ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 27' 6.7568"
13.4518769
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 10' 43.7513"
101.1788198
เลขที่ : 197770
ตำนานพระรถเมรี อำเภอพนัสนิคม
เสนอโดย ชลบุรี วันที่ 3 มีนาคม 2566
อนุมัติโดย ชลบุรี วันที่ 3 มีนาคม 2566
จังหวัด : ชลบุรี
0 4035
รายละเอียด

วรรณกรรมเรื่องพระรถเมรี หรือพระรถเสน เชื่อกันว่าเป็นนิทานพื้นบ้านของไทย เป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย มีการเล่าสืบทอดต่อๆกันมา แบบมุขปาฐะ ก่อนจะมีการเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องหนึ่งในปัญญสชาดก หรือ พระเจ้า 50 ชาติ โดยพระเถระชาวเชียงใหม่ เพราะเค้าโครงเรื่องของพระรถเมรีนี้
มีความคล้ายคลึงกับนิทานพื้นบ้านชาติต่างๆ อาทิ อินเดีย ลังกา ไทยใหญ่ เขมร พม่า ลาว และอาหรับ เป็นต้น

ปัญญาสชาดก คือ การรวบรวมนิทานปรัมปรา ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในยุคนั้น มาแต่งขึ้นเป็นชาดก ราว ปีพ.ศ. ๒๐๐๐ โดยพระภิกษุชาวเชียงใหม่ได้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลี มีการดำเนินเรื่องเลียนแบบเป็นนิทานชาดกที่พระสงฆ์ชาวลังกาประพันธ์ไว้

ตำนานพระรถเมรีเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่ถูกเล่ากันอย่างแพร่หลายในอำเภอพนัสนิคม เพราะมีสถานที่ของโบราณสถาน โบราณวัตถุที่มีความสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง โดยมีเรื่องราวที่เล่าขานกันมาว่า
นานมาแล้วมีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ นนท์ และภรรยาของเขาชื่อ พราหมณี ทั้งสองมีลูกสาวถึง 12 คน ด้วยความที่ลูกเยอะฐานะทางบ้านจึงค่อย ๆ ตกต่ำลง เงินทองที่เก็บไว้ก็หายไปหมดเนื่องจากต้องเลี้ยงดูลูกสาวทั้งสิบสองคน อยู่มาวันหนึ่งพ่อของนางสิบสองก็ได้คิดอุบายว่าจะนำลูก ๆ ทั้งสิบสองคนไปปล่อยป่า โดยหลอกลูกของตนว่าตนจะไปเยี่ยมญาติจะพาลูก ๆ ไปด้วย เมื่อมาถึงกลางป่าเขาก็บอกกับลูกว่าจะไปหาผลไม้มาให้กินให้ลูก ๆเมื่อได้โอกาสเขาก็หนีไปโดยหวังว่าจะมีคนที่ดีกว่านี้มารับเลี้ยงดู นางสิบสองรอบิดาของตนจนเหนื่อย โชคดีที่นางเภาน้องคนสุดท้องที่มีความฉลาดมากกว่าพวกพี่ ๆ ได้นำข้าวตากโรยตามทางที่เดินมา พวกนางทั้งสิบสองจึงกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย เมื่อบิดาและมารดาเห็นลูกของตนกลับมาได้ก็ตกใจมากและได้คิดว่าจะนำลูกของตนไปปล่อยป่าอีกครั้ง และวันนั้นก็มาถึง พ่อของนางสิบสองได้นำลูกของตนไปปล่อยป่าอีก คราวนี้โชคร้ายนางเภาไม่ได้เอาข้าวตากมาทำให้นางทั้งสิบสองติดอยู่ในป่า นางทั้งสิบสองได้อยู่ในป่าจนรุ่งเช้าของอีกวัน นางเภาได้บอกกับพี่ของตนว่าควรจะหาทางกลับบ้านใหม่ แต่เดินไปเท่าไหร่ก็ไม่ถึงสักที จนในที่สุดก็มาเจอกับนางยักษ์
สันตราพอดี นางยักษ์สันตราพอได้เห็นนางทั้งสิบสองก็เกิดความรักและเอ็นดูเนื่องจากตนไม่มีลูกและสามี
ของตนก็ตายไปแล้ว นางยักษ์จึงนำนางทั้งสิบสองมาเลี้ยงไว้ในวังโดยสั่งให้ทุกคนในเมืองทานตะวันแปลงกายเป็นมนุษย์ให้หมดเนื่องจากกลัวว่านางทั้งสิบสองจะหวาดกลัวและเกลียดตน ส่วนตนเองก็ได้เปลี่ยนชื่อจาก
สันตรา เป็น สันธมาลา นางทั้งสิบสองใช้ชีวิตอยู่ในวังอย่างสุขสบายจนกระทั่งโตเป็นสาว นางเภาก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่าเมืองนี้เป็นเมืองยักษ์เพราะว่าตนนั้นไม่เคยเห็นสัตว์ตัวไหนในเมืองในเมืองนี้เลยและพี่ของตนก็ได้เจอกับกองกระดูกที่พวกยักษ์กินไว้ทางท้ายวังซึ่งนางสันธมาลาห้ามไม่ให้ไปอีกด้วย นางเภาจึงพาพวกพี่หนีจากเมืองยักษ์จนนางสันตราตามมา แต่มองไม่เห็นนางทั้งสิบสองเพราะเทวดาในป่าคุ้มครอง นางสันตราจึงกลับเมืองไปด้วยความอาฆาตแค้น นางทั้งสิบสองดีใจที่หนีจากนางยักษ์มาได้และก็เดินทางไปโดยไร้จุดหมาย
จนมาถึงเมืองกุตลนครซึ่งมีราชารถสิทธิ์เป็นผู้ปกครองเมือง ท้าวรถสิทธิ์ เมื่อได้เห็นนางเภาที่รูปงามและ
พวกพี่ ๆ ของนางแล้วก็เกิดความรักใคร่ โดยรักนางเภามากที่สุด ท้าวรถสิทธิ์ได้นางทั้งสิบสองเป็นมเหสี อยู่มาวันหนึ่งนางทั้งสิบสองคนก็ได้ตั้งครรภ์ อีกด้านหนึ่งในขณะเดียวกันนางยักษ์สัตราได้ใช้มนต์วิเศษของตนดูภาพพวกนางทั้งสิบสองผ่านกระจก นางสันตราจึงได้เห็นและรู้ว่านางสิบสองอยู่ที่เมืองกุตลนครและได้เป็นมเหสีของราชารถสิทธิ์ ก็ได้ตามไปจนมาถึงเมืองกุตลนครและได้พบกับท้าวรถสิทธิ์ นางจึงเป่ามนต์สะกดให้ท้าวรถสิทธิ์รักใคร่และแต่งตั้งให้ตนเป็นพระมเหสีเอกแทนนางทั้งสิบสอง เมื่อนางสิบสองรู้ข่าวว่าพระสวามีตนมีมเหสีใหม่
จึงโมโหและอยากรู้ว่าเป็นใคร พอดีนางยักษ์สันตราผ่านมาพอดีนางสิบสองจึงได้รู้ว่าเป็นนางยักษ์สันตราก็ตกใจกลัว และร้องขอว่าอย่าทำอะไรตนเลย นางยักษ์สันตราไม่ยอมจึงเป่ามนต์ให้ท้าวรถสิทธิ์เกลียดนางทั้งสิบสองและสั่งนางทั้งสิบสองไปขังไว้ในถ้ำ นางทั้งสิบสองต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในถ้ำขณะที่ท้องของนางก็เริ่มโตขึ้น
ทุกวัน ฝ่ายนางยักษ์สันตรายังไม่หยุดแค้นนางสิบสองจึงออกอุบายว่าตนป่วยเป็นโรคประหลาดและได้เป่ามนต์ใส่หมอหลวงให้พูดว่าต้องใช้ลูกตานางทั้งสิบสองมาทำยาให้กินจึงจะหาย

พระรถสิทธิ์จึงรีบให้จัดการควักลูกตานางสิบสองมาถวายทันทีโดยนางยักษ์ได้สั่งให้วิรุฬและจำบัง สมุนเอกของตนรับหน้าที่นี้ เมื่อมาถึงถ้ำทั้งสองได้ควักลูกตานางสิบสองทันทีโดยเรียงจากพี่ไปน้อง ด้านนางค่อมผู้ซื่อสัตย์ต่อนางสิบสองได้อ้อนวอน ขอให้พระรถสิทธิ์สั่งไม่ให้ควักลูกตานางสิบสองอยู่พักใหญ่ก็ได้นำราชโองการมาให้วิรุฬและจำบังดูแต่ด้วยตนเองแก่แล้วและหลังก็ค่อมอีกด้วย จึงมาไม่ทันโดยวิรุฬจำบังได้ควักลูกตาไปทั้ง 11 คนแล้ว เว้นแต่นางเภาโดนควักไปเพียงข้างเดียวเพราะตนมาทันที่นางเภาพอดี วิรุฬจำบังจึงได้นำลูกตาของนางสิบสองใส่โถไปถวายให้นางสันธมาลา นางค่อมได้โมโหตัวเองที่มาไม่ทัน นี่ก็เป็นเพราะเวรกรรมของนางทั้งสิบสองที่ตอนเด็กได้ควักตาปลาออกมาเล่นแต่นางเภาควักออกมาเพียงข้างเดียว จึงไม่โดนควักลูกตาทั้ง 2 ข้าง นางทั้งสิบสองต้องทุกข์ทรมานเข้าอีกปวดทั้งตาและท้องแก่ที่ใกล้คลอดโดยหากบเขียดแถวนั้นมาย่างกินประทังชีวิตและข้าวที่นางค่อมคอยแอบนำมาถวาย

เวลาผ่านไปจนกระทั่งพวกนางคลอดลูกมาแต่ลูกของนางทั้ง 11 คนตายหมด เพราะพวกนางอดอยากจึงกินลูกตัวเองเหลือแต่นางเภาที่ให้กำเนิดพระโอรสและตั้งชื่อว่า รถเสน รถเสนเป็นเด็กฉลาดและรูปงามมากและเป็นหัวแก้วหัวแหวนของแม่และป้าทั้ง 11 คน รถเสนโตขึ้นแลอยากจะช่วยแม่และป้าของตนหาข้าวมากินจึงได้ไปบ่อนไก่อยู่หลายครั้งและตนนั้นก็มีไก่ที่เทวดาเสกมาและได้นำไปชนไก่และชนะอยู่หลายครั้ง จึงได้เงินมาซื้อข้าวให้แม่และป้าของตนกิน จนรู้ไปถึงหูของพระรถสิทธิ์ที่ไม่รู้ว่ารถเสนเป็นลูกตน พอดีว่าเมืองกุตลนครมีเมืองอื่นมาท้าพนันตีไก่เอาบ้านเอาเมืองรถเสนได้รับคำเชิญจากพระรถสิทธิ์ให้นำไก่ของตนไปชนเพราะว่าได้ยินชื่อเสียงว่าเก่ง และก็ชนะด้วยทางฝ่ายนั้นก็ได้นำทัพกลับไป รถเสนก็กลายเป็นคนโปรดของพระรถสิทธิ์และนางสันธมาลาจึงได้นำไปเลี้ยงดูจนโตเป็นหนุ่มและได้กลับมาหานางทั้งสิบสอง นางยักษ์สันตราก็ได้รู้ว่ารถเสนเป็นลูกของนางเภา

ขณะเดียวกันที่เมืองทานตะวัน เมรี ลูกของพญายักษ์และมเหสีเป็นมนุษย์ที่นางสันธมาลาขอมาเลี้ยงไว้ก็ได้โตเป็นสาวแล้ว ฝ่ายนางยักษ์สันตราพอรู้แล้วว่ารถเสนเป็นลูกของนางเภาก็โกรธแค้นจึงได้ออกอุบายว่าตนป่วยอีกครั้งคราวนี้ให้นำมะงั่วหาว มะนาวโห่ที่เมืองทานตะวันมารักษาพร้อมให้รถเสนนำสาส์นที่ตนเขียนว่าเมื่อรถเสนมาถึงเมืองกลางวันก็ให้ฆ่ากลางวันถึงคืนก็ฆ่าคืนให้เมรีด้วยโดยบอกรถเสนว่าห้ามเปิดอ่านเด็ดขาด รถเสนจึงได้ขี่ม้าไปที่เมืองทานตะวันแต่แวะพักที่กระท่อมของฤๅษี ฤๅษีได้ขออ่านสาส์นของรถเสนจึงรู้ว่ารถเสนจะต้องตายแน่ จึงแปลงสาส์นว่าถึงเมื่อไหร่ก็ให้แต่งงานเมื่อนั้นและได้มอบม้าวิเศษพูดชื่อประกายเพชรได้ให้ รถเสนด้วย แล้วรถเสนก็มาถึงเมืองทานตะวันเมื่อเมรีได้อ่านสาส์นก็เกิดความรักจึงได้แต่งงานกันและอยู่ที่ เมืองทานตะวันอยู่พักหนึ่ง

ฝ่ายแม่ย่าได้ตรวจดวงชะตาของเมรีแล้วพบว่าถ้าเมรียังรักรถเสนอยู่อย่างนั้น เมรีจะต้องตาย แม่ย่า จึงคิดออกอุบายให้รถเสนไปจากเมรี ทางรถเสนที่จะนำดวงตาของนางสิบสองที่ห้องสรรพยาที่นางสันธมาลานำมาไว้เอาไปให้แม่และป้าของตน พอแม่ย่ารู้ก็สนับสนุนให้รถเสนไปจากเมรีจึงได้เปิดทางให้โดยสะดวกรถเสนได้นำดวงตาออกมาและขี่ม้าคู่ใจของตนไปเมืองกุตลนคร แต่เมรีไม่ให้ไปจึงวิ่งตามมารถเสนจึงอธิษฐานให้พื้นเป็นทะเลเมรีจึงตามไปไม่ได้ เมรีจึงตรอมใจตาย เมื่อรถเสนมาถึงก็ได้นำดวงตามาให้แม่และป้าของตนนางทั้ง สิบสองจึงมีดวงตาเหมือนเดิม ทุกคนพอรู้ว่านางสันธมาลาเป็นยักษ์จึงได้เนรเทศออกนอกเมือง พอเรื่องคลี่คลายแล้วรถเสนก็กลับไปเมืองทานตะวัน พอมาถึงก็พบว่าเมรีตายแล้ว รถเสนจึงทำศพให้เมรีแล้วบอกว่ารักขอโทษ เมรี และจึงตรอมใจตายตามนางเมรีอันเป็นที่รักไป

อำเภอพนัสนิคมนั้น ถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพล เรื่อง “พระรถเมรี” มามากกว่าพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่า
จะเป็นโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ชาวบ้านในหลายท้องที่มีการอ้างอิงว่าเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นจริง ณ ท้องที่ของอำเภอพนัสนิคม และได้เป็นบ่อเกิดของภูมินาม เช่น จังหวัดชลบุรีมีเมืองพระรถ อยู่ในเขตอำเภอพนัสนิคม และเชื่อกันว่าพระรถสิทธิ์ บิดาของพระรถเสนอยู่ที่เมืองพระรถ ที่ตำบลหน้าพระธาตุ ส่วนนางเภา แม่พระรถเสนและป้า รวม 12 คน ถูกนำไปขังไปที่ถ้ำนางสิบสอง ที่ตำบลหมอนนาง ซึ่งมีหินอยู่หน้าถ้ำ 12 ก้อน จึงเรียกว่า หมอนนางสิบสอง จึงเป็นที่มาของตำบลหมอนนาง นอกจากนี้ ยังมีบ้านเนินดินแดง ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำนางสิบสอง ประมาณ 1 กิโลเมตร ชาวบ้านในพื้นที่มีความเชื่อกันว่าเป็นเลือดของนางยักษ์ที่อกแตกตาย กระอักเลือดออกมานองแผ่นดิน จนเป็นสีแดงหลังจากฝนตกทุกครั้ง เพราะพื้นที่นั้นเป็นดินถูกรัง

อิทธิพลจากตำนานพระรถเมรี

ที่อำเภอพนัสนิคม เป็นดินแดนที่ได้รับอิทธิพล เรื่อง “พระรถเมรี”มากกว่าที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังต่อไปนี้

๑.โบราณสถาน

(๑) เมืองพระรถตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าพระธาตุ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติของ
กรมศิลปากรตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน ๓ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๔ บ้านโก่ย หมู่ที่ ๑ บ้านไร่ และหมู่ที่ ๑๐ บ้านปอ

(๒) ถ้ำนางสิบสองตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติของกรมศิลปากร ปัจจุบันนี้กำลังก่อสร้างวิหารตั้งพระพุทธรูปและวิหารนางสิบสอง จำนวน ๒ วิหาร

(๓) หมอนนางสิบสองตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๙ ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม ห่างจากปากถ้ำนางสิบสองไปไม่เกิน ๒๐๐ เมตร เป็นกองหินตามธรรมชาติตั้งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันกับถ้ำนางสิบสอง จำนวน
๑๒ ก้อน วางกองรวมกันอยู่ ปัจจุบันเหลือเพียง ๔ ก้อน

(๔) สระสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ที่บ้านตม หมู่ที่ ๖ ตำบลสระสี่เหลี่ยม อำเภอพนัสนิคม ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติของกรมศิลปากร พร้อมกับเมืองพระรถแล้ว เป็นที่เชื่อกันในสมัยก่อนว่า สระแห่งนี้
เป็นสถานที่ให้น้ำไก่ของพระรถเสนเมื่อครั้งเป็นเด็กวัยรุ่นออกมาตีไก่กับชาวบ้านเพื่อพนันเอาข้าวห่อไปเลี้ยงแม่และป้า จึงเรียกแบบชาวบ้านว่า “สระพระรถ” ปัจจุบัน

(๕) เมืองพญาเร่ตั้งอยู่ที่ อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ที่เคยเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอ
พนัสนิคม มาก่อน เชื่อกันว่า “เมืองพญาเร่” นี้ คือเมืองคชปุระของนางยักษ์สันธมาร เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขาเหมือนกับท้องเรื่องพระรถเมรีจริงๆ

๒.โบราณวัตถุ

(๑) ลูกศรพระรถเป็นแท่งหินที่ ขุดพบในเขตเมืองพระรถ ตำบลหน้าพระธาตุจึงนำมา เก็บไว้ที่วัดหน้าพระธาตุ

(๒) รางหญ้าม้าพระรถเป็นหินศิลาแลงลักษณะแบน ขุดเจาะตรงกลางเป็นร่องยาว ชาวบ้านจึงเข้าใจว่าเป็นรางหญ้าของม้าพระรถเสน

(๓) หมอนนางสิบสองดังที่กล่าวไว้แล้วว่า เป็นก้อนหินแกรนิตผิวเรียบมุมมนคล้ายหมอน
ขนาดประมาณ ๑ วา กองซ้อนรวมกันอยู่ ๑๒ ก้อน ปัจจุบันเหลือ ๔ ก้อนเท่านั้น

๓.สัญลักษณ์และคำขวัญ

(๑) ตราสัญลักษณ์ของเทศบาลเมืองพนัสนิคมเป็นรูปพระรถเสนทรงม้าอยู่ในวงกลม

(๒) ตราสัญลักษณ์ของเทศบาลตำบลหมอนนาง เป็นรูปนางเภาอิงหมอนอยู่ในวงกลม

(๓) ตราสัญลักษณ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลหน้าพระธาตุเป็นรูปกำแพงเมืองพระรถและพระธาตุ

(๔) คำขวัญประจำอำเภอพนัสนิคมคือ

“พระพนัสบดีคู่บ้าน จักสานคู่เมือง ลือเลื่องบุญกลางบ้าน

ตำนานพระรถเมรี ศักดิ์ศรีเมืองสะอาด เก่งกาจการทายโจ๊ก”

๔.ชื่อสถานที่ในหมู่บ้านย่านพนัสนิคมและพานทองตรงกับเรื่องราวในตำนาน

(๑) โคกสำราญเดิมชาวบ้านเรียกว่า “โคกหัวล้าน” เป็นชื่อหมู่บ้านหมู่ที่ ๑๑ ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอพนัสนิคม ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นเรื่องพระรถเมรี ตอนนางยักษ์อกแตกตายสิ้นชีวิตแล้ว พระรถเสนใช้พระขรรค์ตัดส่วนหัวขว้างไปตกที่ตำบลนี้ เพราะพื้นที่เป็นเนินโคกที่ไม่ค่อยมีต้นไม้ต้นหญ้าขึ้นมากนัก ต่อมาในสมัยปัจจุบันคนรุ่นใหม่เห็นว่าชื่อนี้ไม่ไพเราะ และไม่สุภาพหากผู้ใหญ่ที่มีผมน้อยนั่งอยู่ด้วย จึงเปลี่ยนใหม่เป็น “โคกสำราญ” มาจนทุกวันนี้

(๒) โคกหัวเข่าเช่นเดียวกับโคกหัวล้าน คือ พระรถเสนตัดส่วนที่เป็นหัวเข่านางยักษ์ขว้าง ไปตกที่หมู่บ้านในตำบลนี้ แต่ชาวลาวอาสาปากน้ำที่อพยพมาอยู่พนัสนิคม บอกว่า “โคกหัวเข่า” สำเนียงลาวหมายถึง “โคกหัวข้าว” คือ ที่เนินสูงสำหรับวางฟ่อนข้าว ปัจจุบันคือสถานที่ตั้งโบสถ์วัดโคกท่าเจริญ
อำเภอพานทอง จึงพากันเรียกว่า “โคกท่าเจริญ” ตามชื่อวัดที่ตั้งอยู่บริเวณโคกแห่งนี้

(๓) โคกขี้หนอนเป็นชื่อตำบลๆ หนึ่ง ในอำเภอพานทองเช่นกัน ในอดีตอำเภอนี้ เคยเป็นแขวงๆหนึ่ง ขึ้นกับ “เมืองพนัสนิคม” ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ชิ้นส่วนจากร่างของยักษ์ที่พระรถเสนตัดแล้วขว้างไปตกที่นี่

เนื้อหนังมังสาที่ยังสดและเป็นอาหารของสัตว์แร้งกาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือก็จะเน่าเปื่อยเป็นอาหารของหนอนทั้งกินนอน และถ่ายมูลเอาไว้ เมื่อเจาะไชอาศัยอยู่นานๆเข้าก็เกิดเป็นเนินดินสูงขึ้นมาจนเป็นโคกจึงเรียกว่า “โคกขี้หนอน” มาจนทุกวันนี้

(๔) เขานางนมเป็นชื่อหมู่บ้านในตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ ซึ่งเคยอยู่ในเขตอำเภอพนัสนิคมก่อน พ.ศ.๒๕๔๐ ลักษณะเป็นเขาสูงพอสมควร ที่เชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดพระพุทธบาทเขานางนม และบนยอดเขามีบันไดนับร้อยขั้นเดินขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาทในวิหาร เชื่อกันว่า เมื่อนางยักษ์สันธมาร อกแตกตายแล้วพระรถเสนก็เอาพระขรรค์ตัดร่างกายออกเป็นชิ้นๆ แล้วขว้างทิ้งไปตามทิศทางต่างๆนั้น เมื่อส่วนอกของนางยักษ์ถูกขว้างไปทางทิศตะวันออกมาตกอยู่ที่นี่ จึงได้ชื่อว่า “เขานางนม” เป็นต้น

(๕) ไร่หลักทองเป็นชื่อตำบลหนึ่งของอำเภอพนัสนิคม เมื่อครั้งปู่ย่าตายายเล่าว่าพื้นที่ย่านนี้ มีการทำไร่อ้อยไร่มันสำปะหลัง หลักนี้ปักอยู่ในไร่ ปัจจุบันชาวบ้านเชื่อว่าน่าจะเป็น “ไม้ค้างพลู” ของคนโบราณที่กินหมาก ทำด้วยแก่นไม้แดงที่ยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ พอชาวบ้านมีความทุกข์ใจก็ไปกราบไหว้บูชา บนบาลศาลกล่าวเพื่อขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยปัดเป่าความชั่วร้ายออกไปและปกป้องคุ้มครองป้องกันภัย ให้มีแต่สันติสุขตลอดไป ครั้นสมปรารถนาอย่างที่หวังไว้ ก็มีการแก้บนและปิดทองตามความเชื่อถือ นาน ๆ เข้าไม้หลักต้นนั้นก็เป็นสีทองเหลืองอร่ามขึ้นมา จึงได้ชื่อว่า “ไร่หลักทอง” เป็นทั้งชื่อวัด ชื่อหมู่บ้านและชื่อตำบลมาจนทุกวันนี้ และจากการเทศนาสั่งสอนพุทธศาสนิกชนของพระสงฆ์ในวัดเกี่ยวกับพระรถเสนชาดก ไม้หลักต้นนี้จึงเชื่อกันว่าเป็น “หลักล่ามไก่” ของพระรถเสนเมื่อคราวออกมาพนันชนไก่กับชาวบ้านเอาข้าวห่อไปเลี้ยงนางสิบสอง

(๖) เนินดินแดงเป็นชื่อบ้านหมู่ที่ ๔ ของตำบลบ้านช้าง อำเภอพนัสนิคม เชื่อกันว่า ที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ที่นางยักษ์สันธมารล้มลงอกแตกตาย

(๗) หนองปล่อยไก่เดิมเป็น “บ่อน้ำซับ” ริมถนนนางสิบสอง (พนัสนิคม – ทุ่งเหียง) ชาวบ้านได้อาศัยไปตักน้ำมาไว้ใช้สอยตลอดปีไม่มีวันแห้ง เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่พระรถเสนนำไก่มาเลี้ยงโดยปล่อยให้กินอาหารในบริเวณนั้น เพราะมีน้ำท่าบริบูรณ์ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๗ ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม ตรงข้ามกับศาลเจ้าจิงกุนไต้ตี่ (แซ่อุ๊ย) ห่างจากถ้ำนางสิบสองไม่ถึง ๕๐๐ เมตร ติดกับรอยต่อตำบลบ้านช้าง อำเภอ พนัสนิคมพอดี ปัจจุบันได้ถูกกรมทางหลวงปรับถมกลบบ่อเป็นถนนไปหมดแล้ว

(๘) ลานซ้อมไก่ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๙ ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม ห่างจาก “หมอนนาง สิบสอง” ราว ๑๐๐ เมตร และห่างจากปากถ้ำนางสิบสองประมาณ ๒๐๐ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า
“ลานปล้ำไก่” บริเวณนี้มีลานกว้างอยู่หน้าก้อนหินใหญ่ ยังกับว่าพระรถเสนเคยมานั่งดูฝูงไก่ชนสู้กันยามว่าง ณ สถานที่แห่งนี้ ก่อนจะนำไปตีพนันกับชาวบ้านต่อไป ปัจจุบันนอกจากจะถูกชาวบ้านทำโฉนดถือครองแล้ว ชาวบ้านยังใช้เครื่องมือสมัยใหม่ไถปรับพื้นดินเสียใหม่ทำให้ลานและก้อนหินดังกล่าวพลอยถูกเคลื่อนย้ายหายไปด้วย

คุณค่าและความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ตำนานพระรถเมรี เป็นตำนานที่ถูกเล่าขานกันมาอย่างยาวนานในทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ ซึ่งภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่พบความแพร่หลายของตำนานพระรถเมรีมากกว่าในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม มีความเชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตำนานพระรถเมรี ทั้งการตั้งชื่อ โบราณสถาน โบราณวัตถุ อาทิ ถ้ำนางสิบสอง
ชาวอำเภอพนัสนิคมมีความเชื่อกันว่า หลังจากที่นางยักษ์สันธมารควักดวงตานางทั้งสิบสองคนแล้ว ก็นำไปขังไว้ที่ถ้ำแห่งนี้ และถ้ำแห่งนี้เป็นที่กำเนิดพระรถเสน บริเวณไม่ห่างจากถ้ำนางสิบสองเท่าใดนัก เป็นลานกว้าง
และเป็นลานไก่ชนของพระรถ ใกล้ๆ กันนั้นยังมีแท่นหิน สำหรับทอดพระเนตรไก่ชนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมี คำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ภายในถ้ำมีข้าวของเครื่องใช้โบราณมากมาย นางสิบสองจึงเชื่อมโยงกับตำนาน พระรถเมรีที่พนัสนิคมเป็นอย่างดี สะท้อนผ่านคำขวัญประจำอำเภอพนัสนิคม ที่กล่าวว่า “พระพนัสบดีคู่บ้าน
จักสานคู่เมือง ลือเลื่องบุญกลางบ้าน ตำนานพระรถ-เมรี ศักดิ์ศรีเมืองสะอาด เก่งกาจการทายโจ๊ก”
ซึ่งคุณค่าและความสำคัญของตำนานพระรถเมรี ต่ออำเภอพนัสนิคม สะท้อนคุณค่าในแต่ละระดับ ดังนี้

1. ระดับชุมชน ตำนานพระรถเมรี สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ เนื่องจากอำเภอพนัสนิคม
เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชนหลายกลุ่มรวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็น ไทย จีน และลาว ซึ่งกลุ่มลาวที่อพยพมาอาศัยในเขตพื้นที่อำเภอพนัสนิคม ได้นำนิทานเรื่องพระรถเมรี มาผูกโยงเป็นชื่อสถานที่ต่างๆในอำเภอพนัสนิคม ทำให้คน ในชุมชนมีความเชื่อว่า พระรถเมรีเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในอดีต และความเชื่อดังกล่าวนั้น ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น เช่น งานบวงสรวงศาลพระรถอุ้มไก่ งานประเพณีเนินพระธาตุ เป็นต้น

นอกจากนี้ความเชื่อของคนในชุมชนที่เชื่อว่า พระรถเมรีนั้นเป็นบรรพชนของตน ทำให้เกิดการตั้งศาลศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมบวงสรวง โดยในอำเภอพนัสนิคมนั้น มีศาลนางสิบสอง จำนวน 3 ศาล (แบ่งเป็นศาลไทย 2 ศาล และศาลจีน 1 ศาล) และมีศาลพระรถในอำเภอพนัสนิคม จำนวน 2 ศาล ซึ่งเป็นที่เคารพบูชา และที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวอำเภอพนัสนิคม และมีพิธีพุทธาภิเษก สร้างพระรถเสนจำลอง สำหรับเช่าบูชา โดยมีผู้ที่ชื่นชอบการชนไก่ มาเช่าบูชากันเป็นจำนวนมาก เพราะตามตำนานพระรถเมรีนั้น พระรถเสนชื่อชอบการชนไก่เป็นอย่างมาก

2. ระดับประเทศ อำเภอพนัสนิคม มีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์มากมาย และมีสถานที่ที่เชื่อมโยง กับตำนานพระรถเมรี ทำให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวในการที่จะเข้ามาชื่นชมแหล่งโบราณสถาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยการใช้อัตลักษณ์ของพื้นที่มาสร้างคุณค่า และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชน เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวในพื้นที่ และเมื่อมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ ก็สามารถเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าผลิตภัณฑ์อื่นอีกด้วย

สถานที่ตั้ง
อำเภอ พนัสนิคม จังหวัด ชลบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
กลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี
อำเภอ พนัสนิคม จังหวัด ชลบุรี
โทรศัพท์ 0 3827 7407 โทรสาร 0 3827 6407
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่