“ทะแยมอญ” เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายมอญ สันนิษฐานว่าสืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่ครั้งที่ชาวมอญอพยพมาอยู่ในประเทศไทย และมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดสมุทรสาคร สืบเชื้อสายเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญในปัจจุบัน ซึ่งยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวมอญอย่างเคร่งครัด เช่น ความเชื่อเรื่องผี ความศรัทธาในศาสนาพุทธ และปฏิบัติตนตามจารีตประเพณีต่างๆ ในวิถีชีวิตของชาวมอญ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายมอญที่ใกล้สูญหายไป คือ ทะแยมอญ ซึ่งเป็นการแสดงของชายหญิง ร้องโต้ตอบกันด้วยภาษามอญ เป็นเพลงที่มีวงเครื่องสายมอญบรรเลงประกอบการขับร้อง มีบทร้องเป็นภาษามอญ ประกอบด้วยบทไหว้ครูบาอาจารย์ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพในท้องถิ่น ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง บทพุทประวัติและนิทานชาดก และการร้องโต้ตอบด้วยปฏิภาณไหวพริบของผู้แสดงชายหญิงที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับงานที่แสดงนั้น ๆ ผู้แสดงแต่งกายแบบชาวมอญ ชายนุ่งผ้าโสร่ง ใส่เสื้อคอพวงมาลัน พาดผ้าสไบมอญ หญิงนุ่งผ้าซิ่น เสื้อคอกระเช้า พาดผ้าสไบมอญ เกล้ามวยผม การแสดงทะแยมอญนิยมแสดงในงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและวิถีชีวิต เช่น งานบวช งานศพ งานมงคลสมรส งานประเพณีสงกรานต์ ทอดกฐิน งานที่เกี่ยวข้องกับการละเล่นในการแสดงกล่อมบ่านสะบ้าหนุ่มสาว งานที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่และเพื่อความบันเทิงทั่วไป เป็นต้น