หลวงพ่อพระยืนมิ่งมงคล ๒ องค์บ้านพระยืน ตำบลพระยืน อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรและนาคปรกศิลปะสมัยขอมโบราณ
ประวัติการสร้างหลวงพ่อพระยืนมิ่งมงคล เป็นพระพุทธรูปศิลาปางอุ้มบาตรและปางนาคปรก สร้างขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือเรียกว่าสมัยขอมโบราณของอาณาจักรขอม ในช่วงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เป็นโบราณวัตถุที่สร้างขึ้นบูชาสักการะในสมัยขอมเรืองอำนาจ หลวงพ่อพระยืนมิ่งมงคลมี ๒ องค์ คือ หลวงพ่อพระยืนมิ่งมงคลเหล่าตะวันออก และหลวงพ่อพระยืนมิ่งมงคลเหล่าตะวันตก หลวงพ่อพระยืนมิ่งมงคลเหล่าตะวันออก ประดิษฐานอยู่บริเวณโรงเรียนชุมชนบ้านพระยืน เรียกว่าองค์ตะวันออก เพราะอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านพระยืน มีอาณาบริเวณเฉพาะ สร้างศาลาเป็นที่กำบังแดดฝนอย่างดี ส่วนหลวงพ่อพระยืนมิ่งมงคลเหล่าตะวันตก ประดิษฐานอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านพระยืน ซึ่งแต่เดิมคนรุ่นเก่าเล่าว่า เป็นพระพุทธรูปยืน แต่ถูกโจรทุบทำลาย ดังคำบอกเล่าในศิลาจารึกที่ฐานพระพุทธรูปที่จารึกไว้ เมื่อคราวปฏิสังขรณ์เสร็จเมื่อรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๓๕ พระพุทธรูปศิลาทั้งสององค์นี้ เป็นพระที่มีพุทธลักษณะแบบสกุลช่างของขอมโดยแท้จริง คือ เป็นพระนาคปรกมีอายุราว ๑,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว
คติความเชื่อและประเพณีที่เกี่ยวข้อง
จากตำนานการสร้างพระยืนมิ่งมงคล ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑ ชาวบ้านพระยืนจึงถือเอาวันนี้จัดงานเทศกาลบุญเหล่าเป็นประจำทุกปี จะมีการทำบุญใหญ่ถือเป็นงานระดับอำเภอ ชาวบ้านใกล้เคียงต่างเดินทางมาร่วมสักการะขอพรพระยืนมิ่งมงคลเพื่อหวังให้สิ่งดีงามเข้ามาสู่ชีวิต