“ประเพณีสงกรานต์ วันไหล รวมใจ ประจันตคาม”เป็นงานประเพณีที่มีชื่อเสียงของอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี จุดเด่นของงานประเพณีฯ ดังกล่าว คือ การปิดถนนและมีจุดตั้งโต๊ะบริการอาหาร - เครื่องดื่ม ให้แก่ผู้ร่วมงานตลอดสองข้างทางฟรี กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีสักการะอนุสาวรีย์พระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน) วีระบุรุษของชาวอำเภอประจันตคาม, กิจกรรมขบวนแห่ และการประกวดเทพีสงกรานต์, พิธีสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ, กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน, มหกรรมดนตรีอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน เป็นต้น
“วันสงกรานต์”ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบต่อมาช้านานในแถบประเทศเอเชียอาคเนย์ สำหรับในประเทศไทยยังถือเป็น“วันปีใหม่ไทย”โดยวันสงกรานต์หรือวันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลีของประเทศอินเดีย แต่วันสงกรานต์ของไทยเปลี่ยนจากการสาดสี เป็นการสาดน้ำใส่กัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน และในอีกแง่หนึ่งยังมีความเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ทำให้นิยมเล่นสาดน้ำ และประแป้งกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยจะไม่ถือโทษโกรธกัน
พิธีกรรมตามความเชื่อที่มีการสืบทอดในประเพณีสงกรานต์ วันไหล รวมใจ ประจันตคาม
1. การสรงน้ำพระคือ การทำความสะอาดพระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชา หิ้งพระ รูปภาพ และสิ่งของต่าง ๆ รวมไปถึงที่ประดิษฐานขององค์พระพุทธรูปให้สะอาดบริสุทธิ์มากขึ้น โดยพิธีสรงน้ำพระมีมาตั้งแต่อดีต และสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน ด้วยเชื่อว่าการทำความสะอาดพระพุทธรูปเป็นการชำระล้างจิตใจ ถือเป็นการเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ทั้งช่วยเสริมสิริมงคลต้อนรับเทศกาลปีใหม่ไทย รวมถึงเป็นการแผ่ผลบุญ ให้บรรพบุรุษ ญาติมิตร สรรพสัตว์ และเจ้ากรรมนายเวรได้อีกด้วย นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยสร้างความใกล้ชิด ความอบอุ่น และลดการเดินทางไปในที่ต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น ทำให้ตนเองและบุคคลในครอบครัวให้ห่างไกลจากอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์มากขึ้น
2. ประเพณีรดน้ำดำหัวเป็นสิ่งที่ทำต่อเนื่องกันมายาวนานในปีใหม่ไทย เป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อบิดามารดา ผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณ ด้วยความเชื่อที่ว่า เป็นการขอขมาลาโทษ พร้อมทั้ง รับคำอวยพรเพื่อสิริมงคลของชีวิต และประเพณีนี้ยังทรงคุณค่ามาจนทุกวันนี้
3. การเล่นน้ำสงกรานต์เป็นกิจกรรมที่นิยมเล่นกันภายหลังจากทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ และรดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่ เรียบร้อยแล้ว บรรดาพหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็จะเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งน้ำที่ใช้นำมาสาดกันนั้นต้องเป็นน้ำสะอาดผสมน้ำอบมีกลิ่นหอม สถานที่เล่นสาดน้ำสวนใหญ่ เป็นลานวัด หรือลานกว้างของหมู่บ้าน พอเหนื่อยก็จะมีขนมและอาหารเลี้ยง ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันเรี่ยไรออกเงินและช่วยกันทำไว้ จนถึงตอนเย็นจึงแยกย้ายกันกลับไปบ้านเพื่ออาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ แล้วมาชุมนุมกันที่ลาดวัดอีกครั้ง เพื่อร่วมการละเล่นพื้นบ้านในช่วงเวลาค่ำ
โดยการจัดประเพณีสงกรานต์ ของอำเภอประจันตคาม เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 เกิดจากความต้องการของประชาชนในเขตเทศบาลตำบลประจันตคาม ที่ประสงค์ให้มีการจัดงานประเพณีเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ นายวิฑูรย์ นาคะเสถียร นายอำเภอประจันตคาม ในขณะนั้นจึงให้จัดให้มีการประชุมโดยเชิญผู้นำชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมกันปรึกษาหารือกำหนดแนวทางการจัดกิจกรรม โดยมติที่ประชุมได้กำหนดให้จัดประเพณีสงกรานต์ ของอำเภอประจันตคามเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดจัดกิจกรรมครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2547 ณ ที่ว่าการอำเภอประจันตคาม กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย
1. พิธีสรงน้ำพระพุทธรูป
2. พิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ
3. กิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
4. กิจกรรมการประกวดแม่หม้าย
5. กิจกรรมการประกวดภูมิปัญญาพื้นบ้าน อาทิ การแข่งขันถักไม้กวาด, การแข่งขันเฉาะลูกตาล และการแข่งขันจัดสวนหย่อม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการเพิ่มกิจกรรมการเล่นน้ำรอบบริเวณเมืองประจันตคาม โดยทางอำเภอประจันตคามได้ขอความร่วมมือชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณตลาดประจันตคาม ร่วมบริจาคอาหารและเครื่องดื่มจัดเลี้ยงให้กับประชาชนที่เดินทางมาเล่นน้ำบริเวณรอบเมืองประจันตคามฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังได้รับความสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่อำเภอประจันตคามในการให้การสนับสนุนจัดให้มีเวทีดนตรี จำนวน 10 จุด รอบบริเวณสถานที่จัดงาน ด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ. 2550 จึงถือเป็นปีแรกที่กำหนดให้มีการจัดให้มีการเล่นน้ำสงกรานต์รอบเมือง ประจันตคาม โดยใช้ชื่อการจัดงานว่า“วันไหล รวมใจ ประจันตคาม”โดยชื่อของการจัดงานมีที่มาจาก 2 ความหมาย คือ 1) ผู้คนหลั่งไหลมาร่วมงานสงกรานต์ และ 2) การจัดงานเป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหา อุปสรรค
ภายหลัง“ประเพณีสงกรานต์ วันไหล รวมใจ ประจันตคาม”ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในหมู่นักท่องเที่ยว ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียงเพื่อร่วมเล่นน้ำสงกรานต์กับพี่น้องชาวอำเภอประจันตคามอย่างเนื่องแน่นเป็นประจำทุกปี