วัดมหาธาตุ ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองยโสธร มาตั้งแต่แรกสร้างเมือง ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองยโสธร อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ซึ่งภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง พระพุทธรูปบูชาประจำเมืองที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย พระธาตุอานนท์ พระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์แห่งเดียวในประเทศไทย และหอไตรกลางน้ำที่มีศิลปะงดงาม มีพระเทพวงศาจารย์ (สำลี คุตตสีโล) เป็นเจ้าอาวาสวัดรูปปัจจุบัน ซึ่งวัดมหาธาตุ เป็นวัดพระอารามหลวงที่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญอย่างยิ่งของชาวจังหวัดยโสธร เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นทางธรรมหรือทางโลก ซึ่งในสมัยก่อนแหล่งเรียนรู้ของมนุษย์ก็คือวัด ดังนั้นวัดจึงเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในการเรียนรู้ ตลอดจนเป็นที่พัฒนาจิตใจของมนุษย์และเพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของพี่น้องชาวพุทธ อีกทั้งยังเป็นการบำเพ็ญกุศลและนมัสการพระธาตุอานนท์ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีส่วนร่วมในการทำบุญ เพื่อทำนุ บำรุง ดูแล รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศาสนสถานต่าง ๆ ภายในวัด ตลอดจนการพัฒนาวัดในด้านต่าง ๆ เป็นต้น
พระธาตุพระอานนท์ ถือได้ว่าเป็นพระธาตุเก่าแก่ที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน การก่อสร้างได้รับอิทธิพลศิลปะลาวที่นิยมสร้างขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงต้นรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันพระธาตุพระอานนท์ ตั้งอยู่ในวัดมหาธาตุ (พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ตามประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 1218 ผู้สร้างชื่อ เจตตานุวิน และจินดาชานุ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องชาวเมืองเวียงจันทร์ กับเอียงเวธา ชาวขอม ร่วมกันสร้างขึ้น ลักษณะของพระธาตุพระอานนท์เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยม หรือทรงพรหมสี่หน้า ฐานก่อด้วยอิฐหรือปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 8 เมตร มีความสูง 25 เมตร 30 เซนติเมตร ส่วนของยอดคล้ายพระธาตุพนม ทรงดอกบัวเหลี่ยมช้อนกัน 3 ชั้น สำหรับอัฐิธาตุของพระอานนท์ ได้มาจากเทวนครประเทศอินเดีย ในคราวที่เจตตานุวิน และจินดาชานุได้ถือเพศบรรพชิต ธุดงค์ไปเมืองเทวนครได้พบเห็นอัฐิธาตุ จึงได้สอบถามชาวเมืองและทราบว่าเป็นอัฐิธาตุ ของพระอานนท์ ทั้ง 2 จึงได้จัดเครื่องสักการะบูชาแล้วอธิษฐานจิต ขอเห็นอภินิหารของพระอัฐิธาตุ ซึ่งได้บังเกิดมีลมพัดห่อผ้าอัฐิธาตุ ลอยขึ้นสู่อากาศเป็นอัศจรรย์ เจตตานุวิน จึงอธิษฐานจิตให้ห่อผ้าพระอัฐิธาตุลอยลงมา ห่อผ้าลอยลงมาเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เจตตานุวิน และจินดาชานุ จึงได้ขอแบ่งผงธุลีและอัฐิธาตุ 1 องค์ จากท้าวพระยาเจ้าเมืองเทวนคร กลับนครเวียงจันทร์และในการก่อสร้างเจดีย์พระธาตุพระอานนท์ ใช้เวลาในการก่อสร้าง 8 เดือน 25 วัน จึงแล้วเสร็จ
งานสมโภชพระธาตุพระอานนท์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจัดในวันขึ้น 13 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือน 3 ตามฮีตคลองของชาวอีสาน คือ เดือนมีนาคม ในคืนแรกจะจัดพิธีสมโภชองค์พระธาตุพระอานนท์ ผู้ที่มาร่วมงานแต่งกายด้วยชุดขาว ทำพิธีตลอดทั้งคืน ปฏิบัติธรรม เจริญจิตภาวนา การบูชาพระธาตุก็ต้องทำตามอย่างของคนในอดีต คือ ทำทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาจึงจะสามารถธํารงสืบต่อพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างสมบูรณ์และการบูชาพระเจดีย์ย่อมจะอํานวยผลานิสงส์ที่พึงประสงค์ให้ได้ตามสมควรแก่การปฏิบัติจัดเป็นการทำหน้าที่ธํารงสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้มั่นคงต่อไป