1. ข้อมูลโดยทั่วไปของชุมชนบ้านไร่สุขุม
ที่ตั้ง หมู่บ้านไร่สุขุม หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยยั้ง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีการรวมกลุ่มสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการประกอบอาชีพหลัก คือ การจักสานชะลอม ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีในพื้นที่ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานผลิตภัณฑ์จักสานชะลอม และพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นสินค้าในรูปแบบใหม่ มีรูปแบบที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มความน่าสนใจ สร้างรายได้แก่ชุมชนเพิ่มมากขึ้น
2. การจักสานชะลอม
2.1 วัสดุอุปกรณ์
- ไม้ไผ่สดชนิดปล้องยาว
- มีดสำหรับจักตอกไม้ไผ่
-แม่แบบสำหรับสานชะลอมชนาดต่างๆ
- กาวร้อน/ ถุงมือ/ ตะปู/ กรรไกร
- แลคเกอร์เคลือบเงา
- ริบบิ้นหรืออุปกรณ์ตกแต่งตามต้องการ
2.2ขั้นตอนการจักตอก
1. นำไม้ไผ่สดชนิดปล้องยาวไปแช่น้ำเพื่อให้ไม้ไผ่มีความอิ่มตัว เพื่อให้ไผ่มีความเหนียวและสามารถจักสานได้ง่ายขึ้น หากต้องการใส่สารป้องกันตัวมอดให้ผสมสารแช่ในน้ำในขั้นตอนนี้
2. จักตอกด้วยมีดจักตอกเป็นเส้นๆ ขนาดความกว้างตามต้องการ โดยสัมพันธ์กับขนาดของชะลอมที่จะทำการสาน เพื่อให้มีรูปลักษณ์สวยงาม มีความยาวโดยประมาณ 15 เซนติเมตร หรือตามต้องการ
3. นำตอกที่จักแล้วไปตากแดดให้แห้ง เพื่อลดการเกิดเชื้อราในตอก หากตอกแห้งไม่สนิทอาจทำให้เกิดราสีดำ ไม่สามารถนำมาใช้ในกระบวนการงานสานได้
4. กรณีเก็บตอกไว้ใช้งานให้เก็บห่างจากพื้นที่ที่มีความชื้น และควรผึ้งแดดหรือลมอย่างสม่ำเสมอ
2.3 ขั้นตอนการสานชะลอม
1. นำตอกไม้ไผ่มาสานขึ้นรูปลายเฉลว 5 มุม (ลายขัดตาแหล๋ว) แถวละ 4 เส้น
2. นำเส้นไม้ไผ่แบนสอดขัดกับตอกไม้ไผ่บริเวณฐานก้นชะลอม เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับก้นชะลอม
3. จากนั้นนำตอกไม้ไผ่มาสานขึ้นรูปตัวชะลอมและสานขัดสลับกันไปเรื่อยๆ จนได้ความสูงตามต้องการ โดยใช้แม่แบบสำหรับสานชะลอมขนาดต่างๆ เพื่อกำหนดจุดการสานให้มีความเท่ากัน ขนาดชะลอมจะมีความเท่ากัน ช่องว่างและลาดลายจะมีความเท่ากัน มีความสวยสดงดงาม และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากยิ่งขึ้น
4. นำกรรไกรมาตัดตกแต่งขอบชะลอม และเก็บรายละเอียดโดยรอบให้เรียบร้อย พร้อมทั้งนำตอกไม้ไผ่มัดปลายตอกเข้าหากันเพื่อเป็น หูหิ้วชะลอมเป็นอันเสร็จสิ้น สำหรับชะลอมชนิดหูหิ้ว
2.4 ขั้นตอนการประกอบชะลอมทรงปิ่นโต
1.การทำชะลอมทรงปิ่นโต สามารถทำได้หลากหลายแบบ หลากหลายขนาด เช่น ขนาด 6 นิ้ว ขนาด 7 นิ้ว ขนาด 8 นิ้ว หรือขนาดตามที่ต้องการ สามารถออกแบบให้เป็นทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยม ทรงแปดเหลี่ยม หรือทรงสูงอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้จักสานจะต้องใช้ชุดแม่แบบสำหรับเป็นแบบในการสานชะลอม เพื่อให้มีรูปทรงและลวดลายที่สวยงามเท่ากันในแต่ละชุดงาน
2. เหลาไม้ไผ่แบนเส้นใหญ่ขนาดความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นขอบฝาชะลอมด้านล่าง ขอบฝาชะลอมด้านบน ขอบก้นชะลอม และชุดล็อกฝาชะลอม
3. นำชะลอมที่สานขึ้นรูปเสร็จแล้ว มาตัดก้นชะลอมออกด้วยกรรไกร โดยเว้นระยะขอบข้างให้สูงขึ้นพอประมาณเพื่อให้ทำเป็นชุดฝาปิด เก็บขอบด้วยตอกเส้นใหญ่ ติดด้วยกาวร้อนให้เรียบร้อย สวยงาม
4. สานก้นชะลอม โดยการใช้ตอกเส้นใหญ่ชนิดแข็ง สานเป็นตาข่ายชนิดถี่ขนาดเท่ากับก้นชะลอม ตัดเป็นรูปทรงตามทรงของชะลอม ประกอบติดตัวชะลอมด้วยกาวร้อน เก็บขอบด้วยตอกเส้นใหญ่ชนิดแบนเพื่อปกปิดรอยตัด ติดด้วยกาวร้อนให้เรียบร้อย สวยงาม
5. นำไม้ไผ่มาเหลาเป็นลักษณะแบน สามารถโค้งงอได้ เหลาให้ได้ขนาดความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาว 40 เซนติเมตร (หรือตามต้องการ) มีความแข็งพอสมควรสำหรับจัดทำเป็นชุดหูหิ้ว หากเป็นชะลอมลูกใหญ่ให้ใช้ชุดหูหิ้วชนิดติดคู่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและการทรงตัวขณะหิ้ว
6. สอดไม้หูหิ้วโดยขัดกับตอกไม้ไผ่บริเวณฐานก้นชะลอม ยาวถึงบริเวณตัวชะลอม ติดด้วยกาวแห้ง เก็บรายละเอียดงานให้เรียบร้อย สวยงาม
7. ติดขอบฝาชะลอมด้วยไผ่เหลา โค้งงอตามรูปทรงฝา ติดไผ่เหลาด้านในเพื่อเป็นชุดล็อกฝา ประกอบฝาด้วยกาวแห้ง โดยเก็บขอบด้วยตอกเส้นใหญ่ให้เรียบร้อย สวยงาม
8. ติดตะปูเพิ่มความแข็งแรงทนทาน (ถ้ามี)
9. ทาแลกเกอร์เคลือบเงาให้ทั่ว เพิ่มความเงางาม ดูโดดแด่น และป้องกันเชื้อรา
10. ติดโบว์ ดอกไม้ประดิษฐ์ งานผ้า หรือดอกไม้สด ตามต้องการ