ดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้งดงามไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เรื่องของอาหาร และขนมพื้นบ้าน ที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ทั้งกรรมวิธี รสชาติ และเรื่องราวที่มาพร้อมขนมต่างๆ เช่น ขนมกูเวฮางิ หรือขนมสังขยาน้ำตาลไหม้ ทุกบ้านจะทำเพื่อเตรียมรองรับแขกหรือญาติมิตรที่มาเยี่ยมเยียนในวันรายอ หรือแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน บ้างทำตูปะ หรือข้าวต้มเหนียวใบกะพ้อ สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องอาหารการกินช่วงเดือนรอมฎอน ช่วงละศีลอดคือหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน อาหารคาวหวานมีให้เลือกมากมาย โดยเฉพาะขนมพื้นบ้านต่างๆ ที่มีหลากหลายชนิด บางชนิดถ้าไม่ใช่ช่วงเทศกาลจะหารับประทานยากมาก แต่พอถึงช่วงถือศีลอดจะมีขนมให้เลือกซื้อละลานตา ถือว่าเป็นช่วงเวลาพิเศษของชาวไทยมุสลิม หากเอ่ยถึงขนมโบราณดั้งเดิมต้องนึกถึงชุมชนบ้านบาโง ตั้งอยู่เขตพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เป็นชุมชนเก่าแก่ขึ้นชื่อเรื่องขนมพื้นบ้านคือ ขนมอาเกาะ หรือเรียกว่า ขนมหม้อแกงสังขยา มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับมายาวนาน ขนมฝีมือชาวบ้านเป็นที่รู้จักนิยมบริโภคของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และส่งไปขายไกลถึงประเทศมาเลเซีย ขนมตือปง อาเกาะ เป็นขนมพื้นเมืองขึ้นชื่อใน๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากคำบอกของ คนสมัยก่อน คำว่า “อาเกาะ” อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า อาแกะ หรือ อากะ ซึ่งแปลว่า “ยกขึ้น” หมายถึงกรรมวิธีการผลิตของอาเกาะที่ต้องยกไฟบนลงมาทุกครั้ง เมื่อขนมสุกแล้ว เปลือกมะพร้าวคือเชื้อเพลิงทำขนม เตาอบแบบเปิดวางขนมตรงกลางวางไฟไว้บนและล่างของขนมให้ความร้อนทั่วถึง แต่นางแมะนะ หินาแวหามะ ยังคงสืบทอดคุณค่า ความอร่อยของขนมอาเกาะด้วยกรรมวิธีธรรมชาติ ไม่ต่างจากอดีต
วัตถุดิบและส่วนผสมในการผลิต
๑. ไข่เป็ด
๒. น้ำตาลแว่น
๓. หัวกะทิ
๔. น้ำมัน
๕. ตะไคร้
ขั้นตอนในการผลิต
๑. นำน้ำตาลแว่นมาบดให้ละเอียด แล้วใส่ในภาชนะ
๒. นำตะไคร้ตำพอแหลกมาผสมกับไข่เป็ด แล้วนำไปผสมกับหัวกะทิจากนั้นใส่น้ำตาลแว่นที่บดละเอียดแล้ว
๓. นำส่วนผสมทั้งหมดตีรวมให้ส่วนผสมทั้งหมดให้เป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้นนำไปกรอง
๔. นำแม่พิมพ์ไปตั้งบนเตาถ่าน ใช้ความร้อนพอประมาณ เทขนมที่ผสมเรียบร้อยแล้วเทใส่ในแม่พิมพ์ โดยนำกากมะพร้าวเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนด้านบนมากกว่าด้านล่าง ตั้งไว้ประมาณ ๑๐ นาที เปิดฝาสังเกตสีของขนมจะแห้ง ฟู เป็นสีน้ำตาลอมเหลือง แสดงว่าขนมสุกแล้ว ยกลง
๕. เมื่อขนมอาเกาะสุกเรียบร้อยแล้วตักขึ้น พักไว้ในภาชนะให้เย็น