ปลาร้าหมักข้าวคั่วแห้ง เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบต่อกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม เป็นการถนอมอาหารให้อยู่ได้นาน มีการใช้วัตถุดิบในพื้นที่มาประกอบในการทำและการใช้แรงงานในชุมชนเป็นผู้ผลิต สูตรในการทำเป็นสูตรดั้งเดิม เมื่อนำไปทอดจะมีกลิ่นหอมและรสชาติอร่อย วัตถุดิบที่นำมาใช้ ทุกชนิด คำนึงถึงความสะอาด ปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค จัดสรรหาวัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติภายในชุมชน และสร้างฐานทรัพยากรอาหาร พร้อมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ จากแหล่งธรรมชาติ กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน ให้เศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนให้มากที่สุด
ในสมัยโบราณ ปลาเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่งของคนไทย ซึ่งหาได้ง่ายตามแม่น้ำลำคลอง ดังนั้น ในวันที่จับปลาได้มาก ก็จะมีการแบ่งปันให้ญาติ หรือเพื่อนบ้าน ได้รับประทานกันอย่างทั่วถึง ตามนิสัยโอบอ้อมอารีของคนไทยในสมัยก่อน ส่วนที่เหลือ จะเก็บรักษาไว้ โดยการหมักเกลือ ทำเป็นปลาร้า ตากแดด หรือย่างรมควัน หมักปลาในตุ่มหรือในไหดินเผา ส่วนผลไม้อาจนำมากวน ซึ่งเป็นการระเหยเอาน้ำออก เพื่อทำให้ผลไม้นั้น สามารถเก็บไว้ได้นาน อาจจะเติมน้ำตาลด้วยหรือไม่ก็ได้ เพื่อให้รสชาติดีขึ้น จะเห็นได้ว่าชาวอีสานจะมีกรรมวิธีในการถนอมอาหาร ซึ่งล้วนเป็นกรรมวิธีการถนอมอาหารที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ปลาร้าหมักคั่งแห้งบ้านเชียงเพ็ง ใช้ปลาที่สดใหม่และคลุกเคล้าเกลือให้เข้าเนื้อปลามากที่สุด เพราะเกลือในปริมาณที่พอเหมาะ จะทำให้ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เนื้อปลาบูดเน่าได้ ส่วนข้าวคั่วนั้น ควรใช้ข้าวเปลือกใหม่มาใช้ เพื่อให้ปลาร้ามีกลิ่นหอมและรสไม่เค็มเกินไป
นำปลามาล้างทำความสะอาด หั่นปลาเป็นชิ้น ล้างด้วยน้ำสะอาด 2 - 3 ครั้ง พักไว้ 30 นาที พอสะเด็ดน้ำ แล้วนำมาผสมกับเครื่องปรุงและส่วนประกอบอื่นๆ ให้เข้ากัน แล้วนำไปเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด 3 - 4 วัน หลังจากนั้น สามารถนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ปิ้ง ทอด นึ่ง