จากคำบอกเล่าสืบต่อๆกันมาว่าเมื่อปี พ.ศ. 2310ไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2ราษฎรแตกตื่นเกรงกลัวภัยสงครามกันมากด้วยกลัวจะถูกเกณฑ์ไปรบ จึงพากันอพยพหนีภัยที่เกิดจากสงครามมากมายครั้งนั้นราษฎรหัวเมืองเพชรบูรณ์แถบบ้านนายม บ้านยางหัวลม ส่วนหนึ่งได้จัดเตรียมเสบียงอาหาร สัตว์พาหนะ อพยพหาที่อยู่แห่งใหม่ เพื่อหลบภัยจากสงคราม รวมได้ราว ๆ 50ครัวเรือน เดินทางกันมาเป็นเวลา 3 วัน 3คืนเมื่อถึงจุดหมายก็ได้ทำการหักร้างถางพง ตั้งบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยจับจองที่ทำมาหากินเป็นพื้นที่นา
พื้นที่ไร่ ตั้งชื่อบ้านว่า "วังดินโป่ง” หลวงโยธานิเทศเห็นพื้นที่แถบนี้อุดมสมบูรณ์ที่ทำเลกว้างขวางเหมาะ
แก่การตั้งบ้านเรือนและที่ทำกิน เมื่อทราบข่าวเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ จึงได้ป่าวประกาศแก่นายบ้าน นายตำบลภายในหัวเมืองเพชรบูรณ์ให้ทราบเดินทางเที่ยวรอนแรมอยู่ 15วัน 15คืนจึงได้ทราบว่าบริเวณบ้านวังดินโปร่งเหมาะสมที่จะตั้งขึ้นเป็นถิ่นฐานบ้านเรือน ทำมาหากินได้หลายตำบล เมื่อกลับไปแล้วจึงได้แจ้งให้ ราษฎร
ที่สมัครใจจะอพยพมาอยู่ ก็ให้นายพรานประดิษฐ์เป็นผู้นำทางมา มีการอพยพเข้ามา หลายสิบครอบครัว
ต่อมาชื่อบ้านเดิมตัด คำว่า "ดิน” ออก คงเหลือชื่อหมู่บ้านว่า"วังโป่ง”
ปัจจุบันเรียกชื่อว่า บ้านวังโป่งมีพื้นที่การเกษตร (พื้นที่นา พื้นที่ไร่) ประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าว
และทำไรสวนผสมจึงนำผลผลิตการทำนาปลูกข้าวมาทำพิธีเรียกขวัญข้าว เป็นประเพณีเจดีย์ข้าวเปลือก
ตามความเชื่อเดิมของชุมชนบ้านวังโป่ง
ด้านศาสนานายพรานประดิษฐ์ได้จัดสรรบริเวณกลางหมู่บ้าน ด้านตะวันตกของลำคลองไว้ประมาณเนื้อที่ได้ 20ไร่ ให้เป็นที่ตั้งวัดของหมู่บ้าน ได้มาร่วมทำบุญทานการกุศลตามประเพณีดั้งเดิมของชาวไทย ตั้งชื่อวัดว่า"วัดป่าดงตะเคียน” ซึ่งกล่าวกันว่าคงตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2310 – 2320ต่อมาเปลี่ยนชื่อวัดเป็น
"วัดอรัญญาวาส”
การก่อเจดีย์ข้าวเปลือกชุมชนบ้านวังโป่ง เป็นการทำบุญทางพระพุทธศาสนาโดยตรงของชาวบ้านด้วยการนำผลิตผลการเกษตร (ข้าวเปลือก) มาร่วมบริจาคเพื่อให้ทางวัดได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนา อีกทั้งสร้างนิสัยด้านการบริจาคความสามัคคีแก่ผู้คนในชุมชน
ด้านความเชื่อชาวชุมชนบ้านวังโป่ง มีความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพ มีพระคุณต่อชีวิตของชาวนา
สืบจากปู่ย่าตายายอันยาวนาน ชาวนาชุมชนบ้านวังโป่ง จึงมีพิธีกรรมสืบสานมรดกประเพณีต่อๆกันมา เป็นการเชิญมิ่งขวัญมาสู่ข้าว เพื่อบูชาพระคุณแม่โพสพ ที่มอบผลผลิตอันงอกงามแก่ผืนแผ่นดิน
ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก บุญข้าวเปลือกของชุมชนชาวบ้านวังโป่ง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน มีความเชื่อว่า การเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉาง มีความผูกพันกันแบบวิถีชุมชน เริ่มจากการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าวแสดงถึงความรักความสามัคคี จึงได้จัดงานบูชาแม่โพสพหรือพระแม่โพสพ (ก่อเจดีย์ข้าวเปลือก) โดยถือคติความเชื่อที่ว่าเมื่อนำข้าวในนาขึ้นสู่ยุ้งฉาง ควรจะมีการสรรเสริญบูชา และบวงสรวง
คุณข้าว คุณน้ำ อันเป็นความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าหรือเทพาอารักษ์ เพราะข้าวมีคุณค่าอเนกอนันต์ต่อมวลมนุษย์ จนถือเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง โดยเรียกเทพเจ้าองค์นี้ว่า”แม่โพสพเป็นเทวีแห่งข้าว”
ชาวบ้านวังโป่งจะบูชาพระแม่โพสพก่อนการลงมือทำนา หรือระหว่างการตกกล้าและตลอดจน
ถึงการเก็บเกี่ยว เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะทำพิธีบายศรีข้าว ที่เรียกว่า"พิธีรับขวัญข้าว”ชาวบ้านวังโป่ง ได้จัดงานประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก ติดต่อกันมาจากปี พ.ศ.2500ถึงปัจจุบัน
ด้านวิถีชีวิตสมัยต่อมานิยมทำกันเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ แล้วนำข้าวมากองไว้กลางลานนวดแล้วทำพิธีบายศรีข้าวหรือเมื่อนวดข้าวเสร็จจะได้ข้าวเปลือกกองใหญ่กลางลานนวด และจะทำพิธีทางพราหมณ์ตามประเพณีปฏิบัติของบรรพชนเรียกว่า"พิธีรับขวัญข้าว เพราะ ถือคติความเชื่อว่าขณะที่เราทำนาเกี่ยวข้าวและนวดข้าว เราใช้เท้าเหยียบย่ำข้าวจึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมทำพิธีบูชาแม่พระโพสพ เพื่อขอขมาจะได้เป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัวให้มีแต่ความผาสุก ทั้งนี้งาน
ด้านวัฒนธรรมและประเพณีเป็นเรื่องของจิตใจที่มีความละเอียดอ่อนมาก ดังจะเห็นเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับ การทำบุญด้วยข้าวจะได้บุญมหากุศลมากช่วงเวลา กลางเดือน ๑๐ ประมาณเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ชาวชุมชนบ้านวังโป่งจะเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการปลูกข้าว เพื่อนำผลผลิตที่ได้จากการทำนามาร่วมบริจาคให้กับทางวัด เพื่อจัดกิจกรรมเรียกขวัญพระแม่โพสพ(ร่วมก่อเจดีย์ข้าวเปลือก)ของทุกปี
ด้านการทำมาหากินประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ได้แก่ การทำนา การทำไร่
ปลูกพืชผักสวนครัว การรับจ้าง และรับราชการซึ่งมีเป็นส่วนน้อย พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ปลูกข้าว ปลูกถั่วเขียว ปลูกพืชผักสวนครัว รายได้ส่วนใหญ่มาจากเกษตรกรรม ซึ่งมีผลผลิตไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ดังนั้นเศรษฐกิจส่วนรวมจึงไม่ดีเท่าที่ควร แหล่งน้ำที่สำคัญคือคลองวังโป่ง ฤดูกาลทำนาของชุมชนบ้านวังโป่ง
จะเริ่มทำตั้งแต่เดือน ๖-๗ ของทุกปี เหตุที่เลือกทำช่วงนี้เพราะเป็นช่วงฤดูฝนจะมีฝนตกชุกทำให้มีน้ำในนาเหมาะแก่การทำนา(ปลูกข้าว)ทำให้สภาพนาเหมาะแก่การเพาะกล้า
อัตลักษณ์ที่โดดเด่นประเพณีบุญข้าวเปลือกของชาวชุมชนบ้านวังโป่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน มีความเชื่อว่า การเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉาง มีความผูกพันกันแบบวิถีชุมชน เริ่มจากการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าวแสดงถึงความรักความสามัคคี จึงได้จัดงานบูชาแม่โพสพหรือพระแม่โพสพ โดยถือคติความเชื่อที่ว่าเมื่อนำข้าวในนาขึ้นสู่ยุ้งฉาง ควรจะมีการสรรเสริญบูชา และบวงสรวงคุณข้าว คุณน้ำ อันเป็นความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าหรือเทพาอารักษ์