ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 17' 33.7286"
16.2927024
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 21' 58.2739"
99.3661872
เลขที่ : 197902
ประเพณีฟังธรรมขุนน้ำ
เสนอโดย กำแพงเพชร วันที่ 24 พฤษภาคม 2566
อนุมัติโดย กำแพงเพชร วันที่ 24 พฤษภาคม 2566
จังหวัด : กำแพงเพชร
0 341
รายละเอียด

โดยอาจารย์ สนั่น ธรรมธิ แห่งสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงประเพณีฟังธรรมปลาช่อนเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้ว่า.....

"......ในพิธีกรรมขอฝนตามความเชื่อของชาวล้านนา สิ่งที่นิยมปฏิบัติคือ สวดพระปริตร์ คาถา ขอฝนและคาถามหาเมฆ ตามด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง "พญาปลาช่อน" หรือชื่อเต็มคือ "มัจฉาพญาปลาช่อน" ซึ่งเป็นหัวใจของงาน

พระธรรมเทศนาดังกล่าวเป็นคัมภีร์ประเภทชาดก เนื้อเรื่องผูกขึ้นโดยมีพญาปลาช่อนเป็นตัวละครเอกบำเพ็ญสังคหวัตถุธรรมจนสามารถช่วยเหลือบริวารให้รอดพ้นจากภัยแล้งได้สำเร็จ เรื่องนี้เมธาจารย์ผูกเรื่องไว้ดังนี้

ในครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นราชาปลาช่อน ได้ปกครองบริวารปลาทั้งหลายในสระแห่งหนึ่ง ซึ่งแวดล้อมด้วยไม้นานาพันธุ์ ครั้งหนึ่งเกิดภาวะแห้งแล้งไปทั่ว ข้าวกล้าพืชพันธุ์เหี่ยวเฉาตาย น้ำในแหล่งน้ำแห้งขอด เหล่ามัจฉาชาติและสัตว์น้ำถูกบรรดาแร้ง เหยี่ยว กาและนกกระยางโฉบลงมาจิกกินเป็นอาหาร ปลาและสัตว์น้ำต่างได้รับความเดือดร้อน ราชาปลาช่อนเห็นดังนั้นก็ออกมาตั้งจิตอธิษฐาน พร้อมมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ประกาศคาถาว่า แม้นตนจะเกิดมาในฐานะที่บริโภคสัตว์ด้วยกันก็จริงอยู่ แต่ตนก็มิเคยเบียดเบียนสัตว์ใด ด้วยสัจจะดังกล่าวขอให้ฝนตกลงมา เพื่อสงเคราะห์สัตว์ที่กำลังเดือดร้อนด้วยเถิด

ด้วยอานุภาพแห่งสัจจาธิษฐาน ทำให้แท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์ร้อนและแข็งกระด้าง เมื่อพระอินทร์ทราบเหตุก็บัญชาให้เทพบุตรชื่อ วลาหกเทพบุตร ลงมาบันดาลให้ฝนตก โดยห่มคลุมกายด้วยผ้าสีเขียวเหมือนเมฆ ขับเพลงอันมีชื่อ "เมฆคีตะ" ผินหน้าเฉพาะทิศตะวันตก พลันเหล่ามวลเมฆก็แตกเป็นเสี่ยง เกิดเสียงกึกก้องทั่วจักรวาลเกิดเป็นฝนห่าใหญ่เนืองนองทั่วท้องปฐพี

จากเนื้อหาของเรื่อง จึงนิยมนำคัมภีร์นี้มาอ่านแสดงเป็นพระธรรมเทศนาประกอบพิธี ซึ่งพิธีจะประกอบด้วยกิจกรรมโดยสังเขปคือ หาสถานที่ที่เหมาะสม เช่น บริเวณต้นน้ำ ลำธารใหญ่ หรือแม่น้ำที่อยู่ทิศตะวันออกหรือทิศเหนือของหมู่บ้าน ขุดสระจำลองขึ้นโดยให้กลางสระเป็นเกาะสำหรับประกอบพิธี รอบๆ สระมีการขัดราชวัตรประดับธงทิว พร้อมต้นกล้วย อ้อย ข่า ตระไคร้ ใบขิง แกะรูปสัตว์ปีก คือ กา นกกระยาง เหยี่ยว และแร้ง เกาะจับตามกิ่งไม้โดยให้กาอยู่ทิศตะวันออก นกกระยางอยู่ทิศใต้ เหยี่ยวเกาะทิศตะวันตกและแร้งจับกิ่งไม้ทิศเหนือ จัดหาปลาช่อนตัวใหญ่ไว้สองตัว พร้อมสัตว์น้ำนานา อาทิ กุ้ง ปู หอย ไว้จำนวนหนึ่ง

เมื่อถึงวันงาน พระสงฆ์จะเจริญพุทธมนต์บนเกาะกลางสระ จากนั้นพระเถระรูปใดรูปหนึ่ง อ่านคัมภีร์พญาปลาช่อน พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์แล้วปล่อยปลาช่อน และสัตว์น้ำท่ามกลางเสียงฆ้องกลองประโคมไปทั่วอาณาบริเวณ

ด้านรายละเอียดของพิธี แต่ละถิ่นอาจมีข้อปฏิบัติแปลกแยกออกไป บางแห่งมีการเชิญพระอุปคุต บูชาพระปัชชุนเทวบุตรหรือสรงน้ำพระพุทธรูปฝนแสนห่า เป็นต้น

คัมภีร์พญาปลาช่อน เป็นคัมภีร์ใบลาน จารด้วยอักษรธรรมล้านนา ปกติเก็บรักษาไว้ในหีบ พระธรรม ปีใดเมื่อจะประกอบพิธีขอฝน คัมภีร์ดังกล่าวจะถูกนำมาอ่านในพิธีเสมอมา....."

ประเพณีฟังธรรมขุนน้ำ ชาวบ้านในตำบลคลองน้ำไหล ได้ร่วมกันจัดขึ้นทุกปี ในวันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 (เดือนทางภาคเหนือ) เพื่อ "ขอฝน" บูชาผีขุนน้ำหรือบูชาสายน้ำที่ได้ประทานความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์มาให้กับชุมชนตลอดทั้งปี เป็นการสืบชะตาให้กับสายน้ำ แสดงความกตัญญูต่อสายน้ำ ที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตให้กับชาวชุมชน ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านได้ช่วยกันสืบสานต่อๆ กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เพื่อช่วยกันอนุรักษ์สายน้ำต่างๆ ให้มีความสะอาดบริสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป

คำสำคัญ
ขอฝน
สถานที่ตั้ง
น้ำตกคลองน้ำไหล
ตำบล หนองน้ำไหล อำเภอ คลองลาน จังหวัด กำแพงเพชร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
พระครูพิศาลวัชราภรณ์
บุคคลอ้างอิง นายสมานชัย สุทา
ตำบล หนองน้ำไหล อำเภอ คลองลาน จังหวัด กำแพงเพชร
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่