ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 48' 45.4918"
17.8126366
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 21' 1.2575"
100.3503493
เลขที่ : 197656
ประเพณี “ตานก๋วยสลาก” วัดปากลี
เสนอโดย อุตรดิตถ์ วันที่ 20 ธันวาคม 2565
อนุมัติโดย อุตรดิตถ์ วันที่ 20 ธันวาคม 2565
จังหวัด : อุตรดิตถ์
0 605
รายละเอียด

ประเพณีตานก๋วยสลากถือเป็นประเพณีสำคัญอีกประเพณีหนึ่งของชาวล้านนา ที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ตามตำนานคือการถวายสลากแด่พระภิกษุสงฆ์ของนางยักษิณี ที่เข้าถึงรสพระธรรมเมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ก๋วยสลากของชาวล้านนามี 3ประเภท คือ ก๋วยซอง สำรับหรือก๋วยตี๋นจ๊างและสลากโชค (คล้ายต้นผ้าป่า) ทั้งนี้ เนื่องจากในอดีต “เมืองท่าปลา” เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของล้านนาตะวันออกมี “นครน่าน” เป็นศูนย์กลางการปกครอง ดังนั้น ประเพณีตานก๋วยสลากจึงอยู่คู่กับคนท่าปลามานานอย่างไรก็ตามแม้ในภาพรวมของอำเภอท่าปลาจะเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของล้านนาตะวันออก แต่พบว่าในอดีตประเพณีตานก๋วยสลากไม่ใช่ประเพณีปฏิบัติของชาวท่าปลาทั้งอำเภอ มีเพียงชาวตำบลจริม ตำบลหาดล้าและตำบลท่าแฝกเท่านั้นที่จัดประเพณีตานก๋วยสลาก ส่วนตำบลท่าปลา ตำบลผาเลือดและตำบลน้ำหมันจะทำบุญลักษณะนี้เป็นประเพณี “สลากภัต”

ชาวท่าปลา 3ตำบลในเบื้องต้นจะจัดประเพณีตานก๋วยสลากขึ้นช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ของทุกปี มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหายผู้ล่วงลับไปแล้ว พ่ออุ้ยยอด นันชม ชาวบ้านหมู่ที่ 13ตำบลจริม เล่าว่า “ตามตำนานที่เล่าสืบกันต่อมานั้น ประเพณีตานก๋วยสลากเริ่มต้นขึ้น ที่ชายยาจกผู้เร่ร่อนได้นอนหลับแล้วพ่อแม่มาเข้าฝัน ว่าพวกตนอดอยากหิวโหยเนื่องจากไม่มีผู้ใดทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ด้วยเพราะความยากจนไม่มีอันจะกิน ชายยาจกจึงนำเรื่องนี้ไปขอความช่วยเหลือจากเศรษฐีคนหนึ่ง ให้ช่วยบริจาคทรัพย์หรือสิ่งของสำหรับทำบุญให้พ่อแม่ตน เศรษฐียินดีช่วยแต่ขอให้ชายยาจกสานชลอมสำหรับบรรจุของขึ้น เมื่อเสร็จแล้วตนจะบริจาคสิ่งของให้” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาการทำบุญที่เรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” จึงได้รับการสานต่อเรื่อยมาถึงปัจจุบัน นอกจากศรัทธาในพระพุทธศาสนาและความกตัญญูกตเวทีของชาวท่าปลาแล้ว ประเพณีตานก๋วยสลากมีองค์ประกอบ ดังนี้

1.สลาก 4 ประเภท

1.1 ก๋วยน้อย คือ ภาชนะคล้ายชะลอมขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 นิ้ว) สานด้วยตอกไม้ไผ่ รองด้วยใบตองพลวง ปัจจุบันใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ บรรจุน้ำ อาหารแห้ง (ข้าวสาร เกลือ พริก หอม กระเทียม ฯ) อาหารปรุงสุกจำพวกข้าวเหนียว ห่อหมก (ห่อนึ่ง) ปลาแห้ง เนื้อแห้ง ฯ ข้าวต้มมัดและผลไม้ตามฤดูกาล มัดรวบปากก๋วยแล้วตกแต่งยอดก๋วยด้วยดอกไม้ ที่หาได้ในท้องถิ่นในช่วงเวลานั้น เช่น ดอกหงอนไก่ ดอกดาวเรือง เป็นต้น

1.2 ก๋วยอุ้ม คือ ก๋วยลักษณะเดียวกับก๋วยน้อยแต่มีขนาดใหญ่กว่า (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้ว) บรรจุของเช่นเดียวกับก๋วยน้อย แต่นำกิ่งไม้ เช่น กิ่งมะขาม มาทำเป็นยอดก๋วยเพื่อแขวนสมุด ดินสอหรือของใช้อื่นๆ พร้อมด้วยปัจจัยตามกำลังศรัทธา

1.3 สลากหลวง คือ สลากที่สร้างเป็นบ้านจำลองยกพื้นสูง ตกแต่งให้สวยงามด้วยกระดาษสี บรรจุของเช่นเดียวกับก๋วยสองชนิดในเบื้องต้น แต่เพิ่มเติมเสื้อผ้าและของใช้อื่นๆเข้าไป และเพื่อบ้านจะมาร่วมสมทบเงินปัจจัยทำบุญด้วย เดิมนั้นคือสลากที่คนทั่วไปในชุมชนทำขึ้นตามปกติ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวที่มีสามเณร – พระที่เคยบวชแล้วสึกหรือยังบวชจำวัดนั้นๆ เป็นผู้ทำขึ้น

1.4 สลากก้างบุหรี่ คือ สลากที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่ แขวนหรือประกอบด้วยมวนบุหรี่ผูกเป็นแพ เงินปัจจัย ของใช้ประจำวันสบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน หวี สมุด ดินสอ เสื้อผ้า ผ้าขาวม้า เป็นต้น สลากก้างบุหรี่เป็นสลากที่ต้องอาศัยระยะเวลาในเตรียมการ คือ การมวนบุหรี่ และต้องใช้งบประมาณจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่คนที่ตานสลากก้างบุหรี่จึงค่อนข้างมีฐานะทางการเงินหรือต้องการบุญใหญ่ ตามความเชื่อของคนล้านนาที่ว่า “ทานน้ำเป๋นเศรษฐี ทานบุหรี่เป็นสะค่วย” คำว่า สะค่วย หมายถึง ผู้ที่มั่งคั่ง

2.ใบสลาก คือ ใบกำกับก๋วยสลากแต่ละชนิด ทำขึ้นจากใบลาน ใบตาล ตากแห้ง เขียนข้อความด้วยคำถิ่นท่าปลาระบุว่าก๋วยสลากนี้เป็นของผู้ใด อุทิศหรือตานไปให้ใคร กรณี “ก๋วยอุ้ม” มีตัวอย่างการเขียน เช่น “ปะทะมะ มูลศรัทธาหมายมีนาย.........(ชื่อคนตาน) ก็มีสลากก๋วยอุ้มก๋วยหนึ่งแล้วจักตานไปหาป่อผู้หนึ่งจื่อหว่า....................(ชื่อผู้ล่วงลับ) นั้นฮื้อมาฮับเอาเน้อ”

กรณี “ก๋วยน้อย” แนวทางการเขียนจะเหมือนกับก๋วยอุ้มแต่ตัดคำว่า “ปะทะมะ มูลศรัทธา” ออก แล้วเริ่มต้นด้วยคำว่า “หมายมีนาย......” เป็นต้น ส่วนใบสลากหลวงและสลากก้างบุหรี่นั้นอาจจะใช้กระดาษเขียนระบุชื่อผู้ตานและผู้รับเท่านั้น เนื่องจากเป็นสลากที่ต้องนิมนต์พระสงฆ์มากรวดน้ำให้

ในกรณีที่บ้านหลังใดมีสมาชิกครอบครัวเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ในบ้านจะทำก๋วยสลากขึ้นเพื่ออุทิศหรือตานไปหาเทวดาประจำตัวของเด็กคนนั้น เพื่อบันดาลให้เด็กมีความแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยและมีความเฉลียวฉลาด โดยเด็กชายขึ้นต้นด้วยคำว่า “ตะละก๋า” ส่วนเด็กผู้หญิงขึ้นต้นด้วยคำว่า “กุมารี”

3.ธรรมเนียมปฏิบัติ ประเพณีตานก๋วยสลากของแต่ละวัดมักจะจัดขึ้นไม่พร้อมกัน เนื่องจากชาวบ้านที่ถือปฏิบัติประเพณีนี้ จะเดินทางไปร่วมประเพณีที่แต่ละวัดจัดขึ้นหมุนเวียนกันไป ในวันงานเมื่อชาวบ้านไปถึงวัดแล้วจะนำใบสลากของครอบครัวตน (แยกใบสลากแต่ละประเภท) ไปส่งให้คณะกรรมการวัด เพื่อตรวจนับจำนวนก๋วยสลากที่ชาวบ้านนำมาร่วมในปีนี้ โดยแยกเป็น 2 กอง คือ ใบสลากก๋วยอุ้มกับใบสลากก๋วยน้อย ก่อนจะผสมใบสลากแต่ละกอง เรียกว่า “สูนใบสลาก” เพื่อให้ใบสลากของแต่ละครอบครัวที่นำก๋วยสลากมาร่วมงานแยกจากกัน หลังเสร็จพิธีทางศาสนาพระสงฆ์ที่มาร่วมงานฉันเพลแล้ว คณะกรรมการวัดจึงนำใบสลากก๋วยน้อยแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่มาร่วมงาน นำไปอ่านให้เจ้าของก๋วยสลากฟังด้วยเสียงอันดังและออกเสียงเป็นสำเนียงท่าปลา ส่วนใบก๋วยอุ้ม สลากหลวงและสลากก้างบุหรี่นั้น แจกจ่ายให้พระสงฆ์ที่มาร่วมทำพิธี เพื่อนำไปกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับที่ระบุไว้ในใบสลากนั้นๆกรณี สลากหลวงและสลากก้างบุหรี่ เจ้าของสามารถกำหนดเองว่าประสงค์จะให้สามเณรหรือพระรูปใดเป็นผู้มากรวดน้ำให้ เรียกวิธีนี้ว่า “จูด”

ประเพณีตานก๋วยสลากนับเป็นอีกประเพณีหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของคนท่าปลา ที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทุกกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบของประเพณี ล้วนแฝงด้วยภูมิปัญญาที่มีคุณค่าของบรรพบุรุษ ที่นอกจากต้องการให้คนในชุมชนสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษแล้วยังมุ่งให้เกิดความรักสามัคคีกัน ปัจจุบันพบว่า บางแห่งนำภาชนะอื่นมาบรรจุสิ่งของใช้แทน “ก๋วยสลาก” ทำให้ความงดงามและวิถีแห่งล้านนาเดิมเปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับชาวท่าปลาแล้วยังคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งสิ่งที่บรรพบุรุษสืบทอดมาอย่างมั่นคง

(เขียนและเรียบเรียงโดย สมชาย ธรรมใจ)

วัดปากลี หมู่ที่ 13 ตำบลจริม อำเภอท่าปลา มีการจัดงานประเพณีตานก๋วยสลากเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นประจำทุกปี โดยมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมอันดีงามให้กับลูกหลานได้สืบสาน รักษา และต่อยอดวัฒนธรรม ภายในงานมีการประกวดก๋วยอุ้มใหญ่ของแต่ละคุ้ม การแข่งขันการตีกลองปู่จาอำเภอท่าปลา และมหรสพสมโภช อาทิ รำวงย้อนยุค มวยไทย

สถานที่ตั้ง
วัดปากลี
หมู่ที่/หมู่บ้าน 13
ตำบล จริม อำเภอ ท่าปลา จังหวัด อุตรดิตถ์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สมชาย ธรรมใจ เพจวิถีท่าปลา
บุคคลอ้างอิง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ อีเมล์ uttaraditculture65@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ อีเมล์ uttaraditculture65@gmail.com
ถนน ประชานิมิตร
ตำบล ท่าอิฐ อำเภอ เมืองอุตรดิตถ์ จังหวัด อุตรดิตถ์ รหัสไปรษณีย์ 53000
โทรศัพท์ 055 403092 โทรสาร 055 403093
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/uttaradit
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่