ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 31' 40.4303"
13.5278973
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 16' 58.143"
100.2828175
เลขที่ : 198239
ประเพณีการทำพิธีทำขวัญนาเกลือ
เสนอโดย สมุทรสาคร วันที่ 19 เมษายน 2567
อนุมัติโดย สมุทรสาคร วันที่ 19 เมษายน 2567
จังหวัด : สมุทรสาคร
0 59
รายละเอียด

จังหวัดสมุทรสาคร มีพื้นที่การทำนาเกลือในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีถึง ๖ ตำบล ได้แก่ ตำบลบางหญ้าแพรก ตำบลบางกระเจ้า ตำบลบ้านบ่อ ตำบลกาหลง ตำบลนาโคก ตำบลบางโทรัด และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของจังหวัดสมุทรสาคร ๒ ตำบล ได้แก่ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ ตำบลโคกขาม

การทำนาเกลือทะเล หรือเกลือสมุทร ชาวนาเกลือจะเริ่มทำเกลือประมาณเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน ซึ่งเป็นปลายฤดูฝน หรือในช่วงต้นฤดูแล้งตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ใช้ระยะเวลาประมาณ ๖ – ๗ เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เนื่องจากการทำนาเกลือไม่สามารถทำได้ในช่วงฤดูฝน และจะเริ่มเก็บผลผลิตเกลือได้ประมาณกลางเดือนมกราคม เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละปี

การทำนาเกลือในจังหวัดสมุทรสาครเริ่มต้นจาก ขุนสมุทรมณีรัตน์ หรือนายเม่งฮะ มณีรัตน์พร้อมด้วยนางปิ่น มณีรัตน์ ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล พระราชทานเงินก้นถุงให้เมื่อเสด็จประพาสจังหวัดสมุทรสาคร และเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๔ นายเม่งฮะ มณีรัตน์ ได้รับพระราชทาน บรรดาศักดิ์เป็น “ขุนสมุทรมณีรัตน์” กรรมการพิเศษจังหวัดสมุทรสาคร ถือศักดินา ๔๐๐ ไร่ และเริ่มต้นการทำนาเกลือในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นผู้บุกเบิกและลงทุนให้แก่ชาวบ้านในชุมชน ทั้งยังมีกิจการนาเกลือขุนสมุทรมณีรัตน์ ที่ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นบริษัทนาเกลือขุนสมุทรมณีรัตน์ จำกัด ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ จนถึงปัจจุบัน ขุนสมุทรมณีรัตน์ ได้ทำการซื้อที่ดินและขุดคลองเพื่อนำน้ำทะเลมาทำนาเกลือ และได้มีการประกาศให้คนในชุมชนที่ว่างงานมาหารายได้จากการทำนาเกลือ โดยท่านได้สนับสนุนให้ชาวบ้านทำนาเกลือด้วยการเริ่มลงทุนและถ่ายทอดวิธีการทำนาเกลือให้แก่ชาวบ้านในชุมชน และชาวบ้านลงมือทำนาเกลือด้วยตนเอง นอกจากการทำนาเกลือแล้วยังสนับสนุนให้มีการทำนาข้าวในช่วงฤดูฝนที่ไม่สามารถทำนาเกลือได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านให้ได้มีรายได้ตลอดทั้งปี แต่ที่นาตำบลบางหญ้าแพรก ไม่เหมาะสำหรับการทำนาข้าวเพราะได้ผลผลิตในการทำนาข้าวค่อนข้างน้อย ในปัจจุบันจึงไม่มีการทำนาข้าวในพื้นที่บริเวณดังกล่าว

"ประเพณีการทำพิธีทำขวัญนาเกลือ" เพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นความเชื่อของคนในชุมชน โดยเชื่อว่าหากทำพิธีนี้แล้วจะทำให้ได้รับผลผลิตที่ดี พิธีกรรมการทำขวัญนาเกลือของชาวบ้านตำบลบางหญ้าแพรก มีของเซ่นไหว้และอุปกรณ์การทำพิธีทำขวัญนาเกลือ ดังนี้

๑. ขนมต้มขาว

๒. ขนมต้มแดง

๓. ขนมต้มเป็นรูปหัวหมู (ทดแทนการใช้หัวหมู)

๔. ไข่ต้ม

๕. เป็ด

๖. ผลไม้ ๕ อย่าง (กล้วย มะพร้าว แก้วมังกร องุ่น ส้ม เป็นต้น)

๗. มีข้าว ไข่ และกล้วยใส่ในกระทงใบตอง

๘. ธงสีขาว ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่

๙. กระทงใบตอง

๑๐. ธูป

ชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นไหว้ มาไหว้ศาลประจำบ้าน ซึ่งคนในครอบครัวทุกคนสามารถดำเนินพิธีกรรมได้ โดยมีการสวดนะโม ๓ จบ ตามด้วยบทสวดไตรสรณคมณ์ พร้อมกับถวายเครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง ขนมต้มรูปหัวหมู กระทง และเป็ด เมื่อทำพิธีที่ศาลประจำบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงนำกระทงใส่ขนมต้มขาวพร้อมปักธงสีขาว และธูป ๑ ดอก ไปไหว้บริเวณประตูยุ้งเกลือ ในส่วนของการไหว้หัวนาเกลือจะนำธงที่มีขนาดเล็กปักในกระทงขนมต้มขาว และกล่าวขอพรในทุกๆ หัวนาเกลือ เพื่อบอกกล่าวขอความเป็นสิริมงคลในการทำนากลือให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก เมื่อวางครบทุกหัวนาแล้วนั้น ชาวบ้านในชุมชนจะนำขนมต้มที่วางตามหัวนาไปรับประทาน ซึ่งชาวบ้านจะเรียกผู้ที่นำขนมต้มไปรับประทานว่า “อีกา” เป็นอันจบพิธีกรรมการทำขวัญนาเกลือ

สถานที่ตั้ง
หมู่ที่/หมู่บ้าน ชุมชนบางหญ้าแพรก
ตำบล บางหญ้าแพรก อำเภอ เมืองสมุทรสาคร จังหวัด สมุทรสาคร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นางสาววรินทร์ สังขกุล อีเมล์ culture.skn@gmail.com
ตำบล บางหญ้าแพรก อำเภอ เมืองสมุทรสาคร จังหวัด สมุทรสาคร
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่