"พระพุทธสิหิงค์ วัดโคกขาม" มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า "หลวงพ่อสัมฤทธิ์" ลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อยู่ในประเภท งานช่างฝีมือดั้งเดิม เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับแบบอย่างมาจากประเทศศรีลังกา เดิมพบในประเทศไทย ๓ องค์ ได้แก่
องค์ที่ ๑ ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
องค์ที่ ๒ ประดิษฐาน ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงค์ จังหวัดเชียงใหม่
องค์ที่ ๓ ประดิษฐาน ณ หอพระพุทธสิหิงค์ ข้างศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
ต่อมาจังหวัดสมุทรสาคร ได้พบพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๔ ณ วัดโคกขาม ตำบลโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร ตามหลักฐานคือพระสัมฤทธิ์ ศิลปะล้านนาที่เรียกว่า พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งมีจารึกที่ฐานว่า "พุทธศักราช ๒๒๓๒ พระสา กับ เดือน ๑ กับ ๒๕ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเมีย โทศก พระยาเมชัย ก็ได้สถาปนาพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ เป็นทอง ๓๘ ชั่ง จงเป็นปัจจัยแก่นิพพาน" ศักราชที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้คือในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา หมายความว่า ได้รับการอัญเชิญมาจากหัวเมืองใดหัวเมืองหนึ่งเพื่อมาประดิษฐาน
ลักษณะของพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐาน ณ วัดโคกขาม มีลักษณะ ดังนี้ ขนาดองค์พระมีหน้าตักกว้าง ๖๖ เซนติเมตร สูง ๘๓ เซนติเมตร หนา ๗ มิลลิเมตร รอบฐาน ๑๕๓ เซนติเมตร เนื้อเป็นทองสีดอกบวบหนัก ๓๗ ชั่ง ๑ ตำลึง (๒,๙๖๔) ทรวดทรงพระองค์อวบอ้วน พระหนุนูน พระพักตร์กลม พระขนงโก่งโค้ง พระนาสิกเป็นสันโค้ง พระโอษฐ์แคบ พระรัศมีเหนือพระเกตุมาลาเป็นเปลวสั้น เส้นพระศกขมวดเป็นต่อมกลม ท่านั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์วางในท่าปางมารวิชัย ครองผ้าแบบห่มดอง ฐานรองเป็นฐานเขียง ลักษณะทั่วไปนับว่าเป็นแบบเชียงแสนรุ่นแรก เชื่อว่าฝีมือช่างเป็นของปฏิมากร ชาวล้านนาไทย ซึ่งสมัยหนึ่งสมเดจพระราเมศวรได้ยกกองทัพไปปราบแคว้นล้านนาไทย และกวดต้อนอพยพชาวล้านนาไทยมาอยู่ที่นครศรีธรรมราช ชาวบ้านที่อพยพมานี้มีตระกูลช่างปฏิมากรที่มีฝีมือเชี่ยวชาญอยู่ด้วย
คุณค่าและความสำคัญของ "พระพุทธสิหิงค์ วัดโคกขาม"
"พระพุทธสิหิงค์ วัดโคกขาม" มีคุณค่าทางศาสนาและประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสัญลักษณ์รูปแบบหนึ่งของศาสนา และเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของคนในท้องถิ่น นอกจากนั้นยังมีคุณค่าทางจิตใจของคนในท้องถิ่นและประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งชาวบ้านและคนในท้องถิ่นร่วมกันอนุรักษ์ เพื่อให้คงอยู่ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีการสืบทอดต่อไป
ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมบริเวดณวัดโคกขามอันเ็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ เพื่อสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามให้ดึงดูดความสนใจแก่คนที่มาท่องเที่ยว เป็นการส่งเสริมการเผยแพร่ประวัติศาสตร์ ประติมากรรมที่สำคัญของจังหวัดสมุทรสาคร