น้ำบูดู เป็นอาหารพื้นเมืองที่มีลักษณะเป็นน้ำ โดยการนำเนื้อปลามาผ่านกระบวนการและกรรมวิธีจนเป็นน้ำข้นๆ ใช้สำหรับเครื่องปรุงหรือรับประทานเป็นน้ำพริกคู่กับผัก
นางสาวฮามีด๊ะ หะยีอาซิ อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 195/2 หมู่ที่ 1 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เป็นภูมิปัญญาท่านหนึ่งที่ได้ทำน้ำบูดูตลอดระยะเวลามากกว่า 20 ปี โดยการทำน้ำบูดู นั้นนำปลาทะเลที่เหลือจากการจำหน่ายหรือการบริโภคให้สามารถเก็บไว้บริโภคได้เป็นเวลานาน น้ำบูดูมีลักษณะคล้ายน้ำปลาแต่น้ำข้นกว่า น้ำบูดูบางชนิดจะมีเนื้อของปลาที่ยังย่อยสลายไม่หมดผสมอยู่ด้วย บางชนิดก็จะนำไปผ่านความร้อน และกรองส่วนที่เป็นเนื้อปลาออก ทำให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะเป็นน้ำสีน้ำตาลเข้มและข้นเล็กน้อยนอกจากนี้ยังมีการปรุงรส โดยการเติมส่วนผสมอื่น เช่น น้ำตาลทำให้น้ำบูดู มีรสหวาน กรรมวิธีการผลิตน้ำบูดูจะใช้ปลาทะเลขนาดเล็ก คือ ปลากะตัก นำมาหมักกับเกลือ เพราะการใช้ปลากะตักทำน้ำบูดูนั้นจะทำให้ได้น้ำบูดูที่มีรสชาติดีกว่าปลาชนิดอื่นๆ น้ำบูดูมีคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และ วิตามิน รวมทั้งแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก น้ำบูดูเป็นผลิตภัณฑ์ปลาหมักของคนใต้คล้ายกับปลาร้าของคนอีสานซึ่งต่างกันตรงวัตถุดิบที่ใช้ แต่เหมือนกันที่คุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากอดีตถึงปัจจุบัน
วัตถุดิบในการผลิต
1. น้ำ 2. ปลากะตัก 3. เกลือสมุทร 4. กะบะไม้ขนาดใหญ่
5. บ่อหมักซิเมนต์หรือโอ่งมังกร 6. ไม้ไผ่ขัดแตะ ถุงกระสอบเกลือ 7. ไม้พาย ฝาปิด
8. กะละมัง/ภาชนะใส่ปลา
กระบวนในการผลิต
1. ปลากะตักและเกลือ ใช้ส่วนผสม 3 ต่อ 1 โดยนำปลาคลุกกับเกลือหมักในบ่อหมักหรือโอ่ง ไห ปิดฝาให้สนิท ใช้เวลาหมัก 1 ปี กระบวนการผลิตบูดูนั้นเริ่มด้วยการนำปลาทะเลสด ซึ่งอาจจะใช้ปลาชนิดใดก็ได้ แต่สำหรับกลุ่มผลิตน้ำบูดูอำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส จะนิยมใช้ปลากะตัก เพราะจะได้บูดู ที่มีกลิ่นเฉพาะตัว และรสชาติดี ผู้ผลิตจะซื้อปลากะตักจากชาวประมงที่สด ใหม่ หลังจากนั้นจึงนำปลากะตักมาล้างให้สะอาด แล้วเติมเกลือสมุทรประเภทหยาบลงไป โดยใช้อัตราส่วน ปลากะตัก ต่อเกลือ 3 : 1 ตามน้ำหนัก
2. จากนั้นคลุกให้เข้ากันโดยใช้ไม้พาย เมื่อคลุกปลากะตักกับเกลือเข้ากันดีแล้ว ก็จะนำไปใส่ในโอ่งดินหรือบ่อซีเมนต์ หรือโอ่ง ไห ต่างๆ ซึ่งที่เรียกว่า “บ่อบูดู” มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร สูง 1 เมตร แล้วใช้กระสอบหรือผ้าคลุมปิดไว้ เพื่อคอยให้ปลานั้นยุบตัวลงไปอีก (สาเหตุที่ต้องคอยให้ปลายุบตัวลงไป เพราะว่าในการหมักจะต้องพยายามให้มีอากาศเข้าไปในบ่อบูดูน้อยที่สุด) แล้วจึงเติมปลาและเกลือที่คลุกแล้วลงไปอีกจนเกือบเต็ม โดยเว้นปริมาตรบางส่วนของบ่อบูดูไว้ เผื่อให้ก๊าซที่เกิดจากการหมักดันฝาปิดบ่อบูดู เมื่อปลาในบ่อบูดูอัดแน่นดีแล้วจึงปิดบ่อบูดูให้มิดชิดด้วยกระสอบ อาจใช้ไม้ไผ่สานหรือกระเบื้องหลังคาปิดทับ ระยะเวลาการหมักจะใช้เวลาประมาณ 8 - 12 เดือน โดยระหว่างการหมักจะไม่เปิดบ่อบูดู