กระเป๋าย่านลิเภาเป็นเครื่องจักสานเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กลุ่ม ศิลปาชีพย่านลิเภา บ้านบูเกะสูดอ หมู่ที่ ๒ บ้านบูเกะสูดอ ตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดย นางสาวคอไซม๊ะ ดีเย๊าะ ประธานกลุ่มศิลปาชีพย่านลิเภา บ้านบูเกะสูดอ ได้ชักชวนสตรีในหมู่บ้านมาทำผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่มีมากในชุมชน กระเป๋าย่านลิเภา รูปทรงมีหลายรูปแบบ ลวดลายจะทำลายลูกแก้วลายดอกไม้ หรือลวดลายตามความต้องการ สีของกระเป๋าเป็นสีของย่านลิเภา มีสองสี คือ สีน้ำตาลและสีดำ (สีธรรมชาติ) นางคอไซม๊ะ ดีเยาะ สนใจที่จะเรียนรู้และฝึกฝนการทำกระเป๋าจากย่านลิเภา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับความรู้จากครูภูมิปัญญาท่านหนึ่งที่เข้ามาอบรมและฝึกสอน การจักสานกระเป๋า กระเป๋าใบแรกที่ทำออกมานั้นเมื่อส่งให้ครูตรวจดู มีข้อบกพร่องน้อยมาก และได้รับคำชื่นชมจากครูผู้สอน ทำให้มีกำลังใจและคิดที่จะสานกระเป๋าย่านลิเภาต่อไป และด้วยต้นทุนในการทำกระเป๋าย่านลิเภาแต่ละใบนั้นไม่มาก แต่สามารถจำหน่ายได้ในราคาแพงเพราะการจักสานกระเป๋าย่านลิเภาแต่ละใบต้องใช้ความอดทน เพราะวัสดุทุกอย่างสามารถหาได้ตามท้องถิ่นหรือพื้นที่ใกล้เคียง มีฝีมือที่ประณีตความละเอียดอ่อนความสวยงามของกระเป๋าในการจักสาน
ปัจจุบัน นางคอไซม๊ะ ดีเยาะ ได้นำย่านลิเภามาจักราสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋าย่านลิเภา ถาดย่านลิเภา ที่คาดผมย่านลิเภา และกำไลย่านลิเภา เพื่อเป็นการสร้างรายได้แก่ตนเอง และครอบครัว
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
๑. ลวดลายสวยงาม
๒. มีความละเอียดประณีต สวยงาม มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์
วัสดุอุปกรณ์การจัดทำกระเป๋าย่านลิเภา
๑. ลิเภา/ย่านลิเภา
๒. หวาย
๓. เหล็กแหลม
๔. มีด
๕. แผ่นโลหะเจาะรู
๖. กระดาษทราย
๗. แป้นรูดหวาย
กระบวนการในการผลิตกระเป๋าลิเภา
๑. นำย่านลิเภามาฉีกให้เป็นเส้น แล้วนำไปแช่น้ำให้ชุ่ม นำขึ้นมาฉีกให้เป็นเส้นฝอยๆ
๒. นำฝากระป๋องนมมาเจาะ ๕ รู ให้มีขนาดเรียงลำดับจากช่องใหญ่ไปยังช่องเล็กที่สุด นำย่านลิเภาที่เป็นเส้นฝอยมารูดทีละช่องจนถึงช่องที่เล็กสุด จะได้ย่านลิเภาเส้นเล็ก ทำทีละมากๆ เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้ โดยส่วนที่ยังไม่ใช้ให้ใส่ถุงพลาสติกแช่ในตู้เย็นเพื่อเก็บความชื้นไว้ จะง่ายต่อ การสานเพราะเมื่อเส้นลิเภาแห้งจะสานได้ยาก
๓. ใช้หวายเป็นแกนนำในการสาน โดยนำฝากระป๋องนมมาเจาะ ๕ รู ให้มีขนาดเรียงลำดับจากช่องใหญ่ไปยังช่องเล็กสุด คนละอันกับฝากระป๋องนมสำหรับทำเส้นลิเภา เมื่อได้หวายตามขนาดที่ต้องการ แล้วมาขัดกับกระดาษทรายเพื่อให้เศษที่ติดกับหวายนั้นออกจนหมด
๔. นำหวายมาขดเป็นวงรีหรือรูปแบบตามที่ต้องการเพื่อทำวงสำหรับข้อมือ และที่คาดผม นำเส้นลิเภาที่เตรียมไว้มาสาน โดยใช้เหล็กปลายแหลมเจาะนำที่หวายให้เป็นรู แล้วนำเส้นลิเภาสอดเข้าไป โดยใช้วิธีสานสลับเดินหน้า เวลาสานมุมโค้งต้องใช้ความละเอียด สานจนได้ขนาดกำไลและที่คาดผม
๕. เมื่อสานวงข้อมือและที่คาดผม หรือผลิตภัณฑ์ขนาดที่ต้องการแล้ว นำหวายมาขดเป็น วงรีวางให้เหลื่อมวงข้อมือและที่คาดผม หรือผลิตภัณฑ์ เพื่อขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ถ้าต้องการ ให้มีลวดลายใช้วิธีสานกลับด้านเส้นลิเภา ซึ่งจะมีสีอ่อนกว่าเล็กน้อย ระหว่างสาน ใช้มีดขูดเส้นลิเภาเพื่อความเรียบ
๖. เมื่อสานจนเสร็จเรียบร้อยแล้วสามารถนำไปใช้ได้เลย