ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 19° 58' 21.252"
19.9725700
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 12' 56.048"
100.2155689
เลขที่ : 197865
เวียงคุ้มพระเจ้ามังรายมหาราช
เสนอโดย เชียงราย วันที่ 29 มีนาคม 2566
อนุมัติโดย เชียงราย วันที่ 5 เมษายน 2566
จังหวัด : เชียงราย
0 1072
รายละเอียด

ตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่าพญามังราย หรือพ่อขุนเม็งรายมหาราช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 25 แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว ครั้งหนึ่งเจ้าพญามังราย เคยนำกองทัพจะไปตีเมืองผาแดง (อำเภอเชียงของในปัจจุบัน) พระองค์ได้ทรงหยุดพักไพร่พล หาเสบียงอาหารให้แก่กองทัพทหารจำนวนนับหมื่นๆ และได้เสด็จประทับพักผ่อนเป็นการส่วนพระองค์เพื่อเอาแรงและได้เสด็จพักผ่อนไป "ตั้งไก่ป่า" ที่สันกลางทุ่งนา และที่แห่งนี้ได้รับการบอกเล่าสืบๆ กันมาว่าเป็น "ซุ้มตั้งไก่พญาเม็งราย" หรือ "คุ้มพญาเม็งราย" ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่า มีแม่น้ำไหลผ่านกั้นกลาง (แม่น้ำอิงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลไปทางทิศเหนือ) เป็นทำเลและภูมิศาสตร์ที่ดีเหมาะแก่การสร้างบ้านแปงเวียง จึงได้มีการขุดคูน้ำ สร้างเจดีย์ สร้างกำแพงเมือง และประตูเมืองล้อมรอบเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย

ภายหลังต่อมาได้มีผู้คนทยอยมาตั้งรกรากอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเรื่อยมา ซึ่งได้ขุดพบซากปรักหักพัง วัตถุโบราณหลายชิ้น คูเมืองเก่า เจดีย์เก่า ที่หักพังลงแต่ยังคงรูปร่างและเศษอิฐดินอยู่ รวมตลอดถึงบ่อน้ำโบราณที่เรียกว่า “สร้างซาววา” รวมไปถึงแนวกำแพงโบราณ สิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก เป็นหลักฐานที่น่าเชื่อว่ามีการตั้งรกรากถิ่นฐานนับแต่สมัยอดีตกาลเป็นต้นมา และในปัจจุบันได้มีส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ทำการสำรวจสภาพทั่วไปของหมู่บ้านซึ่งคาดหมายว่าจะเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ สันนิษฐานได้ว่า อาจมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของการสร้างบ้านแปงเมืองของพ่อขุนมังรายมหาราช และเป็นอีกหนึ่งสถานที่ทางวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

ปัจจุบันได้มีผู้สืบสาน ขนบธรรมเนียม ประเพณีล้านนา และวัตถุโบราณต่างๆ ได้สร้างเวียงคุ้มพระเจ้ามังรายมหาราชขึ้น ณ บ้านเวียงหวาย ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย เพื่อสืนสานมรดกทางวัฒนธรรมและนอกจากนี้ยังได้สืบทอดวิธีการรักษาโรคแบบโบราณล้านนาให้แก่ผู้ที่ต้องการรักษาและด้วยศรัทรา โรคที่รักษาอาทิเช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคมะเร็ง ฯลฯ ให้กับผู้ป่วยที่ต้องการรักษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนได้รับขนานนามว่า “สิ่งมหัศจรรย์ของโลก” แห่งเมืองล้านนา

ใน 1 ปีเวียงคุ้มพระเจ้ามังรายมหาราช จะมีผู้ที่ได้รับการรักษาและผู้มีจิตศรัทราจากทั่วประเทศและต่างประเทศ ได้รวมตัวเพื่อจัดพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ล้านนาและพระเจ้ามังรายมหาราช เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ท่านได้สร้างบ้านแปงเมือง โดยกำหนดเป็นวิถีหรือประเพณีของเวียงคุ้มพระเจ้ามังรายมหาราชประจำปี ปีละ 4 ครั้ง ดังนี้

พิธีบวงสรวงพระเจ้ามังรายมหาราช ครั้งที่ 1ตรงกับวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี หรือ “วันพญาวัน” เป็นวันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศกเปลี่ยนศักราช เริ่มต้นปีใหม่ เป็นวันที่นิยมเริ่มต้นเรียนศาสตร์ศิลป์ต่างๆ ภายในงานบวงสรวงพระเจ้ามังรายมหาราชจะมีการทรงน้ำพระบาทพระเจ้ามังรายมหาราช แสดงความเคารพนบน้อมต่อพระเจ้ามังรายมหาราช อีกทั้งเป็นการขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตนเองและครอบครัวต่อไป

พิธีบวงสรวงพระเจ้ามังรายมหาราช ครั้งที่ 2ตรงกับวันอาสาฬบูชาของทุกปี ซึ่งเป็นการบวงสรวงก่อนวันเข้าพรรษา ซึ่งเดิมนั้นช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา และให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ช่วยให้พืชพันธุ์ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์ และเป็นช่วงเวลาจะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง บำเพ็ญกุศล รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม และเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อพระเจ้ามังรายมหาราช

พิธีบวงสรวงพระเจ้ามังรายมหาราชครั้งที่ 3จะจัดขึ้นตรงกับวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันประสูติกาลของพระยามังรายมหาราช เพื่อกราบไหว้สักการะ แสดงความเคารพและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อพระเจ้ามังรายมหาราช

พิธีบวงสรวงพระเจ้ามังรายมหาราชครั้งที่ 4ตรงกับวันที่ 30 หรือ 31 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อบวงสรวงบูรพกษัตริย์ล้านนา เพื่อเป็นสิริมงคลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ และเพื่อให้ผู้มีจิตศรัทราจากทั่วทุกสารทิศได้มากราบไหว้บูชา มาทำบุญ และพักผ่อนในช่วงสิ้นปี เพื่อความเป็นสิริมงคลของพระเจ้ามังรายมหาราช

นอกจากนี้เวียงคุ้มพระเจ้ามังรายมหาราช ยังสืบสานพิธีที่สืบทอดต่อกันมาจากโบราณกาล คือ พิธีอาบแสงจันทร์ ซึ่งความเชื่อของคนโบราณ เพื่อเป็นสิริมงคล ชะล้างสิ่งชั่วร้าย และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าเมือง หัวเมือง ทหารนายกอง ในอดีต นอกจากนี้ยังเชื่อว่าแสงจันทร์เป็นแสงบริสุทธิ์จะมีการนำเอาศาสตราวุธของศักดิ์สิทธิ์คู่กายมาอาบแสงจันทร์ จึงได้สืบทอดพิธีอาบแสงจันทร์ โดยกำหนดพิธีการ 3 วัน คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา ของทุกปีในการประกอบพิธีอาบแสงจันทร์

เวียงคุ้มพญามังรายมหาราช เป็นสถานที่สืบสานความเป็นมาของชาวล้านนา เพื่อสืบทอดประวัติความเป็นมาของพระเจ้ามังรายมหาราช ขนบธรมมเนียม วัตถุโบราณ พิธีการต่างๆ รวมทั้งการรักษาโรคแบบโบราณล้านนา สืบทอดให้กับคนรุ่นหลัง และเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้ผู้ที่ศรัทราได้มากราบไหว้สักการะพระเจ้ามังรายมหาราช จึงเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งที่ผู้สร้างมีเจตนารมย์ที่ยิ่งใหญ่ที่จะรักษาไว้ซึ่งความเป็นล้านนาสืบไป

คำสำคัญ
โบราณวัตถุ
สถานที่ตั้ง
เวียงคุ้มพระเจ้ามังรายมหาราช
เลขที่ 99/1 หมู่ที่/หมู่บ้าน หมู่ 8 บ้านเวียงหวาย ซอย 5
ตำบล เม็งราย อำเภอ พญาเม็งราย จังหวัด เชียงราย
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง ดร.ชัชพลวานิช เพชรดง
เลขที่ 99/1 หมู่ที่/หมู่บ้าน หมู่ 8 บ้านเวียงหวาย ซอย 5
ตำบล เม็งราย อำเภอ พญาเม็งราย จังหวัด เชียงราย รหัสไปรษณีย์ 57290
โทรศัพท์ 089-6297895
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่