ฟ้อนเจิง เป็นนาฏกรรมที่สะท้อนรูปแบบศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนไทยทางภาคเหนือที่นำเอาเรื่องราวของศิลปะป้องกันตัว ซึ่งเมื่อครั้งอดีตผู้ชายชาวล้านนามักจะมีการแสวงหาเรียนรู้ “เจิง” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันภัยให้กับตัวเอง ด้วยรูปแบบและลีลาท่าทางในการแสดงออกที่มีทั้งความเข้มแข็ง สง่างาม ที่ซ่อนเร้นชั้นเชิงอันเป็นแม่ไม้เฉพาะตน ซึ่งสลับท่าทาง ไปมา ยากในการที่จะทำความเข้าใจ ฟ้อนเจิงเป็นศิลปะการฟ้อนที่แสดงให้เห็นถึงชั้นเชิง ลีลาการต่อสู้ อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไทย มีการต่อสู้ทั้งรุกและรับ หลอกล้อกันอย่างสนุกสนาน ประลองไหวพริบปฏิภาณกัน เอาชนะกันอย่างมีชั้นเชิงให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ข่มเหงเอาเปรียบกันและแสดงถึงอัตลักษณ์
ในปัจจุบันการฟ้อนเจิง ถูกนำมาประยุกต์เป็นท่ารำสำหรับเคลื่อนไหว กายบริหารในหมู่คนรักสุขภาพเป็นจำนวนมากในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะกลุ่มสตรีแม่บ้าน พ่อบ้าน กลุ่มหนุ่มสาว ที่ใฝ่ใจรักในศิลปะแขนงนี้ ฟ้อนเจิงเป็นการแสดงลีลาท่ารำการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เมื่อถูกนำมาประยุกต์ เป็นท่วงท่าการออกกำลังกายจึงเป็นการบริหารร่างกายได้อย่างครบทุกสัดส่วนทำให้ร่างกายที่ถูกบริหารตามแบบฉบับการฟ้อนเจิง มีความแข็งแรง