ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 13° 32' 53.9999"
13.5483333
Longitude : E 100° 16' 23.9999"
100.2733333
No. : 198272
สไบมอญ
Proposed by. สมุทรสาคร Date 19 June 2024
Approved by. สมุทรสาคร Date 19 June 2024
Province : Samut Sakhon
0 285
Description

สไบมอญ

“สไบมอญ” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “สไบมอญ” มีชื่อในภาษามอญว่า “หญาดฮะเหริ่มโตะ”หมายถึง ผ้าที่มีลวดลายริมของขอบโตก (“หญาด” หมายถึง ผ้า “ฮะเหริ่ม” หมายถึง ขอบ “โตะ” หมายถึง โตก เป็นเครื่องเรือนชนิดหนึ่งเอาไว้ใช้แทนถาดใส่ชุดถ้วยชามของหวาน ทำด้วยทองเหลืองคล้ายพานขนาดใหญ่) การแต่งกายด้วยผ้าสไบมอญ จะใส่ในกิจกรรมทางศาสนา งานประเพณี งานเทศกาล ตลอดจนพิธีกรรมต่าง ๆ การแต่งกายของชาวมอญจะขาดไม่ได้เลยคือพาดผ้าสไบ ซึ่งจะมีการแต่งกายของผู้หญิงด้วยเสื้อที่เรียบร้อย นุ่งซิ่น และพาดสไบมอญที่ไหล่ ส่วนผู้ชายจะใส่เสื้อคอกลม นุ่งโสร่งลวดลายหมากรุก สไบมอญในจังหวัดสมุทรสาครจะเป็นสไบปักที่มีลวดลายงดงาม มีลายที่เด่นชัด คือ ลายดาวล้อมเดือน

การทำผ้าสไบมอญ ผ้าสไบมอญแต่เดิมใช้ผ้าทอพื้นบ้านไม่มีลวดลาย เมื่อมีการคมนาคม ติดต่อค้าขายกับบุคคลและชุมชนอื่นนอกท้องถิ่น โดยเฉพาะการค้าขายที่มีตลาดผ้า ทำให้การทอผ้าลดลง การทำผ้าสไบมอญแต่เดิมที่ใช้ผ้าทอพื้นบ้านจึงพัฒนามาเป็นผ้าที่ซื้อแทนการทอด้วยมือ ตามหลักฐานเก่าแก่ที่ปรากฏพบว่าผ้าที่นำมาทำสไบมอญ คือ “ผ้ากำมะหริด” (ผ้าขนสัตว์แกมไหม) สันนิษฐานว่าเป็นผ้าที่ชาวมอญซื้อมาจากตลาดปักด้วยลายดาวล้อมเดือน กลางผืนผ้าปักด้วยลายดอกมะลิ คณะสำรวจข้อมูลพบว่าผ้าสไบมอญที่ทำจากผ้ากำมะหริดมีปรากฎเป็นหลักฐานทั้งหมด ๖ ผืน คือ ที่ชุมชนเจ็ดริ้ว ๕ ผืน และชุมชนบ้านเกาะ ๑ ผืน จากการบอกเล่าของนายคลี สนบ้านเกาะ ที่เป็นคนเก่าแก่ในชุมชนเจ็ดริ้ว ให้ข้อมูลว่า ผ้ากำมะหริดนี้มีอายุไม่น้อยกว่า ๑๒๐ ปี ซึ่งอาจเป็นต้นแบบของผ้าสไบมอญในจังหวัดสมุทรสาคร (มอญน้ำเค็ม) ผ้าสไบมอญแต่เดิมใช้ผ้าทอพื้นบ้าน ต่อมาเปลี่ยนมาใช้ผ้าโทเร ผ้าไหมอิตาลี แต่ปัจจุบันชุมชนมอญสมุทรสาครส่วนใหญ่นิยมใช้ผ้าฝ้ายจากรัฐมอญ ซึ่งซื้อมาจากคนมอญที่มาค้าขายแถบชายแดนไทย หรือมีแรงงานไทยต่างด้าวที่นำมาขายในช่วงที่มีเทศกาลต่าง ๆ ของชุมชนชาวมอญในสมุทรสาคร ทั้งนี้เพราะผ้าจากรัฐมอญมีสีสันสดใสและนุ่ม

ลวดลายบนผ้าสไบมอญ เดิมนิยมลายดอกมะลิ ดอกมะเขือ ปัจจุบันมีลวดลายเพิ่มเป็นดอกลิลลี่ ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้อื่นตามจินตนาการของผู้ปัก และมีการปรับเปลี่ยนจากลายดาวล้อมเดือนดั้งเดิมเป็นเถาไม้เลื้อย ขนาดความกว้างของผ้าสไบเดิมนิยม ๔ ทบ หรือ ๒ ทบ ปัจจุบันใช้ ๑ ทบ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการปัก ส่วนขอบหรือริมของผ้าสไบยังคงรักษาอัตลักษณ์เดิม คือ ลายริมขอบโตก

สไบมอญนิยมใช้สีฉูดฉาด สดใส สำหรับใช้ในงานมงคล ถ้างานอวมงคลจะใช้ผ้าสไบเป็นสีดำหรือสีขาว

การห่มสไบ ชาวมอญสมุทรสาครใช้ผ้าสไบทั้งชายและหญิง กล่าวคือ ผู้หญิง จะห่มแบบเฉียงไหล่ แต่ถ้าหากไปงานรื่นเริงจะห่มแบบคล้องคอห้อยชายไว้ด้านหน้า การห่มผ้าสไบมอญของผู้ชาย ถ้าไปงานรื่นเริง เช่น เล่นสะบ้า จะห่มแบบคล้องคอ ห้อยชายไว้ด้านหลัง ด้านหน้าจัดเป็นสามเหลี่ยม แต่ถ้าไปงานทั่ว ๆ ไป จะใช้ผ้าสไบพับครึ่งตามยาวและใช้พาดไหล่ซ้าย

สไบมอญเริ่มมีความนิยมมมากขึ้น จึงเกิดการรวมกลุ่มปักผ้าสไบมอญเพื่อใช้แต่งกายและจำหน่ายโดยมีครูภูมิปัญญาที่เชี่ยวชาญเป็นผู้สอน ซึ่งมีการจำหน่ายทั้งโดยตรงและการขายออนไลน์

Location
Tambon มหาชัย Amphoe Mueang Samut Sakhon Province Samut Sakhon
Details of access
หนังสือ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สมุทรสาคร
Reference นางฐานนันท์ ชาวบ้านเกาะ และนางสาวณัฐชนก คงถิ่น Email culture.skn@gmail.com
Tambon มหาชัย Amphoe Mueang Samut Sakhon Province Samut Sakhon
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่