“ประเพณีตักบาตรหาบจังหัน” หรือ "ประเพณีการหาบสาแหรก" เป็นประเพณีท้องถิ่นที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ของชุมชนลาวเวียงตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ คำว่า “จังหัน” หมายถึงภัตตาหารที่จะถวายแด่พระสงฆ์ในยามเช้า โดยพระสงฆ์จากวัดหาดสองแควจะแบ่งสายกันออกเดินบิณฑบาตไปตามหมู่บ้าน เดินไปจนสุดเส้นทางแล้วก็จะเดินกลับ ขณะที่พระเริ่มเดินกลับนี่เอง ชาวบ้านที่อยู่ท้ายบ้านจะตีเกราะเป็นสัญญาณให้ทุกบ้านรู้ เพื่อจะได้ออกมายืนรอตักบาตร ชาวบ้านจะตักบาตรพระสงฆ์เฉพาะข้าวสุก (ข้าวเจ้า) เท่านั้น แต่กับข้าว อาหารคาวหวาน ชาวบ้านจะวางสำรับไว้บนแป้นไม้หน้าบ้านของตนเอง และจะมีนางหาบ นายหาบ เดินเก็บอาหารตามแป้นไม้หน้าบ้านใส่สาแหรกหาบไปส่งที่วัด เมื่อถึงวัดจะนำอาหารถวายพระ โดยผู้ชายจะทำหน้าที่ประเคน แล้วนั่งรอจนพระฉันเสร็จ เมื่อพระให้ศีลให้พรแล้ว จะนำอาหารมารับประทานกัน ส่วนที่เหลือก็ส่งกลับเจ้าของเดิม ถ้าถ้วยอาหารของใครหมด คนหาบก็จะตักข้าวสุกใส่ให้จนเต็มถ้วย จากนั้นจะหาบถ้วยอาหารไปวางคืนไว้ตามแป้นไม้หน้าบ้านตามเดิมโดยไม่ผิดชามผิดบ้าน การตักบาตรเฉพาะข้าวเปล่าแล้วค่อยนำอาหารไปถวายที่วัดนี้มักพบเห็นในประเทศลาว หรือจังหวัดในภาคอีสานของไทย เช่นที่ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นต้น ต่างกันตรงที่เป็นการตักบาตรข้าวเหนียวแทนข้าวเจ้า โดยการหาบจังหันเป็นกุศโลบายที่เชื่อว่า ยิ่งหาบหนักยิ่งได้บุญมาก ปัจจุบันชาวชุมชนลาวเวียงตำบลหาดสองแควยังมีการสืบทอดวิถีชีวิตอันงดงามและเป็นอัตลักษณ์นี้ โดยจัดเป็นกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวและพักในโฮมสเตย์ของชุมชน และยังมีการพัฒนาต่อยอดประเพณีหาบจังหัน โดยนำไปจัดทำเป็นของที่ระลึก ได้แก่ สาแหรกจิ๋ว และกระเป๋าผ้าด้นมือลวดลายหาบจังหัน ก่อเกิดเป็นรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย