ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 47' 3.651"
16.7843475
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 35' 44.8778"
99.5957994
เลขที่ : 197664
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้ามัดหมี่ บ้านลานไผ่ จังหวัดกำแพงเพชร
เสนอโดย กำแพงเพชร วันที่ 23 ธันวาคม 2565
อนุมัติโดย กำแพงเพชร วันที่ 3 มกราคม 2566
จังหวัด : กำแพงเพชร
0 236
รายละเอียด

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้ามัดหมี่ บ้านลานไผ่ จังหวัดกำแพงเพชร

1. ข้อมูลโดยทั่วไปของชุมชนชุมชนบ้านลานไผ่

ที่ตั้งหมู่ที่ 9 ตำบลห้วยยั้ง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาตั้งถิ่นฐานจากชุมชนต่างถิ่น ซึ่งการมาตั้งถิ่นฐานจนเกิดเป็นหมู่บ้านลานไผ่ ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานการทอผ้าจากภาคอีสาน หมู่บ้านลานไผ่ เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่มีอาชีพหลักคือ เกษตรกรรม และมีการประกอบอาชีพเสริมจากการทำการเกษตรเพื่อหารายได้เพิ่มเติมจากอาชีพหลัก คือ การทอผ้าไหม ซึ่งเป็นการทอผ้าไหมมีอัตลักษณ์ในเรื่องความแตกต่างของเนื้อผ้า สีสัน ลวดลาย การใช้สีย้อมจากธรรมชาติ โดยใช้วัตถุดิบในชุมชนที่มีอยู่แล้ว ซึ่งผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและได้รับการรับรองลายนกยูงจากกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ตาก กรมหม่อนไหม เป็นหน่วยงานราชการที่เข้ามาให้การส่งเสริม สนับสนุน ให้มีการอนุรักษ์เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนและดำเนินการต่อยอดให้เกิดมูลค่ามากยิ่งขึ้น

2. การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้ามัดหมี่ของชุมชนบ้านลานไผ่

กลุ่มผ้าทอบ้านลานไผ่ ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาตั้งถิ่นฐานจากชุมชนหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานและมีพื้นฐานและความสามารถในการทอผ้า คนในชุมชุนมีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม และสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งมีอัตลักษณ์ในความแตกต่างของเนื้อผ้า สีสัน ลวดลาย การย้อมธรรมชาติ โดยใช้วัตถุดิบในชุมชน ซึ่งผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ได้รับการรับรองลายนกยูงจากกรมหม่อน และได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย กลุ่มผ้าทอบ้านลานไผ่ เป็นการรวมกลุ่มของคนในชุมชนที่มีความสามารถในการทอผ้าไหมมัดหมี่ เพื่อสร้างรายได้เสริม โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านลานไผ่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญา และเพื่อจัดจำหน่ายเป็นการสร้างอาชีพเสริมให้แก่ครอบครัว โดยมีนางดอกไม้ พลเคน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านลานไผ่ เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ และมีสมาชิกกว่า 30 คน โดยได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากคณะกรรมการหมู่บ้าน และนายขจรศักดิ์ อินทพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยั้ง รวมถึงส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่

3. กระบวนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้ามัดหมี่

3.1 การเลี้ยงไหม

วงจรชีวิตของไหมหรือหนอนไหมใช้เวลาประมาณ 45 - 52 วัน หนอนไหมจะกินใบหม่อนหลังจากฟักออกจากไข่ประมาณวันที่ 10 จากนั้นจะหยุดกินอาหารและลอกคราบ ระยะนี้เรียกว่า “ไหมนอน” ต่อจากนั้นจะกินนอนและลอกคราบประมาณ 4 ครั้งเรียกว่า “ไหมตื่น” ลำตัวจะมีสีขาวเหลืองใสหดสั้น และหยุดกินอาหาร ระยะนี้เรียกว่า “หนอนสุก” ช่วงนี้ ต้องรีบแยกหนอนไหมสุกออกจากกองใบหม่อน และเตรียม “จ่อ” คืออุปกรณ์ที่จะให้ตัวไหมเกาะเพื่อชักใยห่อหุ้มตัวหนอนจะเริ่มพ่นใยได้ประมาณ 6 - 7 วัน ก็จะสามารถเก็บรังไหมออกจากจ่อได้ เส้นใยของหนอนเกิดจากการขับของเหลวชนิดหนึ่ง มีสารโปร่งแสงเป็นองค์ประกอบ ใยไหมที่เห็นแต่ละเส้นจะประกอบด้วยเส้นใยเล็กๆ สองเส้นรวมกัน สามารถฉีกแยกออกจากกันได้ ทั้งนี้รังไหมแต่ละรังจะให้สายไหมที่มีขนาดแตกต่างกัน ชั้นนอกสุดของรังจะมีความละเอียดพอสมควร ชั้นกลางจะเป็นเส้นหยาบและชั้นในสุดจะเป็นเส้นไหมที่ละเอียดที่สุด ซึ่งหนอนไหมแต่ละตัวจะชักใยยาวไม่เท่ากัน อาจสาวได้ยาวตั้งแต่ 350 - 1,200 เมตร หนอนไหมจะเจาะรังออกมาเป็นผีเสื้อเมื่ออยู่ในรังครบ 10 วัน ซึ่งผู้เลี้ยงจะคัดไหมที่สมบูรณ์ไว้ทำพันธุ์ ส่วนที่เหลือนำไปสาวไหมก่อนที่ผีเสื้อจะเจาะรังออกมา ซึ่งเส้นจะขาดและทำเส้นไหมไม่ได้

3.2 การทำเส้นไหม

เส้นไหมได้มาจากการนำรังของตัวไหมมาปั่นเป็นเส้นใย เส้นไหมนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่เด่นกว่าเส้นฝ้ายคือ มีความเหนียวทนทานและมีประกายเงางามขั้นตอนเตรียมเส้นไหม จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. การเตรียมเส้นไหมพุ่ง การเตรียมเส้นไหมพุ่ง จะเป็นการเตรียมเส้นไหมเพื่อตรียมพร้อมสำหรับการนำไปมัดหมี่ โดยใช้เครื่องมือในการการค้นลำหมี่ โดยการนำเส้นไหมที่กวักเรียบร้อยแล้ว มาทำการค้นปอยหมี่ เพื่อให้ได้ลำหมี่พร้อมสำหรับการไปมัดหมี่ในกระบวนการต่อไป

2. การเตรียมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) โดยการค้นหูกหรือค้นเครือ คือ กรรมวิธีนำเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือ ไปค้น (กรอ) ให้ได้ความยาวตามจำนวนผืนของผู้ทอผ้าไหมตามที่ต้องการ ไหมหนึ่งเครือจะทำให้เป็นผ้าไหมได้ประมาณ 20 - 30 ผืน (1 ผืนยาวประมาณ 180 - 200 เซนติเมตร)

3.3 การกรอไหม

การกรอเส้นไหม เป็นการนำเส้นไหมที่ย้อมแห้งดีแล้วมาปั่นเก็บไว้ อุปกรณ์ประกอบด้วย เครื่องกรอไหม ในกรอขนาดต่างๆหรือจักกวัดไหมและระวิง สิ่งที่ใช้เก็บเส้นไหมที่กรอแล้ว มักจะใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น กระป๋องหรือหลอดพลาสติก เป็นต้น การกรอเส้นไหมมีวัตถุประสงค์ที่จะแยกเส้นไหมให้ออกเป็นเส้นๆ ไม่ให้ติดหรือพันกัน และเป็นการสำรวจเส้นไหมให้มีความเรียบร้อย ไม่ขาด ซึ่งจะช่วยให้สะดวกในการสาวไหม อันเป็นกรรมวิธีในขั้นตอนต่อไป

3.4 การสาวไหม

การสาวไหมในภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “การโว้นไหม” หรือ “โว้นหูก” คือการนำเส้นไหมยืนที่กรอแล้วไปสางในรางสาวไหมหรือม้าเดินได้ทีละเส้น โดยให้มีจำนวนเส้นไหมครบตามจำนวนช่องฟันหวีที่ต้องการจะใช้ อุปกรณ์ที่ใช้ในการสาวไหมประกอบด้วย ม้าเดินได้ ไม้ไขว้หลัง และหลักตั้งตลอด ในการสาวไหมลงช่องของฟันหวี กำหนดให้ 1 ช่องฟันหวีจะต้องใช้เส้นไหมยืน 2 เส้น ดังนั้นถ้าหากใช้ฟันหวีซึ่งมีช่อง 2000 ช่อง จะต้องนับไหมเส้นยืนให้ครบ 4000 เส้น เป็นต้น สำหรับไม้ไขว้หลังเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการสาวไหม โดยจะมีไว้ที่รางสาวไหมรางที่ 1 เพื่อให้เส้นไหมเรียงลำดับกันไปตลอด เป็นการป้องกันเส้นไหมพันกัน

3.5 การเข้าฟันหวีหรือฟืม

ฟันหวี หรือ ฟืม เป็นเครื่องมือใช้สำหรับลางเส้นไหมให้เป็นระเบียบ และมีประโยชน์ในการทอโดยใช้กระทบไหมเส้นพุ่งให้ขยับเข้าขัดกับไหมเส้นยืนหรือสานให้เป็นผืนผ้าออกมาอย่างสวยงาม อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย แท่นอัดก๊อปปี้ ม้าหมุน ไม้เขี่ยเส้นไหม ไม้ขนัดสำหรับแยกไขว้ และฟันหวี ฟันหวีแต่เดิมทำด้วยไม้เป็นซี่ๆ โดยมีขอบ ยึดไว้ทั้งข้างบนและข้างล่าง หัวและท้าย เพื่อยึดฟันหวีให้สม่ำเสมอและคงทน แต่การทำฟันหวีด้วยไม้นั้น ช่วงห่างของฟันหวีไม่สม่ำเสมอและโยกได้จึงทำให้ผ้าไหมทอออกมาไม่สม่ำเสมอ ขาดความสวยงามและคุณภาพ ต่อมาได้มีการทำฟันหวีด้วยทองเหลืองจึงทำให้คุณภาพของผ้าที่ทอดีขึ้น แต่ก็ประสบปัญหาคือ เกิดสนิมทองเหลืองติดตามเนื้อผ้าที่ทอออกมาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผ้าไหมสีอ่อนๆเช่น สีขาว สีครีม เป็นต้น การใช้ฟันหวีด้วยทองเหลืองจึงเลิกไป ปัจจุบันฟันหวีทำด้วยสแตนเลส ซึ่งมีความงดงามสม่ำเสมอและไม่โยก ไม่มีสนิมทำให้ได้ผ้าทอที่มีความสวยงามการเข้าฟันหวี หือ การนำไหม เส้นไหมที่สาวแล้วไปเข้าฟันหวี โดยก่อนเข้าฟันหวีนำไหมไปเข้าเครื่องหนีบ (Copy) เพื่อยึดเส้นไหมด้านหนึ่งเอาไว้ แล้วใส่เส้นไหมลงไปในช่องฟันหวีช่องละ 2 เส้น ดังนั้นในการเข้าฟันหวีจึงต้องใช้คน 2 คน ช่วยกันทำ โดยคนหนึ่งเป็นคนส่งเส้นไหมเข้าช่องอีกคนหนึ่งช่วยดึงฟันหวีให้ห่างและใช้ตะขอเกี่ยวเส้นไหมเข้าช่องฟันหวี ฟันหวีจะช่วยสางเส้นไหมให้เป็นระเบียบและสม่ำเสมอ

3.6 การเข้าหัวม้วน

การเข้าหัวม้วน คือ การนำเส้นไหมยืนที่สางด้วยฟันหวีเป็นระเบียบดีแล้วไปเข้าหัวม้วน เมื่อม้วนเส้นไหมได้ทุกๆ 5 เมตร จะใช้ทางมะพร้าวสอดกันไว้ 2 - 3 ก้าน ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะหมดการใส่ทางมะพร้าวไปด้วยนี้มีประโยชน์หลายประการ คือ ป้องกันเส้นใยไหมบาดกันเอง เมื่อไหมขาดจะหารอยต่อได้ง่าย ขณะทอจะทำให้ทราบว่า ทอไปเป็นความยาวเท่าไรแล้ว โดยการนับทางมะพร้าว

3.7 ขั้นตอนการทอผ้า

เริ่มจากนำเส้นด้ายหรือไหมมาย้อมสีแล้วมัดบริเวณที่ ต้องการเก็บไว้ เมื่อนำไปย้อมสีอื่นจะได้ไม่ติดสี เพียงซึมเข้ามาบางส่วน โดยย้อมเรียงลำดับจากสีอ่อนไปหาสีเข้มจนครบ ตามลวดลายที่กำหนด หลังจากนั้นจึงนำด้ายกรอเข้าหลอดตามลำดับ แล้วนำไปทอจะเกิดลวดลายบนผืนผ้าที่มีลักษณะคลาดเคลื่อนเหลื่อมล้ำ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมัดหมี่

คำสำคัญ
ทอผ้าลานไผ่
สถานที่ตั้ง
ตำบลห้วยยั้ง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร
หมู่ที่/หมู่บ้าน 9
ตำบล ห้วยยั้ง อำเภอ พรานกระต่าย จังหวัด กำแพงเพชร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง ศราวุฒิ โยชนะ อีเมล์ pm.kppculture@gmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่