น้ำพริกกะทิชอง ชื่อเรียกในท้องถิ่น พริกกะทิ ชื่อภาษาอื่น (ภาษาชอง) ลุกกะทิชอง กลุ่มชาติพันธุ์ชองซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของภาคตะวันออก ที่ปัจจุบันถูกกลืนกลายเป็นคนไทยจนเกือบหมด ยังคงพบได้มากที่สุดในพื้นที่ตำบลตะเคียนทอง ตำบลคลองพลู และตำบลจันทเขลม อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี แต่เดิมกลุ่มชาติพันธุ์ชองอาศัยอยู่ในป่า ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย อยู่กับกับธรรมชาติ ประกอบอาชีพหาของป่า ล่าสัตว์ ชาวชองจะต้องเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์และหาของป่าครั้งละหลายวัน จึงเกิดเมนูน้ำพริกกะทิชองขึ้น ซึ่งน้ำพริกกะทิชองนั้นถือเป็นเมนูหลักที่กลุ่มชาติพันธุ์ชองใช้เป็นเสบียงระหว่างเข้าป่า เนื่องจากใช้วัตถุดิบหลักที่หาได้ง่าย ไม่ใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ และใช้ภูมิปัญญาในการเคี่ยวกะทิจนแตกมัน ทำให้น้ำพริกสามารถเก็บได้นานกว่า ๓ วัน โดยไม่บูดและไม่เสียรสชาติ อีกทั้งมีรสชาติเผ็ดร้อน และอร่อยถูกปาก และสามารถรับประทานร่วมกับผักที่หาได้ทั่วไปในป่า
ปัจจุบันน้ำพริกกะทิชอง ได้รับการพัฒนาโดยใส่เนื้อสัตว์อาทิเช่น หมูสับ กุ้งสับ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับประทาน และถูกใช้เป็นเมนูต้อนรับนักท่องเที่ยว หากแต่เมื่อได้ลิ้มลองน้ำพริกกะทิชองสูตรดั้งเดิมแล้ว ก็เอร็ดอร่อยไม่แพ้สูตรที่ใส่เนื้อสัตว์ และยังเป็นเมนูเพื่อสุขภาพเมนูหนึ่ง
เครื่องปรุง/ส่วนผสม (สูตรดั้งเดิม)
๑. พริกขี้หนูสด ๑ กำมือ
๒. ใบมะกรูดหั่นฝอย ๕ ใบ
๓. เกลือ ๑/๒ ช้อนชา
๔. กระเทียม ๑ หัว
๕. หัวหอม ๓ หัว
๖. น้ำกะทิ ๑ ถ้วย
๗. กะปิ ๑ ช้อนโต๊ะ
ขั้นตอนการทำ
๑. นำพริกขี้หนูสด กระเทียม หัวหอม มาโขลกให้แหลก
๒. เติมเกลือและกะปิ โขลกต่อจนละเอียดและเข้ากันดี
๓. นำกระทะตั้งไฟเปิดไฟอ่อนๆ รอจนกระทะร้อน ใส่น้ำกะทิลงไป เคี่ยวให้เดือดจนกะทิแตกมัน
๔. ใส่ส่วนผสมของน้ำพริกที่โขลกเตรียมไว้ลงผัดกับน้ำกะทิ จนส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันดี เพิ่มรสชาติด้วยการเติมเกลือเล็กน้อย
๕. เมื่อได้รสชาติที่ต้องการแล้ว ใส่ใบมะกรูดหั่นฝอย ผัดให้เข้ากันเล็กน้อย
๖. ตักเสิร์ฟรับประทานกับคู่กับผักสดหรือผักลวก