ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 18' 6.2024"
13.3017229
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 54' 10.0876"
99.9028021
เลขที่ : 197764
ถ่านไม้โกงกาง
เสนอโดย สมุทรสงคราม วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566
อนุมัติโดย สมุทรสงคราม วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
จังหวัด : สมุทรสงคราม
1 887
รายละเอียด

ในปัจจุบัน หลายครัวเรือนเลิกใช้ถ่านในการประกอบอาหาร และเปลี่ยนมาใช้เตาแก๊สที่ให้ความรวดเร็ว สะดวกสบายกว่า แต่ “ถ่าน” ที่แม้จะเหลือบทบาทในครัวเรือนไม่มากนัก แต่ก็ยังมีคุณค่าและความสำคัญกับธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจร้านอาหารปิ้งย่าง ถึงแม้ว่าก๊าซหุงต้มจะอำนวยความสะดวกมากเพียงใด แต่บางครัวเรือน ยังนิยมใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการประกอบอาหาร เพราะอาหารที่ได้จากการใช้ถ่านนั้น ให้กลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่าอาหารที่ปรุงบนเตาแก๊ส

หลายคนคงคุ้นเคยกับการเผาถ่าน เพราะเป็นอาชีพที่มีมานาน ปัจจุบันอาชีพการเผาถ่านยังคงมีอยู่ให้เห็นถ่านไม้โกงกางเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรสงคราม แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่บ้านเขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา ชาวบ้านตำบลยี่สาร นอกจากจะประกอบอาชีพประมงชายฝั่งแล้ว ส่วนหนึ่งมีอาชีพเผาถ่านไม้โกงกาง มีการสร้างเตาขนาดใหญ่ และปลูกป่าโกงกางแบบหมุนเวียนบนพื้นที่ที่มีโฉนด มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้อง
ตามกฎหมาย เพื่อตัดไม้มาเผาเป็นถ่าน จึงไม่ถือเป็นการตัดไม้ทำลายป่า หรือสร้างความความเสียแก่ระบบนิเวศในพื้นที่แต่อย่างใด เหตุผลที่เลือกใช้ไม้โกงกางในการเผาถ่าน เพราะไม้โกงกางเป็นไม้ที่โตช้า ระยะเวลาที่จะนำมาทำถ่านต้องไม่ต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งไม้จะมีความหนาแน่นสูง พอนำมาเผาถ่านจะทำให้ถ่านมีคุณภาพ ให้ความร้อนสูง มีเปลวไฟ ขี้เถ้าน้อย ไม่แตกปะทุ ชั่วโมงการเผาไหม้นานกว่าไม้ชนิดอื่น

ขั้นตอนการเผาถ่านไม้โกงกาง

1. ตัดไม้โกงกางจากแหล่งป่าปลูกในชุมชน

2. ทุบเปลือกไม้โกงกางออก เพราะเปลือกจะทำให้เผายากและได้ถ่านสีไม่สวย

3. ตัดไม้โกงกางเป็นท่อน ยาว 1.30 เมตรขนาดมาตรฐาน ที่เรียกว่า “ไม้หลา”

4. ลำเลียงไม้โกงกางเข้าเตาเผา โดยไม้ขนาดใหญ่เรียกว่า “ไม้ตั้ง”ตั้งเรียงให้ทั่วเตา และนำไม้ขนาดเล็กเรียกว่า “ไม้ซ้อน” มาซ้อนด้านบนจนเต็มเตา จากนั้นจึงปิดหน้าเตา

5. ใช้ระยะการเผาเป็นเวลา 12 - 15 วัน โดยจะมีการวัดอุณหภูมิความร้อนของเตาอยู่ตลอดเวลาและจะสังเกตจากสี กลิ่นของควันที่ออกมาจากเตา ถ้าควันไฟใสขึ้น แสดงว่าถ่านนั้นใกล้จะสุกดีแล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็น
ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่ง

6. พอเผาจนถ่านสุก จะทิ้งให้อุณหภูมิของเตาเย็นลงประมาณ 12 วัน และค่อยเปิดหน้าเตานำถ่านออกมา

7. นำถ่านที่ได้มาบรรจุถุงกระสอบ เพื่อเตรียมเข้าเครื่องตัดไม้ ซึ่งจะตัดตามขนาดที่ลูกค้าต้องการโดยส่วนใหญ่จะตัดประมาณ 8 นิ้ว

อีกหนึ่งผลผลิตที่ได้จากกระบวนการเผาถ่านนั้น คือน้ำส้มควันไม้ มีลักษณะเหลวสีเหลืองอมน้ำตาล ได้จากการควบแน่นของควันไฟที่เกิดจากการเผาถ่าน ใช้กับการเกษตร ป้องกันแมลงศัตรูพืช

เตาเผาถ่านไม้โกงกาง เป็นเตาขนาดใหญ่ลักษณะเป็นโดมรูปครึ่งวงกลม สร้างจากอิฐใช้ดินประสานดินชนิดนี้เรียกว่า ดินน้ำจืด นำมาจากจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ปูนทนไฟ ซึ่งจะช่วยยืดอายุเตาจากประมาณ 20 – 30 ปี เพิ่มเป็น 40 – 50 ปีต่อการก่อ 1 ครั้ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเตา 5 - 6 เมตร มีปล่องระบายควัน ด้านหน้ามีช่องทางเข้าออกเป็นประตูเตาช่องเดียว เวลาลำเลียงไม้เข้าเตา จะเรียงไม้ขนาดใหญ่เข้าไปก่อน เรียกว่า “ไม้ตั้ง” วางเป็นแนวตั้งอย่างเป็นระเบียบ จากนั้นจึงบรรจุไม้ขนาดเล็ก
เรียกว่า “ไม้ซ้อน” เรียงเป็นแนวนอนซ้อนอยู่บนไม้ตั้งจนเต็มเตา หนึ่งเตาจะบรรจุไม้โกงกางประมาณ 30 ตัน จากนั้นจึงปิดประตูเตาด้วยการก่ออิฐฉาบเหลือแค่ช่องใส่ไฟด้านล่างเท่านั้น การใส่ไฟจะใส่ตลอดเวลาของการเผาถ่าน หลังจากนั้นจึงเปิดเตาทิ้งไว้ เมื่อถ่านในเตาเย็นลงจึงลำเลียงออกมา โดยหนึ่งเตาจะได้ถ่านคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 7 ตัน ส่วน และในส่วนของโรงเผาถ่านนั้น จะนิยมสร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจากคลุมเตาเผาถ่าน เพื่อช่วยระบายความร้อนและยังสามารถกันฝนได้ดีอีกด้วย

สรรพคุณของโกงกาง

1. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน โดยใช้เปลือกต้มกับน้ำเพื่อช่วยแก้อาเจียน

2. ช่วยแก้อาการบิด บิดเรื้อรัง โดยใช้ไม้เปลือกต้มกับน้ำเพื่อบรรเทาอาการ

3. ใช้เปลือกนำมาตำ ใช้เป็นยาพอกช่วยห้ามเลือดได้ดีและช่วยสมานแผล หรือใช้ใบอ่อนของต้นโกงกางเคี้ยวหรือตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกที่บริเวณบาดแผลสดเพื่อห้ามเลือด

ถ่าน หลายคนอาจมองว่าเป็นก้อนไม้สีดำที่ไร้ค่า แต่สำหรับชาวบ้านตำบลยี่สาร ถ่านก็คืออาชีพที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิต เป็นอาชีพที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทยในอดีตที่คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยรู้จักจึงทำให้ชุมชนยี่สารแห่งนี้ได้นำมาเป็นจุดเด่น ในการสืบสานภูมิปัญญาเพื่อเป็นการส่งต่อให้กับรุ่นลูกรุ่นหลาน เรียกได้ว่าเป็นการสร้างความมั่นคงทางรายได้ พร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ด้วยการปลูกทดแทน และสร้างผลิตภัณฑ์ถ่านที่มีคุณภาพ

สถานที่ตั้ง
หมู่ที่/หมู่บ้าน 1
ตำบล ยี่สาร อำเภอ อัมพวา จังหวัด สมุทรสงคราม
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม
บุคคลอ้างอิง นายปริญญา ดรุณศรี
ตำบล แม่กลอง อำเภอ เมืองสมุทรสงคราม จังหวัด สมุทรสงคราม รหัสไปรษณีย์ 75000
โทรศัพท์ 034718138
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่