ข้าวต้มมัดเป็นขนมไทยที่มีมาแต่โบราณ ทำจากข้าวเหนียวผัดกับกะทิ แล้วห่อด้วยใบตองใส่ไส้กล้วยน้ำว้า จากนั้นนำไปนึ่งให้สุก นิยมรับประทานโดยทั่วไปและนำไปถวายพระในงานบุญวันออกพรรษา ตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น นับเป็นภูมิปัญญาด้านอาหารในการนำข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยมาประยุกต์ปรุงแต่งเป็นขนมหวานที่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร และสามารถหาวัตถุดิบในการทำได้ง่ายในท้องถิ่น โดยเฉพาะในตำบลคู้ลำพัน อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ที่มีการทำข้าวต้มมัดสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ด้วยรสชาติและรสสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ข้าวต้มมัดคู้ลำพันเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ประวัติความเป็นมา
แต่โบราณข้าวต้มมัดเป็นขนมที่นิยมทำในทุกท้องถิ่น แต่ละท้องถิ่นก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป อาทิเช่น ทางภาคเหนือจะเรียกว่า “ข้าวต้มผัด” เรียกตามวิธีการทำซึ่งนำข้าวเหนียวไปผัดกับกะทิ ทางภาคกลางเรียกว่า“ข้าวต้มมัด”เรียกตามรูปลักษณ์ที่มีห่อและมัดเป็นกลีบโดยใช้ใบตองและเชือกกล้วย ส่วนทางภาคใต้จะเรียกว่า “เหนียวห่อกล้วย” เรียกตามวิธีการทำที่เป็นการนำข้าวเหนียวมาห่อกล้วยเอาไว้และห่อปิดด้วยใบตองอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ บางท้องถิ่นจะห่อข้าวต้มมัดเป็นทรงกรวยโดยใช้ใบกระพ้อแต่ไม่มัด หรือห่อเป็นก้อนด้วยใบเตยหรือใบอ้อย แล้วไว้หางยาว ซึ่งจะเรียกว่า“ข้าวต้มลูกโยน”
ข้าวต้มมัดคู้ลำพัน(สูตรจากคุณยายหม่องยิ้น) สืบทอดสูตรการทำมานานกว่า ๑๐๐ ปี คุณยายมีเชื้อสายจีนมาตั้งรกรากที่ตำบลคู้ลำพัน อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี มีสูตรและขั้นตอนการทำข้าวต้มมัดที่อร่อยและกลมกล่อม เดิมทีห่อเป็นรูปทรงมัดคู่เช่นเดียวกับข้าวต้มมัดทั่วไป ต่อมามีการปรับปรุงรูปทรงการห่อเป็นมัดเดี่ยว ให้รสชาติและรสสัมผัสที่เหนียวแน่นเป็นเอกลักษณ์ ต่างจาก
ข้าวต้มมัดทั่วไป ปัจจุบันข้าวต้มมัดคู้ลำพัน (สูตรจากคุณยายหม่องยิ้น) มีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ในชื่อเพจ ข้าวต้มมัดคู้ลำพัน จึงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
ในตำบลคู้ลำพันก็มีการทำข้าวต้มมัดกันอย่างแพร่หลายในหลายครัวเรือน แต่ละครัวเรือนมีการสืบทอดสูตรและเคล็ดลับความอร่อยที่เป็นเฉพาะของตนเอง ข้าวต้มมัดจึงกลายเป็นที่นิยมและเป็นของฝากจากตำบลคู้ลำพัน
อัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
ส่วนผสมและสัดส่วน
๑. ข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู ๑ กิโลกรัม
๒. กะทิ ๑ กิโลกรัม
๓. กล้วยน้ำว้าสุกแต่ไม่งอม ๑๗ ผล
๔. ถั่วดำ ๔๐๐ กรัม
๕. น้ำตาลทราย ๕๐๐ กรัม
๖. เกลือ ๑ ช้อนโต๊ะ
๗. ใบตองสำหรับห่อ
๘. ตอกแช่น้ำจนนิ่ม
จากส่วนผสมข้างต้น จะได้ข้าวต้มมัดประมาณ ๕๐ มัด
ขั้นตอนการทำ
๑. ล้างถั่วดำให้สะอาด จากนั้นแช่น้ำไว้ประมาณ ๔ ชั่วโมง จากนั้นต้มถั่วดำด้วยน้ำเดือดประมาณ
๓๐-๔๐ นาทีจนสุก แล้วสะเด็ดน้ำพักไว้
๒. นำข้าวเหนียวแช่น้ำอย่างน้อย ๓ ชั่วโมง แล้วสะเด็ดน้ำพักไว้
๓. ปอกเปลือกกล้วย แล้วหั่นตามแนวยาวเป็น ๓ ชิ้นต่อผล
๔. นำกะทิขึ้นตั้งไฟ เริ่มเคี่ยวด้วยไฟกลางจนกะทิข้นขึ้น จากนั้นใส่ข้าวเหนียวลงไปแล้วคนไปในทิศทางเดียวกัน ข้าวเหนียวจะดูดซึมกะทิจนหมด จากนั้นใส่ถั่วดำ น้ำตาล และเกลือลงไปคนต่อประมาณ ๕ นาที จนข้าวเหนียวหนืดขึ้นเงา ตักขึ้นพัก
๕. เริ่มห่อด้วยการวางใบตอง ๒ ใบซ้อนกันหันด้านมันออก ตักข้าวเหนียวลงไปประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ วางกล้วยตามลงไป พับใบตองครึ่งหนึ่งให้เป็นรูปสามเหลี่ยมจำนวนสองทบ จับจีบหัวและท้าย ใช้ตอกมัดด้านหัว ด้านท้าย และตรงกลางห่อให้แน่น
๖. นำข้าวต้มมัดไปนึ่งด้วยไฟแรงประมาณ ๓ ชั่วโมงจนข้าวเหนียวสุก
คุณค่าทางวัฒนธรรมด้านอาหาร
ข้าวต้มมัดคู้ลำพันเป็นภูมิปัญญาด้านอาหารในการปรุงแต่งขนมหวานที่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร และสามารถหาวัตถุดิบในการทำได้ง่ายในท้องถิ่น มีขั้นตอนการทำที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน อาศัยความละเมียดละไมและเทคนิคความชำนาญในการห่อ มีเคล็ดลับในปรุงรสชาติที่อร่อยและกลมกล่อม
คุณค่าในทางเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพ
ด้วยความเจริญทางสังคมมีมากขึ้น ทำให้การทำข้าวต้มมัดในครัวเรือนเพื่อรับประทานหรือเพื่องานบุญถวายพระมีลดน้อยลง จึงเป็นช่องทางในการจำหน่ายข้าวต้มมัดคู้ลำพันให้แก่ผู้บริโภค จากการ
สืบทอดด้านการประกอบอาชีพของครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น มีการต่อยอดระบบการผลิต/การบริหารจัดการด้านบรรจุภัณฑ์และวิธีการจำหน่ายทางระบบออนไลน์ สามารถสร้างรายได้และสร้างความมั่นคงแก่คนในชุมชน ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการเป็นชุมชนที่เข็มแข็งสามัคคีและยั่งยืนต่อไป