วัดกลางธรรมสาคร เดิมชื่อวัดโพธาราม สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณปี พ.ศ. ๒๒๘๕ เคยเป็นท่าจอดเรือ เพื่อเดินเท้าไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ต่อมาลำน้ำเปลี่ยนทางเดิน และทางน้ำเดิมกลายเป็นบุ่งน้ำหน้าวัด ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดบุ่งวัดกลาง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๐๐ มีพระอุโบสถที่มีลวดลายรูปปั้นสวยงาม ภายในอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง มีพุทธลักษณะงดงาม เป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้นผสมศิลปะแบบลาวหลวงพระบาง และมีจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่หายากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นภาพพระเวสสันดรชาดกและเทพชุมนุม ภาพจิตรกรรมฝาผนังมี ๓ ด้าน ลายปูนปั้นที่ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และตัวเหรา รวมทั้งที่ซุ้มหน้าต่างประตูมีความวิจิตรงดงามอย่างยิ่ง หน้าบันเป็นไม้จำหลักรูปครุฑจับนาค มีตราพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประดิษฐานอยู่ท่ามกลางลายเครือเถาก้านขด มีเทพพนมอยู่เป็นระยะ มีรูปสัตว์สอดแทรกอยู่ตามลายเครือเถาที่เกี่ยวพันกันไปอย่างต่อเนื่อง วัดกลางธรรมสาครได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๖ สำหรับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกลางธรรมสาคร ตั้งอยู่ภายในวัดกลางธรรมสาคร เป็นอาคาร ๒ ชั้น จัดแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชน เป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าสำหรับประชาชน