวมาเสียบข้าวฟ่อนข้างละ 3-4-5 ฟ่อน แล้วแต่กำละจะหาบไหว
เมื่อนำมาไว้ที่ลานแล้ว จัดกองซ้อน ๆ กัน เรียกว่า "ลอมข้าว" บางแห่งนำมานวดบนลานบางแห่งใช้ไม้รัดฟ่อนข้าวนำมาตี-ฟาด ให้เมล็ดข้าวออกจากรวง ฟางที่ไม่มีเมล็ดข้าวนำมาลอมฟางเก็บไว้เป็นอาหารของวัว ควาย ในฤดูแล้ง ข้าวในลานก็ขนขึ้นยุ้งฉางต่อไป และยังไม่ให้ตักข้าวนี้ไปสีหรือตำ จะตักข้าวในยุ้งฉางได้ ต้องทำพิธีเชิญขวัญ
พระแม่โพสพก่อน ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป
ในสมัยโบราณการดำนา การเกี่ยวข้าว การฟาดข้าวตีข้าวก็ดี จะมีการประสานสัมพันธ์ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันความมีเมตตาเอื้ออาทรต่อกัน คือ การลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกฟาดข้าว การลงแขกคือ เจ้าของนา
ที่อยู่ใกล้กันจะเป็นญาติหรือไม่ก็ตาม จะมาช่วยระดมกันปักดำ เกี่ยวข้าวจำนวนคนมาช่วยกันมากบ้างน้อยบ้าง โดยไม่คิดเงินค่าแรง แต่มีการใช้แรงแทนกันและกัน ทำให้เกิดความสามัคคี รวมกันเป็นกลุ่ม รู้นิสัยใจคอกัน
ถ้าเป็นนาของบ้านที่มีลูกสาว หนุ่ม ๆ ก็จะชวนกันไปช่วยงาน เพื่อจะได้พบปะกัน บางแห่งชวนไปทั้งครอบครัว เพื่อศึกษาดูพฤติกรรมของกันและกัน บางบ้านเป็นครู อาจารย์ ลูกศิษย์ก็จะชักชวนเพื่อน ๆ ไปช่วยงานของครู เมื่อมีแขกมาช่วย เสร็จจากงานแล้ว เจ้าของบ้านจะจัดอาหารหวานคาวมาเลี้ยง สังสรรค์เป็นการผ่อนคลาย
ให้หายเหนื่อย บางแห่งไม่มีการลงแขก ก็จะว่าจ้างเป็นรายวัน บางแห่งก็ช่วยกันทำในครอบครัวของตนเองก็มี
ในปัจจุบันนี้ไม่มีบรรยากาศช่วยกันและกัน การทำนาก็ไม่ต้องใช้ควายไถนา ใช้เครื่องจักรแทน เช่น รถไถ คราด บางชนิด ให้รถปักดำนาไปด้วยเนื่องจากค่าแรงงานแพง ชาวนาบางส่วนใช้หว่านข้าวเป็นนาหว่าน
เพื่อลดต้นทุน แต่ก็ยังมีนาดำอยู่บ้าง
การเกี่ยวข้าวก็ไม่ใช้แรงงานคนจับเคียวเกี่ยวข้าวกัน เมื่อข้าวแก่สุกเหลืองดีแล้ว ก็จะจ้างรถเกี่ยวข้าว
สีฝัด ใส่กระสอบ (ไม่ได้นำข้าวใส่ยุ้งฉาง) พร้อมขายได้เลย ลดค่าจ้างเกี่ยว มัดฟ่อน หาบมาลาน ตีฟาด สะดวกด้วยประการทั้งปวง
ในสมัยโบราณนำข้าวขึ้นยุ้งฉางแล้ว ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จะทำพิธีเชิญขวัญพระแม่โพสพก่อน เพราะมีความเชื่อว่า วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่กบจำศีล เรียกว่า "กบไม่มีปาก นากไม่มีตูด" ถ้าตักข้าวหลังจากพิธีเชิญขวัญพระแม่โพสพ และคนที่จะตักข้าวในยุ้งฉางเป็นครั้งแรก ต้องให้คนที่เกิดในปีมะโรง มะเส็ง เพราะงูไม่กินข้าว ไม่ให้คนที่เกิดในปีมะแม ปีระกา ปีชวด ฯลฯ เพราะ แพะ ไก่ หนู กินข้าว ทั้งนี้เป็นความเชื่อว่า "ตักไม่บก จกไม่พร่อง" คือกินข้าวไม่สิ้นเปลือง สอนให้คนรู้จักประหยัด และรู้คุณค่าของข้าวแต่ละเมล็ด
พิธีเชิญขวัญพระแม่โพสพ ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ชาวนาจะทำพิธีเชิญขวัญพระแม่โพสพที่ร่วงหล่นตกค้างอยู่ในทุ่งนา โดยจัดเครื่องเชิญมี ไข่ต้ม 1 ฟอง หมากพลู 1 คำ ขนมต้มแดง ขนมต้มข้าว ผ้าแพร 3 ผืน ใส่กระบุง คอนไปนา (คอน คือ นำกระบุงใส่ไม้คานข้างเดียว) ระหว่างเดินทางไป-กลับ ห้ามพูดกับใคร
แม้จะมีคนทักทาย ก็ไม่พูดเรียกว่า ถือกรรม เมื่อไปถึงนาก็ทำพิธีเชิญขวัญพระแม่โพสพ ดังนี้
"ศรี ศรี วันนี้เป็นวันดี ข้าพเจ้าจะขอยกเอาคุณของพระแม่โพสพมารำพัน จะได้เชิญขวัญตามประเพณี
ขอเชิญเทพเทวีอยู่กลางทุ่งนา ผู้มีอานุภาพศักดาเรื่องฤทธิ์ เทพเจ้าที่สิงสถิตย์อยู่โขดเขินตามภูผา ทั้งอินทรพรหมายมนาทั้งหลาย ผู้มีฤทธิ์มากมายทั่วแผ่นดิน ข้าพเจ้าขออัญเชิญพระแม่โพสพเข้าไปอยู่ในยุ้งฉาง ข้าพเจ้าขอเชิญเสด็จมาชุมนุมสโมสร เสวยสังวรเครื่องบวงสรวง ข้าพเจ้าขออัญเชิญพระแม่โพสพที่ตกค้างอยู่ในนา เข้าไปอยู่
ในยุ้งฉางเสียในกาลบัดนี้เถิด"
แล้วกลับมา
เมื่อชาวนาเก็บข้าวเรียกขวัญพระแม่โพสพแล้ว ทางวัดทุ่งสะเดียงประชุมคณะกรรมการ จัดงานก่อพระทรายข้าวเปลือก กำหนดวัน เวลา ผู้รับผิดชอบทำหน้าที่ต่าง ๆ แล้วบอกบุญ ชาวนาจะนำข้าวเปลือกมารวมกันที่วัด กองเหมือนเจดีย์ทราย แต่ใช้ข้าวเปลือกแทนทราย ชาวนามีความศรัทธาและมีความเชื่อว่า ข้าวที่ทำจากน้ำพักน้ำแรงของตนมาทำบุญได้กุศลแรง ถ้าได้นำข้าวเปลือกมาทำบุญ ก็เชื่อว่า ปีหน้าฟ้าใหม่จะทำนาได้ผลผลิตมากขึ้นพวกศัตรูข้าวจะไม่มารบกวน เมื่อได้ข้าวมากองรวมกันแล้วฝ่ายที่มีหน้าที่ทำบายศรี ฉัตร
ตกแต่งสถานที่เรียบร้อยแล้ว เวลาบ่ายนิมนต์พระ จำนวน 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นก็จะทำพิธีขวัญข้าวประชาชนจะนั่งเป็นวงกลมล้อมวงข้าวเปลือก ซึ่งเตรียมบายศรีหุ้มผ้าแพรเครื่องบายศรี จะมีขนม ไข่ต้ม ข้าวเหนียวแดง ใบพลู แว่นเทียน เป็นต้น
พิธีทำขวัญพระทรายข้าวเปลือก หมอทำขวัญแต่งกายชุดขาว หัวหน้า (นายทองสุก ขุนแก้ว)
จะกล่าวเชิญขวัญเป็นทำนอง ดังนี้
ศรี ศรี วันนี้เป็นวันดีเลิศลพ ข้าพเจ้าจะขออัญเชิญ
ขวัญพระแม่โพสพที่อยู่ในท้องทุ่งนา จงเข้ามาอยู่ในยุ้งฉางเสีย
ในวันนี้ ขวัญแม่เอยอย่าได้หนีตื่นตกใจ เมื่อถูกลมพัดสะบัดใบให้ร่วงหล่น
ขวัญแม่เอยอย่าได้จรดลไปเที่ยวหนี อย่าได้ไปหลงกินรีที่ร่ายรำ
ขวัญแม่ก็อย่าได้ถลำเข้าไปในไพรพฤกษ์ แม้ว่าจะสัญจรอยู่ในห้วงลึกก็ให้รีบกลับมา
ขวัญแม่เอ่อ-เอย อย่าได้ไปหลงชมสิงสาราสัตว์ แม้ว่าจะถูกเคียวตวัด แม่อย่าได้ตกใจ
แม้ว่าแม่จะถูกไถถูกคราด ถูกฟัดฟาดลงกลางดิน
หรือว่าจะถูกขบกินเป็นอาหารของมนุษย์ นะ ขวัญ แม่ เอ่อ-เออ-เอย ขวัญแม่
อย่าได้รุดหน่ายหนี จงอยู่เป็นศรีในยุ้งฉาง
ขอเชิญแม่นางมาชมบายศรี ซึ่งมากมีทั้งคาว หวาน สารพัด
ที่เจ้าของจัดมาให้สังเวยเครื่องบวงสรวง ขอให้มีลาภทั้งปวง เกษมสันต์
มีเงินทองนับอนันต์ยิ่งนัก มีความรักมั่นคงสถาพร
พ้นจากความเดือดร้อนทั้งปวง ไม่มีอุปสรรคมาขัดขวางทางเดิน
ขอให้มีแต่สรรเสริญลาภยศ ปรากฎสิ้นกาลนานเทอญ
ให้ลั่นฆ้องขึ้น 3 ที โห่ร้องเอาชัยขึ้น 3 ครั้ง ฯลฯ
บททำขวัญดังกล่าวนี้ เป็นเพียงตัวอย่าง หมอทำขวัญจะกล่าวคำขวัญจนเบิกบายศรี จุดเทียน ที่แว่นเทียนที่เตรียมไว้ ส่งให้ประชาชนที่นั่งล้อมรอบพระทรายข้าวเปลือกควันจากแว่นเทียน ให้ควันเข้าไปทางพระทรายข้าวเปลือกจนจบพิธี หลังจากพิธีทำขวัญพระแม่พระโพสดเสร็จแล้ว ทางวัดก็จะนำอาหารหวานคาว
มาเลี้ยงกันที่โรงทาน กลางคืนจะมีการื่นเริง มีรำวงย้อนยุค โดยชาวบ้าน ชุมชน จะร่วมกันจัดเอง
ในวันรุ่งขึ้น จัดถวายอาหารบิณฑบาต เลี้ยงพระตอนเช้า ถวายข้าวเปลือก คณะกรรมการจะติดต่อพ่อค้ามาซื้อข้าวเปลือก นำเงินบริจาคและเงินรายได้จากขายข้าวเปลือกถวายพระเพื่อนำไปบูรณะวัด
พิธีกรรมเกี่ยวกับการทำขวัญข้าว มีทุกขั้นตอนเป็นวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่า ตั้งแต่หว่านกล้า ไถ คราด
ปักดำ เกี่ยว จนถึงรับขวัญข้าวเข้ายุ้งฉาง ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย มาสู่คนรุ่นหลัง
วิถีชีวิตที่ร่วมกันลงแขก ปักดำ เกี่ยวข้าว แสดงว่ามีความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ แต่ปัจจุบันคนมีจิตใจในการช่วยเหลือ เอื้ออาทรต่อกันและกันมีน้อย เป็นสังคมแก่งแย่ง ตัวใครตัวมัน ส่งผลให้การทำบุญก่อพระทรายข้าวเปลือก และพิธีกรรมต่าง ๆ เริ่มเลือนรางหายไป
ซึ่งพิธีกรรมต่าง ๆ คือ หน้าตาจิตใจของชีวิต คนรุ่นหลังควรอนุรักษ์สืบสานให้ดำรงอยู่ในหมู่บ้านของเรา
ได้กล่าวถึงการทำนา ก่อพระทรายข้าวเปลือก พิธีเชิญขวัญ สรรเสริญพระคุณของพระแม่โพสพแล้ว ควรจะได้รู้เรื่องราวของพระแม่โพสพด้วย
พระแม่โพสพ คือ เทพเจ้าประจำข้าวหรือเจ้าแม่แห่งข้าว พระแม่โพสพเทพแห่งข้าว ผู้ให้ความสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร ชาวอิสานเรียกว่า"แม่โคสก" เป็นพระมเหสีของท้าวสักกะเทวราช มีพี่น้อง 5คน คือ
1.แม่โพสี เป็นตัวแทนข้าวเหนียว
2.แม่โพสพ เป็นตัวแทนข้าวเจ้า
3.แม่นพดารา
4.แม่จันเทวี
5.แม่ศรีสุดา
ชื่อเดิมของแม่โพสพ ชื่อ "พระแม่โพสพนพเกล้า" เดิมเป็นเทพธิดาอยู่บนสวรรค์ มีนามว่า "โพสวเทวี"
มีร่างกายสวยงาม มีกลิ่นหอม ผิวพรรณดุจทองคำ นางเป็นสนมเอกของพระอินทร์ ซึ่งมอบหมายให้ดูแล
สรวงสวรรค์ พอถึงวันพระ 8ค่ำ และ 15ค่ำนางจะเก็บดอกไม้ใส่พานไปถวายเพื่อให้พระอินทร์ใช้บูชาพระรัตนตรัย
วันพระวันหนึ่ง เมื่อนางเก็บดอกไม้ไปถวายแล้วพระอินทร์ทรงสังเกตเห็นว่า ผิวพรรณของนางที่เคยผุดผ่อง
ไม่เหมือนเดิม จึงทรงถาม และนางตอบว่า "มันเป็นอนิจจังไม่เที่ยง" แต่พระอินทร์บอกว่า"นั้นเป็นส่วนหนึ่ง
แต่อีกส่วนหนึ่งคือ บุญของเจ้าใกล้หมด ฉะนั้นจึงไปสร้างบุญใหม่ ไปทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกเถิด"
นางรับปากทูลลาไปสรวงสวรรค์เก็บบุปผาชาติใส่พานลงไปยังป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของฤาษีกำลังเข้าฌานสมาบัติ เรียกขานว่า "ฤาษีตาไฟ" เพราะปีหนึ่งจะลืมตาเพียงหนเดียว นางเห็นฤาษีเข้าฌานก็เวียนทักษิณาวัตร 3รอบ ฤาษีตบะแทบแตก เมื่อได้กลิ่นหอมของดอกไม้ จากนั้นนางก็เหาะไปหน้าพระฤาษีแล้วก้มลงกราบ ฤาษีใด้กลิ่นดอกไม้และกลิ่นกายของนางทนไม่ใด้จึงลืมตา
ขึ้นชั่วพริบตา นางก็มอดไหม้เป็นเถ้าถ่าน
ฤาษีเห็นนางเทพธิตามาหาได้แว่บเดียวก็มอดไหม้ จึงได้ใช้ไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ชี้ไปที่กองเถ้าถ่านเพื่อ
ให้นางฟื้นขึ้น ฉับพลันก็เกิดเป็น "ต้นข้าว" ซึ่งมีเมล็ดข้าวหนึ่งเมล็ดขนาดกว้าง 8นิ้ว ยาว 16นิ้ว สีเหลืองอร่ามสวยงาม
ฤาษีคิดว่าฤทธิ์เดชของตนไม่แก่กล้า แต่ความจริงนางไม่ใด้โต้ตอบ จากนั้นจึงคืนร่างเป็นเทพธิดา
นางได้เล่าเรื่องความต้องการให้ฤาษีช่วยเหลือ ให้ได้สร้างบุญกุศลที่พระอินทร์แนะนำเพื่อประโยชน์ของชาวโลก ฤาษีเห็นด้วยที่นางเป็นข้าว แต่เมล็ดใหญ่กินไปไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เลยให้กลับร่างเป็นต้นข้าว
แล้วใช้ไม้เท้าเสกไปที่เมล็ดข้าวทำให้แตกกระจาย จึงเป็นที่มาของพันธุ์ข้าวต่าง ๆ จนถึงทุกวันนี้