เรือนลับแล หรือ เฮือนลับแล ลักษณะสำคัญที่พบในเฮือนลับแลของชุมชนเมืองลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่น มีดังนี้
- จั่วบ้าน จะมีลักษณะเป็นรูป ตาลคลี่ อันมีความเชื่อว่า ใบตาลเป็นใบไม้ที่ใหญ่ที่สุด เมื่อนำมาติดบ้านจะทำให้มีความร่มเย็นเป็นสุข
- ใต้หลังคาจะมีกระดานปูไว้สำหรับเก็บของ ที่ฝาบ้านจะเจาะเป็นช่องเล็กๆ เรียกว่า หน้าป่อง สำหรับมองผู้มาเยือนว่าจะมาดีมาร้ายประการใด และเพื่อไม่ให้เห็นตัวเจ้าของบ้าน
- ชานบ้าน มีแบบชานมุงหลังคา และชานแดดที่ไม่มุงหลังคา ใช้ตากของ ตรงหัวชานใช้ปลูกต้นไม้กระถาง เช่น ดอกไม้ ผักชี สาระแหน่ ใบกุยช่าย ฯลฯ หน้าร้อนยังใช้รับลม จนเย็นแล้วจึงเข้าไปนอน
- บันไดบ้านนิยมพาดบันไดทางด้านเหนือ เวลาขึ้นจะหันหน้าไปทางทิศใต้ หรือพาดด้านเหนือเรือน เวลาขึ้นจะหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เวลาลงจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
- ตัวบ้านนิยมหันหน้าไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ เรียกว่า ขวางตะวัน ไม่นิยมหันหน้าไปทาง
ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก เรียกว่า ตามตะวัน
- ช่องลม มีไว้ให้ลมพัดเข้า พัดออก และแสงเข้าไปในบ้านให้สว่างไม่มืดจนเกินไป จะมีซี่ระแนงตีกันไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อกันคนปีนเข้าบ้าน
- ประตู นิยมทำบานเดียว บางทีจะทำเป็นประตูหลอก โดยใส่อกเลาให้ดูคล้ายประตูสองบาน (ไม่นิยมทำประตูสองบาน เพราะจะคล้ายกับวัด คือ โบสถ์ วิหารนั่นเอง) สลักประตูจะอยู่ข้างประตู สำหรับเสียบกับบานประตู แล้วเสียบไม้กันไม่ให้หลุดจากบานประตู
- ยุ้งข้าว เรียกได้หลายอย่างคือ ป้อมข้าว เฮียข้าว หลองข้าว นิยมปลูกไว้ทางตะวันตกของเรือนใหญ่ มีชานแล่นกลาง เป็นที่เก็บข้าวเปลือกไว้สำหรับรับประทานในครอบครัว
- ครัวไฟ เป็นที่สำหรับปรุงอาหารในสมัยก่อน จะทำกระบะไม้สี่เหลี่ยมใส่ดินและมีก้อนเส้า ๓ ก้อนเพื่อใช้วางหม้อสำหรับหุงต้ม
ปัจจุบันยังคงหลงเหลือบ้านเรือนที่มีลักษณะตามแบบเรือนลับแลโบราณให้พบเห็นบ้างในชุมชนคุณธรรมเมืองลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และมีการจำลองเรือนลับแลโบราณไว้ในพิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ซึ่งเป็นอาคารจัดแสดงวิถีชีวิตของชาวลับแลในอดีต เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมและศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ อาหารการกิน และศิลปะพื้นถิ่นของชาวลับแล