ขนมโบ๋เป็นขนมพื้นบ้านของชาวจันทบุรีในเขตอำเภอเมืองจันทบุรี มีการสืบทอดวิธีการทำมาเป็นเวลานานกว่า 100 ปี ประวัติและที่มาของขนมชนิดนี้ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่ามีต้นกำเนิดมาจากที่ใด เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดมาหลายช่วงอายุ แต่ในอดีตนั้นขนมโบ๋ได้รับความนิยมและมีการแพร่หลายมากในจังหวัดจันทบุรี แต่ในปัจจุบันขนมโบ๋เริ่มหาทานได้ยากและใกล้สูญหาย เหลือร้านที่ยังทำขายเพียงไม่กี่ร้านในจังหวัดจันทบุรี และสามารถหาทานได้ในตลาดโบราณของจังหวัดจันทบุรีเท่านั้น ขนมโบ๋มีลักษณะคล้ายขนมเปียกปูนที่ใส่ชามทรงกลม ตรงกลางของขนมมีลักษณะเป็นวงกลมยุบลงไป มีรสชาติจืด เหนียว มัน และหนึบ ทานคู่กับน้ำเชื่อมที่นำน้ำอ้อยและน้ำตาลทรายแดงมาเคี้ยวจนเหนียว โรยด้วยกระเทียมเจียวหอมๆ ขนมโบ๋ถือเป็นขนนที่ต้องลิ้มลองเมื่อได้มาจังหวัดจันทบุรี
ส่วนผสมของขนมโบ๋
๑. แป้งข้าวเจ้า ๑.๕ กิโลกรัม
๒. แป้งมันสำปะหลัง ๐.๕ กิโลกรัม
๓. ผงด่าง (สำหรับทำเส้นบะหมี่) ๑ ช้อนโต๊ะ
๔. น้ำตาลอ้อยหนองบัว ๑ กิโลกรัม
๕. น้ำตาลทรายแดง ๑ กิโลกรัม
๖. สีผสมอาหารสีเหลืองไข่ ๑ ช้อนโต๊ะ
๗. กระเทียม แล้วแต่ชอบ
๘. น้ำ ๖ ขัน (น้ำเปล่า ๒ ขัน และน้ำร้อน ๔ ขัน)
ขั้นตอนและวิธีการทำ
๑. นำถ้วยไปจัดเรียงในซึ้งนึ่งและนึ่งถ้วยทิ้งไว้
๒. ระหว่างรอถ้วยขนมร้อนให้นำแป้งข้าวเจ้าและแป้งมันสำปะหลังละลายในน้ำเปล่า ๒ ขัน จากนั้นคนแป้งให้ผสมเป็นเนื้อเดียวกัน
๓. เมื่อแป้งผสมเป็นเนื้อเดียวกันแล้วใส่ผงด่าง สีผสมอาหาร และใส่น้ำร้อนจำนวน ๔ ขัน จากนั้นคนต่อจนส่วนผสมเข้ากัน
๔. กรองแป้งเพื่อให้แป้งมีเนื้อละเอียดไม่เป็นเม็ด
๕. เมื่อน้ำในซึ้งที่นึ่งถ้วยไว้เดือดให้นำแป้งที่เตรียมไว้ใส่ลงในถ้วย
๖. ปิดฝานึ่งประมาณ 30-45 นาที (ระยะเวลาที่นึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของซึ้ง)
๗. เมื่อครบเวลาแล้วให้นำขนมออกมาพักไว้ให้ขนมเย็น
๘. นำกระเทียมมาปลอกเปลือกออก จากนั้นนำไปปั่นให้ละเอียด นำลงไปเจียวในกระทะให้สีเหลือง ตักขึ้นพักไว้ เพื่อให้สะเด็ดน้ำมัน
๙. นำน้ำตาลอ้อยและน้ำตาลทรายใส่ในหม้อตามด้วยน้ำเปล่าเล็กน้อย เคี่ยวจนเหนียวแล้วนำไปพักไว้
๑๐. แกะขนมโบ๋ออกจากถ้วยโดยใช้พายหรือมีดสอดเข้าไประหว่างถ้วยและขนม หมุนถ้วยไปเรื่อย ๆ จนขนมหลุดออกจากถ้วย
๑๑. นำขนมโบ๋ใส่ชามราดด้วยน้ำเชื่อมตามด้วยกระเทียมเจียว