บุญซำฮะ (บุญชำระ) หรือ บุญเบิกบ้าน เป็นงานบุญในเดือนเจ็ด (ราวเดือนมิถุนายน)ตามฮีต 12 คอง 14ของคนอีสาน(ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธ์ลาว ซึ่งร่วมถึงชาวลาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น) แต่ในบางพื้นที่นิยมจัดในเดือนหกซึงเป็นประเพณีต่อเนื่องจากการเลี้ยงผีปู่ตา เป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีเป็นเสนียดจัญไรอันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง เป็นการปัดเป่าความชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้าน ชาวบ้านจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อยเป็นการทำความสะอาดครั้งใหญ่ในรอบปี สิ่งที่ไม่ ดีทั้งหลายให้ขจัดออกไป เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในหมู่บ้าน มูลเหตุที่มีการทำบุญซำฮะ เนื่องมาจากสมัยพุทธกาลมีโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดมีผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมากที่เมืองไพศาลี พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จมาโปรดทำให้เกิดฝนห่าใหญ่มาชำระบ้านเมือง มีการสวดปัดรังควานและประพรมน้ำมนต์ตามหมู่บ้าน และแก่ชาวบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล (บุญศรี ตาแก้ว, 2545: 156) ซึ่งความเชื่อนี้ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ในผญาของคนอีสานโบราณได้กล่าวถึง บุญซำฮะ โดยมีเนื้อหาดังนี้
“...ฮีตหนึ่งนั้น พอเมื่อเดือน 7 แล้ว
จงพากันบูชาราช ฝูงหมู่เทพเหล่าฮั้นฃ
บูชาแท้สู่ภาย ตลอดไปฮอด อาฮักใหญ่มเหสัก
ทั้งหลักเมือง สู่หนบูชาเจ้า
พากันเอาใจตั้งทำตามฮีตเก่า
นิมนต์สังฆเจ้าชำฮะแท้สวดมนต์
ให้ฝูงคนเมืองนั้นทะกันอย่าได้ห่าง...”(ว.ศรีสุโร, 2541: 65)
การประกอบพิธีกรรม
เมื่อถึงเดือนหกหรือเดือนเจ็ดคนในชุมชนก็จะกำหนดวันทำบุญบ้านในวันใดวันหนึ่ง เมื่อถึงวันก็จะมีการปลูกปะรำพิธี (ผาม) บริเวณ “หลักบือบ้าน”( ซึ่งในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ใช้บริเวณศาลากลางบ้านประกอบพิธีแทนการปลูกผาม (สมชาย นิลอาธิ, มปป.: 110) ก่อนจะเริ่มพิธีซำฮะนั้น เฒ่าจ้ำจะทำพิธีเชิญเจ้าปู่หรือผีปู่ตามาร่วมพิธีโดยการนำขันกะยองจากศาลปู่ตามาตั้งไว้บริเวณหลักบือบ้าน และให้ทุกเรือนจะต้องเตรียมด้ายไนไหมหลอด (สีขาว) โยงจากบริเวณปะรำพิธีไปบ้านเรือนของตนต่อไปเรื่อยๆจนครบทุกหลังคาเรือน เตรียมขวดน้ำ ด้ายผูกข้อมือ ขันน้ำหอม ตอนเย็นนิพระมาสวดพระพุทธมนต์ ตอนเช้าพระสงค์เจริญพระพุทธมนต์ ถวายบิณฑบาตแด่พระสงฆ์ รับศีล ปะพรหมน้ำพระพุทธมนต์นำเสลี่ยงหามพระเดินไปรอบหมู่บ้านหว่านหินแห่ หว่านทราย ตอกหลักบ้านหลักเมืองตอกหลักปีหลักเดือน เสร็จพิธีแล้วนำน้ำพระพุทธมนต์ปะพรมสัตว์เลี้ยง วัว ควาย และบุตรหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข(สุภาพ บุตรวิเศษ, 2558)
พิธีกรรมต่อเนื่อง
ภายหลังจากทำบุญซำฮะแล้วยังมีการทำพิธีกรรมเกี่ยวเนื่องคือพิธีไหว้ผีตาแฮก(ผีประจำไร่นา) ซึ่งถือเป็นการประกอบพิธีกรรมก่อนการทำนาของคนอีสานและเซ่นสรวงหลักเมืองเพื่อเป็นการระลึกถึงผู้มีพระคุณเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขซึ่งล้วนเป็นประเพณีที่จัดต่อเนื่องจาก บุญซำฮะ
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม
ในยุคปัจจุบันนี้ประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตาและประเพณีบุญซำฮะ กำลังเผชิญกับการคุกคามจากความเปลี่ยนแปลงของโลก ยุคโลกาภิวัฒน์ ความเป็นอีสานและวัฒนธรรมท้องถิ่น กำลังเผชิญกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ อันเป็นผลมาจากการเข้ามาของระบบทุนนิยมในภาคอีสานผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ยุค พ.ศ.2500 อันมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลให้ขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างได้เริ่มทยอยสูญหายไปอย่างช้าๆ
ในอดีตนั้นชาวอีสานส่วนใหญ่อยู่กันแบบสังคมชนบท บางทีเรียกว่า สังคมแบบชาวบ้าน ที่ประชากรมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน อยู่กับธรรมชาติ ไม่หนาแน่นมีการแข่งขันกันน้อยสภาพการครองชีพต่ำส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำให้ต้องพึ่งพาอาศัยแรงงานแลกเปลี่ยนกัน มีความใกล้ชิดกัน และยึดมั่นอยู่กับขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงง่าย ๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย แต่ภายหลังการเข้ามาของพัฒนาเริ่มทำให้วิถีชีวิตแบบดังเดิมนั้นหายไปมีการย้ายถิ่นฐานเพื่อไปประกอบอาชีพตามภูมิภาคต่างๆ สังคมแบบดั้งเดิมของชาวอีสานเริ่มแปลสภาพเป็นสังคมเมือง ดังจะเห็นได้จากในปัจจุบัน ที่ความเป็นชุมชนหรือหมู่บ้านแบบเก่านั้นเริ่มหายไปจากไปสังคมอีสาน มีการเข้ามาของชุมชนสมัยใหม่ เช่น หมู่บ้านจัดสรร ตึกแถว คอนโดมิเนียม หอพัก ห้องเช่า ชุมชนรูปแบบใหม่นี้ เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่มาจากหลากหลายพื้นที่และมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งแน่นอนชุมชนเหล่านี้ไม่มีพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่จะลองรับประเพณีความเชื่อแบบดั้งเดิมของท้องถิ่น หลักบือบ้าน/ดอนปู่ตา ถูกแทนที่ด้วย “ศาลพระภูมิ” ที่ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสาน
การศึกษาและเทคโนโลยีสมัยใหม่สมัยใหม่ก็ส่งผลเช่นกัน เห็นใด้จาก กลุ่มคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนมักไม่ค่อยสนใจกับประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นอันเป็นผลจากการต้องประกอบอาชีพสมัยใหม่ ที่ไม่ใช้การทำเกษตรกรรม ส่งผลให้ “สังคมแบบประเพณี” คือ การดำรงชีวิตร่วมกันในกรอบจารีตประเพณีที่รับรู้หรือถ่ายทอดกันลงมาจากคนรุ่นปู่ย่าตายาย (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2551: 15) สูญหายไป จึงจะเห็นได้ว่าในบางชุมชนนั้นประเพณีบางอย่างเริ่มสูญหายไป หลักบือบ้านและดอนปู่ตา เริ่มเสือมความสำคัญลง บางท้องถิ่นก็หายไป
ประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตาและประเพณีบุญซำฮะ เป็นประเพณีความเชื่อของคนอีสานที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หรือเรียกว่า “สังคมแบบประเพณี” ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากความเชื่อในเรื่องจิตวิญญานที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามประเพณีทั้งสองนี้ก็เริ่มจางหายไปอันเป็นจากการพัฒนาและการเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ จึงทำให้ ประเพณี ความเชื่อ และ ความศักดิ์สิทธิ์ ต้องเผชิญกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่
บรรณานุกรม
บุญศรี ตาแก้ว, 2545.ธรรมเนียมประเพณีอีสาน. กรุงเทพฯ: ส.ธรรมภักดี.
ว.ศรีสุโร, 2541. ปู่ตา – อาฮัก. วารสารศิลปวัฒนธรรม ปี 19 ฉบับที่ 5-9( มี.ค.-ก.ย.) : หน้า64.
ศรีศักร วัลลิโภดม, 2551.ความหมายของภูมิวัฒนธรรม การศึกษาจากภายในและสำนึกของท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
สมชาย นิลอาธิ, มมป. บุญซำฮะ – เบิกบ้าน : พิธีกรรมสร้างความบริสุทธิ์เพื่อชีวิตที่สมบูรณ์.
สุภาพ บุตรวิเศษ, 2558. (สัมภาษณ์) อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 73 ต.กู่สันตรัตน์ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม (ผู้สัมภาษณ์ : นนทนันท์ เวทสรากุล, วันที่สัมภาษณ์ 5 กันยายน 2558.
https://sites.google.com/site/social54131108024/bth-thi2
www.stou.ac.th