พระธาตุอุ่มบงหรือพระธาตุโคกอุ่มบงเป็นพระธาตุเก่าแก่ ประดิษฐานบนภูเขาโคกอุ่มบง หมู่ที่ ๒ บ้านลุ่ม ตำบลบ้านเสี้ยว อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างจากบ้านลุ่มขึ้นไปบนภูเขาประมาณ ๒ กิโลเมตร เชื่อกันว่าสร้างประมาณ ๓๐๐ กว่าปี ก่อสร้างจากอิฐสมัยโบราณ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านบอกเล่ามารุ่นสู่รุ่น พระธาตุอุ่มบงมีความกว้างประมาณ ๓.๕๐ เมตร สูง ๕ เมตร มี ๓ ชั้น รูปทรงเหมือนพระธาตุใหญ่ที่อยู่วัดมหาธาตุ หมู่ที่ ๖ ตำบลบ้านเสี้ยว อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ และรอบของพระธาตุจะมีพระพุทธรูปไม้แกะสลักวางตั้งอยู่เต็มทั้งสี่ด้านของพระธาตุอุ่มบง มีเรื่องเล่าว่าทุกวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ จะมีลูกแก้วมีแสงสว่างมาก ลอยลงมาจากพระธาตุโคกอุ่มบงมาที่พระธาตุใหญ่ที่วัดมหาธาตุ หรือบางครั้งก็จะมาลงที่ป่าดอนหอ ซึ่งเป็นป่าใหญ่ เป็นศาลปู่ตาอยู่ระหว่างบ้านลุ่ม หมู่ที่ ๒ และบ้านหัวทุ่ง หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านเสี้ยว อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์
พระธาตุโคกอุ่มบงชาวบ้านเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ หลังจากเสร็จงานวันสงกรานต์แล้วชาวบ้านลุ่มและหมู่บ้านใกล้เคียงจะนิมนต์พระขึ้นไปสักการะพระธาตุอุ่มบงเป็นประจำทุกปี ชาวบ้านจะเตรียมเครื่องสักการะ โดยเชื่อว่าปีใดได้สักการะแล้วปีนั้นฟ้าฝนจะตกตามฤดูกาล หลังจากเสร็จจากการสักการะพระธาตุอุ่มบงแล้ว พระจะนำพาชาวบ้านลงจากพระธาตุโคกอุ่มบงมาที่น้ำตกวังฆ้อง ซึ่งอยู่ต่ำลงมา อยู่ที่ลำห้วยตาล และจะทำการสักการะน้ำตกวังฆ้องตามความเชื่อถือที่มีมาแต่โบราณ ตำนานของน้ำตกวังฆ้องตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่นั้น ในฤดูฝนจะได้ยินเสียงเหมือนมีคนตีฆ้องดังไปถึงหมู่บ้านลุ่ม เชื่อกันว่าสมัยก่อนเกิดศึกสงคราม ชาวบ้านได้นำฆ้องไปด้วยแต่ด้วยน้ำหนักของฆ้อง จึงไม่สามารถนำฆ้องไปด้วย ฆ้องจมน้ำที่วังแห่งนี้ จึงเรียกว่า วังฆ้อง และน้ำตกวังฆ้องจนถึงปัจจุบัน