หมอนผาลับแล มีลักษณะเป็นหมอนผาแบบโบราณ คือ เป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ฐานแคบกว่าอีกสองด้าน หน้าหมอนมีทั้งปักดิ้นและเป็นผ้าทอกลุ่มลาวครั่ง แตกต่างจากหมอนขวานของทางอีสานที่จะทำเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า ในภาคกลางเป็นหมอนตกแต่งลายจกด้านข้างไม่ตกแต่งหน้าหมอน แต่ในชุมชนเมืองลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีการปักตกแต่งหน้าหมอน ด้วยดิ้นและมีลวดลายที่สวยงาม ทั้งลายนาค ลายหงส์ เป็นต้น คนลับแลไม่นิยมพิงหมอนผา แต่ทำหมอนผาขึ้นเพื่อใช้ในงานประเพณีทอดกฐิน ทอดผ้าสี่ไตร ถวายให้พระสงฆ์ใช้ และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับหมอนผาลับแล ซึ่งชาวลับแลนำมาทูลเกล้าฯ ถวายในคราวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรอำเภอลับแล ณ โรงเรียนเทศบาลศรีพนมมาศพิทยากร เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๑ ดังปรากฏอยู่ในนิทรรศการซึ่งจัดแสดงอยู่บนเรือนลับแลโบราณ ณ พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ปัจจุบันมีการถ่ายทอดศิลปะการปักหน้าหมอนให้กับเยาวชน ในการเรียนการสอนของโรงเรียนพนมมาศพิทยากร เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ชุมชนคุณธรรมเมืองลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และมีการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวนลับแล เพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาดูงานชุมชนคุณธรรมเมืองลับแล