นายสมเจตน์ สะตาปอ เจ้าของโรงงานทุเรียนกวน แฟมีลี่เกษตรพาณิชย์ ทายาท รุ่นที่ ๒ ของตระกูลทุเรียนกวนได้ต่อยอดธุรกิจจากบิดาชื่อว่า นายสะมะแอ สะตาปอ บิดาได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของการแปรูปผลทุเรียนทำเป็นทุเรียนกวนครั้งแรกว่า ในสมัยอดีตผลทุเรียนที่มีจำนวนมากทำให้ผลทุเรียนล้นตลาด ขายไม่ออก รับประทานไม่หมด เมื่อเก็บหลายวันลูกทุเรียนก็จะแตกและเนื้อทุเรียนจะเน่าเสีย มีรสเปรี้ยว โดยชาวบ้านโต๊ะเล็ง ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง คนแรกที่คิดค้นนำผลทุเรียนที่มีจำนวนมากมาแปรรูปทำเป็นทุเรียนกวน คือ นายปะจูเซ็ง สาแม (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เป็นบุคคลดั้งเดิมแห่งหมู่บ้านโต๊ะเล็งที่มีสวนทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านจำนวนมาก ได้นำผลทุเรียนที่มีจำนวนมากมาแปรรูปทำเป็นทุเรียนกวน วิธีทำคือ นำลูกทุเรียนมาปอกเปลือกแล้วแกะเนื้อทุเรียนสุกออกจากเปลือกและเมล็ด เมื่อได้เนื้อทุเรียนแล้วมาใส่กระทะ กวนอย่างสม่ำเสมอจนเนื้อทุเรียนสุก ทุเรียนกวนที่กวนเสร็จเรียบร้อยแล้วนำมาห่อในกาบหมากแล้วผูกเชือก ไปไว้บนพล้า ภาษามลายู เรียกว่า “บารอ”ทุกวันที่ก่อไฟประกอบอาหารความร้อนและควันไฟจะไปปะทะกับของบนพล้า จึงถือว่าเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งเพื่อต้องการให้เนื้อทุเรียนกวนอยู่ได้นาน หลังจากที่นายปะจูเซ็ง สาแม สามารถแปรรูปเนื้อทุเรียนทำเป็นทุเรียนกวนได้ก็ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญา การทำทุเรียนให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านโต๊ะเล็ง จึงทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านโต๊ะเล็ง หมู่ที่ ๓ ตำบลบูกิต ทำทุเรียนกวนกันอย่างแพร่หลายเพื่อเก็บไว้รับประทานทุเรียนกวนในครอบครัว แจกให้กับญาติ เพื่อนบ้านและเป็นของฝากให้กับญาติมิตร ต่อมาคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ที่ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ในตำบลบูกิต บ้านโต๊ะเล็ง ชื่อว่า นายกอฮง (ฉายาเถ้าแก่ไก่) ได้เห็นผลทุเรียนในพื้นที่ตำบลบูกิตที่มีจำวนวนมาก และมีราคาถูกในช่วงฤดูกาลทุเรียน เขาได้ก่อตั้งโรงงานผลิตทุเรียนกวนแห่งแรกของตำบลบูกิต โดยรับซื้อผลทุเรียนและเนื้อทุเรียนจากชาวบ้าน และจ้างคนในพื้นที่รับจ้างกวนทุเรียน ต่อมาธุรกิจการทำทุเรียนกวนของคนจีน ในพื้นที่ตำบลบูกิตเจริญรุ่งเรือน และมีคนจีนที่อาศัยในตำบลบูกิตทำโรงงานผลิตทุเรียนกวน ๓ เจ้า ได้แก่ แม่กุย โงเจ๊ะ และอาซัม ด้วยธุรกิจการทำทุเรียนกวนของตำบลบูกิตได้สร้างชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่นและต่างประเทศ และสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของโรงงานและคนในพื้นที่ ทำให้คนในพื้นที่เริ่มให้ความสำคัญ และริเริ่มเปิดโรงงานการทำทุเรียนเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๐ - จนถึงปัจจุบัน การผลิตทุเรียนกวนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังคงรักษาความเป็นภูมิปัญญาการทำทุเรียนกวนเดิมของท้องถิ่นเอาไว้ โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านแท้จากเทือกเขาบูโด เนื้อหวาน อร่อย ไม่เหมือนทุเรียนกวนจากที่อื่น ปลูกตามวิถีธรรมชาติ ไม่มีสารเคมี แล้วนำมากวนโดยกระบวนการผลิต ๒ วิธี ดังนี้
๑. การกวนทุเรียนแบบเตาไม้ฟื้นโดยใช้แรงงานคนในการกวน
๒. การกวนทุเรียนโดยใช้เครื่องกวนทุเรียนประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาชาวบ้าน
การกวนใช้เนื้อทุเรียนแท้ ๑๐๐% ไม่ผสมแป้ง การผลิตทุเรียนกวนทุกขั้นตอนตั้งแต่ขั้นตอนแรก การซื้อวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การบรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง ต้องสะอาดและถูกหลักอนามัย รสชาติทุเรียนกวนต้องอร่อย หวานมัน เนื้อละเอียดเหนียว มีกลิ่นหอม และมีสีเหลืองสวย ผลิต สด ใหม่ วันต่อวัน โดยเป็นสินค้าคุณภาพผ่านมาตรฐาน อย. ฮาลาล และ GMP เมื่อพูดถึงอำเภอเจาะไอร้อง ตำบลบูกิตต้องนึกถึงทุเรียนกวนตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เพราะเป็นทุเรียนกวนที่อร่อยเลิศ วัตถุดิบเนื้อทุเรียนแท้จากเทือกเขาบูโด