ขนมเขียวขนมที่ขึ้นชื่อที่สุดของอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นขนมที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นโดยแท้ ขนมเขียว แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่เป็นกระบวนการ ตั้งแต่การเลือกสรรวัตถุดิบและกรรมวิธีทำให้สุกโดยอาศัยฝีมือของผู้ทำเป็นประการสำคัญวัตถุดิบที่นำมาทำแยกเป็น 6 ส่วน คือ ตัวแป้งและไส้ ตัวแป้งเป็นแป้งที่ได้จากข้าวเจ้าผสมใบเตยซึ่งให้ทั้งสีเขียว และกลิ่นหอมเย็นชวนชิมปนกับน้ำตาลทรายให้รสออกหวานเล็กน้อย ส่วนไส้ขนมนั้นประกอบด้วย มะพร้าวขูด ถั่วเขียวผ่าซีกนึ่งจนสุก ผสมกันกับเกลือให้มีรสชาติเค็มปนมันจากมะพร้าว
วิธีที่ทำให้สุกจะเลือกเอาหม้อที่หุงหาอาหารในครัวเรือนนั้นมาใช้ถ้ามีหม้อที่ไม่มีหูจับ เช่น หม้อกลม หรือ หม้อดินจะสะดวกต่อการทำเพราะต้องใช้ผ้าขาวบางหรือผ้าสีขาวมาปิดปากหม้อไว้เจาะผ้านั้นให้เป็นรูกว้างประมาณเท่าไขไก่ขนาดเล็ก เพื่อให้ไอที่ขึ้นมาตามรูที่เจาะไว้นี้เติมน้ำในหม้อแล้วนำตั้งบนเตาไฟ เมื่อน้ำเดือดพล่านแล้วจึงตักแป้งที่เตรียมไว้ หยอดพร้อมละเลงเป็นแผ่นกลมให้บางพอประมาณลงบนผ้าที่ปากหม้อนั้น พร้อมทั้งหาฝามาครอบปิดไว้ กะพอให้ไอน้ำขึ้นมาตามรูที่เจาะไว้ทำให้แป้งสุกเมื่อแป้งสุกแล้ว ใช้พายซึ่งทำจากไม้ไผ่อันเล็กๆ บางๆ ขนาดเท่านิ้วมือนำมาแซะลอกออกไป วางบนก้นจานที่ทาหัวกะทิรอไว้กันติดกันจาน แล้วนำไส้ขนมที่เตรียมไว้มาหยอดใสให้ได้ครึ่งหนึ่งของแป้ง แล้วพับอีกครึ่งมาปิดทับจะได้ตัวขนมที่เสร็จแล้วรูปร่างคล้ายกับถั่วแปบ แต่มีสีเขียวและรสชาติหอมหวาน มันและอร่อย
ประวัติความเป็นมา
ขนมเขียว เป็นขนมพื้นบ้าน ในอดีตมีการทำอย่างแพร่หลายในตำบลสำพันตา อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ แต่เติมเรียกกันว่าข้าวเกรียบอ่อน ขนมเขียวแม่ปุก ได้รับการถ่ายทอดสูตรและวิธีทำมาจากบรรพบุรุษ แต่สูตรยังไม่ค่อยลงตัว จึงมีการพัฒนาปรับปรุงพัฒนาสูตร มาเรื่อย ๆ จนได้สูตรที่อร่อยลงตัวทั้งแป้งและไส้ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อทางอำเภอนาดี จัดงานเทศกาลล่องแก่งหินเพิง Amazing นาดี ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อขนมเขียวปัจจุบัน นางบุญส่ง บุตดา เป็นผู้สืบทอดเป็นรุ่นที่ ๒ และขยายกิจการเพิ่มเป็น ๒ สาขา มีลูกค้ามาซื้อที่หน้าร้านและรับไปขายยังต่างจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร นครปฐม สระบุรี จันทบุรี ชลบุรี ฯลฯ
อัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
ขนมเขียว เป็นขนมพื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี ต้นกำเนิดอยู่ที่อำเภอนาดี เป็นขนมลูกผสมระหว่างข้าวเกรียบปากหม้อกับขนมถั่วแปบ เปลือกที่ใช้ห่อข้างนอกใช้แป้งข้าวเจ้าที่เป็นแป้งโม่ โดยผสมข้าวเจ้าแข็ง น้ำปูนใส ใบเตยสับนำไปโม่ด้วยเครื่องโม่จนได้น้ำแป้งสีเขียว นำไปผสมกับแป้งข้าวเจ้าชนิดและแป้งมัน นำไปละเลงบนผ้าขาวบางที่คลุมอยู่บนปากหม้อที่ตั้งน้ำไว้จนเดือด พอสุกแคะใส่จาน ตักไส้ที่ประกอบด้วยถั่วเหลือง มะพร้าวขูด น้ำตาลทราย และเกลือ พับครึ่ง ตักใส่จาน ขนมนี้ต่างจากข้าวเกรียบปากหม้อที่ไม่ต้องกินกับผัก และไม่ต้องกินกับน้ำตาลทรายโรยเกลือเหมือนขนมถั่วแปบ
ส่วนผสมไส้ ถั่วเขียวเราะเปลือก 0.5 กิโลกรัม มะพร้าวทึนทึก 1 ลูก น้ำตาลทราย 3 ซ้อนโต๊ะ เกลือป่น วิธีการทำ แช่ถั่วเขียวค้างคืน 1 คืนล้างให้สะอาดนำไปนึ่งให้สุก ขูดมะพร้าวทึนทึกเป็นเส้นหยาบๆ นำไปนี่งให้สุก นำถั่วเขียวและมะพร้าว, น้ำตาลทราย, เกลือป่นคลุกเคล้าให้เข้ากันตามสัดส่วนชิมรสให้อร่อยตามใจชอบ ส่วนผสมของแป้ง แป้งข้าวเจ้า 2.5 ถ้วยตวง แป้งมันสำปะหลัง 1.5 ถ้วยตวง น้ำตาลทราย 2 ถ้วยตวง น้ำปูนใส 7 ถ้วยตวง ใบเตยตามความเหมาะสม
วิธีการทำล้างใบเตยให้สะอาดนำมาหั่นเป็นฝอยแล้วนำปั่นกับน้ำปูนใสให้ละเอียด บีบเอาแต่น้ำ แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง นำแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำตาลทรายผสมกับน้ำใบเตยตามสัดส่วนแล้วใช้ทัพพี คนให้เข้ากัน นำแป้งที่ผสมแล้วมาทดลองว่าแข็งหรือนิ่มจนเกินไปหรือไม่ โดยนำแป้งลงละเลงบนผ้าที่ผูก ปากหม้อนึ่งที่น้ำเดือดแล้ว โดยละเลงเป็นวงกลมใช้ฝาหม้อปิดไว้ประมาณ 1 นาทีแป้งจะสุก ใช้ไม้ที่เหลาแบนๆ บางๆ แคะแป้งออกจากผ้า ถ้าแป้งขาด แสดงว่าแป้งนิ่มเกินไปให้เติมแป้งมันและแป้งข้าวเจ้า ถ้าแป้งแข็งเกินไปให้เติมน้ำปูนใสและทดลองเนื้อแป้งใหม่ ถ้าส่วนผสมแป้งดีแล้วให้ตักแป้งละเลงบนผ้า ให้เป็นวงกลม ใช้ไม้แคะออกมาวางบนก้นจานที่ทาหัวกะทิไว้ก่อน เพื่อไม่ให้แป้งติดบนก้นจาน นำแป้ง ที่เตรียมไว้ตักไส้ใส่ประมาณ 1 ช้อนชาแล้วพับครึ่ง วางใส่ถาดพร้อมรับประทาน
คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
ขนมเขียวนับเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญด้านอาหารและโภชนาการ ซึ่งมีกระบวนการการผลิตที่อาศัยความรู้ในการประกอบอาหารอย่างมีรายละเอียด ขั้นตอนในการปฏิบัติ มีเทคนิควิธีการและเคล็ดลับในการปรุงรสชาติที่กลมกล่อมและอร่อย การสืบทอดด้านการประกอบอาชีพของครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น สามารถสร้างรายได้และมีการต่อยอดระบบการผลิตและการบริหารจัดการได้ เช่น บรรจุภัณฑ์ วิธีการจาหน่ายทางระบบออนไลน์ เป็นขนมพื้นถิ่นที่มีชื่อเสียงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้นิยมบริโภคและซื้อเป็นของฝาก อีกทั้งยังเป็นเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญามีภาคภูมิใจ ในภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านการผลิตอาหารที่มีเทคนิควิธีการ ขั้นตอน รายละเอียดและรสชาติที่มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ