หมอนหน้าอิฐเป็นหมอนที่ชาวลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้ในชีวิตประจำวัน คือ ใช้หนุนนอน มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมเหมือนอิฐ ตัวหมอนจะถูกแบ่งเป็นช่องๆ ไว้สำหรับยัดนุ่นได้ ๖ ช่องหรือ ๖ ลูก จึงเรียกว่า “หมอนหก” หากทำเป็น ๘ ช่อง ก็จะเรียกว่า “หมอนแปด” ผ้าที่ใช้ทำเป็นตัวหมอนจะทำด้วยผ้าดิบหรือผ้าฝ้ายทอสีขาวและเย็บด้วยผ้าสีแดงเป็นแถบทางด้านซ้าย-ขวา ด้านหน้าของหมอนทั้งสองข้างจะมีผ้าจกเป็นลวดลาย ๒ สี คือ เหลือง – เขียว หรือ ดำ – แดง ส่วนพื้นจะเป็นสีแดงหรือสีเปลือกมังคุด ปัจจุบันด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หมอนหน้าอิฐมีผู้นิยมใช้ในชีวิตประจำวันลดลง แต่ยังมีการผลิตเพื่อสืบทอดศิลปะพื้นถิ่นไว้ และจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้แก่ผู้มาเยือนลับแล มีการจัดแสดงหมอนหน้าอิฐ ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวนลับแล เพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาดูงาน