สาระสำคัญโดยสังเขป:
บายศรี หรือพานบายศรี เห็นบ่อยในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การบายศรีสู่ขวัญ การบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การไหว้ครู และพิธีสมโภชต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้ล้วนต้องใช้บายศรีเป็นเครื่องประกอบทั้งสิ้น ชาวบ้านโคกพระเจ้า ได้รวมกลุ่มคนที่มีฝีมือด้านงานใบตอง เพื่อจัดทำบายศรีประกอบพิธีต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งสามารถใช้งานฝีมือสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ สามารถดำเนินงานได้ด้วยความเรียบง่ายและรวดเร็ว โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีในหมู่บ้าน คือ ใบตอง และอุปกรณ์ประกอบบายศรี ได้แก่ พานแว่นฟ้า ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ภาชนะสำหรับใส่น้ำแช่ใบตอง น้ำมันมะกอก ไม้ปลายแหลมหรือลวด ดอกไม้ (ดอกพุด ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ฯลฯ) กรรไกรสำหรับตัดใบตอง และลวดเย็บกระดาษ
ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์/เอกลักษณ์/ความโดดเด่น:
มีลักษณะแบบพานบายศรีดั้งเดิมของชาวอีสาน ใบตองที่นำมาใช้สำหรับทำบายศรี มักนิยมใช้ใบตองจากกล้วยตานี เนื่องจากเป็นใบตองที่มีลักษณะเป็นเงา มันวาว เมื่อโดนน้ำจะยิ่งเกิดประกายสีเขียวเข้ม สวยงามยิ่งขึ้น และที่สำคัญ ใบตองจากกล้วยตานีมีความคงทน ไม่แตกง่าย ไม่เหี่ยวง่าย สามารถนำมาพับม้วนเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ได้ง่าย และสามารถเก็บไว้ได้นานหลายวัน หรือถ้ารักษาโดยหมั่นพรมน้ำบ่อย ๆ ใบตองกล้วยตานีจะสามารถคงทนอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์
วิธีการและขั้นตอน
1. การเตรียมใบตองเมื่อได้ใบตองกล้วยตานีมาแล้ว จะต้องนำมาทำความสะอาดก่อน ด้วยการเช็ด โดยใช้ผ้านุ่ม ๆ เช็ดฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกจากใบตองเสียก่อน โดยการเช็ด จะต้องใช้ผ้าเช็ดตามรอยของเส้นใบไปในทางเดียว อย่าเช็ดกลับไปกลับมา หรืออย่าเช็ดขวางเส้นใบเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ใบตองเสียหาย มีรอยแตกและช้ำ ทำให้ไม่สามารถนำใบตองมาใช้งานได้เต็มที่ เมื่อเช็ดสะอาดดีแล้ว ก็ให้พับพอหลวม ๆ เรียงซ้อนกันไว้ให้เป็นระเบียบ เพื่อรอนำมาใช้งานในขั้นตอนต่อไป
2. การพับหรือฉีกใบตองแบ่งเป็นสามประเภท คือ
2.1 ใบตองสำหรับทำกรวยแม่ ฉีกกว้างประมาณ 2 นิ้วฟุต
2.2 ใบตองสำหรับทำกรวยลูก ฉีกกว้างประมาณ 2 นิ้วฟุต
2.3 ใบตองสำหรับห่อ ฉีกกว้างประมาณ 1.5 นิ้วฟุต
ใบตองแต่ละประเภท ควรฉีกเตรียมไว้ให้ได้จำนวนที่ต้องการ จากนั้นนำใบตองที่ฉีกเตรียมไว้แล้วสำหรับพับกรวย มาพับ โดยการพับกรวยแม่และกรวยลูกจะมีลักษณะวิธีการพับเหมือนกัน คือ การนำใบตองมาพับม้วนให้เป็นกรวยปลายแหลม เพียงแต่กรวยลูกจะมีการนำดอกพุดมาวางเสียบไว้ที่ส่วนยอดปลายแหลมของกรวยด้วย
3. การห่อริ้วการห่อริ้วบายศรี คือ การนำกรวยแม่และกรวยลูก ที่ได้ห่อกรวยไว้เรียบร้อยแล้ว มาห่อมัด รวมเข้าไว้ด้วยกัน ที่นิยมทำกันใน 1 ริ้ว จะประกอบด้วย กรวยแม่ 1 กรวย กรวยลูก 7 กรวย หรือ 9 กรวย จนครบตามจำนวนที่ต้องการ เมื่อห่อริ้วจนเสร็จในแต่ละริ้วแล้ว จึงนำริ้วที่ได้ลงแช่ในน้ำผสมสารส้มที่เตรียมไว้ประมาณ 20 นาที เพื่อให้ใบตองเข้ารูปทรงอยู่ตัวตามที่ได้พับและห่อ จากนั้นจึงนำไปแช่ในน้ำผสมน้ำมันมะกอกต่อไป เพื่อให้ริ้วมีความเป็นมันวาว เน้นสีเขียวเข้มของใบตองมากขึ้นและมีกลิ่นหอมในตัวเอง
4. การประกอบบายศรีขั้นตอนสุดท้ายในการทำบายศรี คือการนำริ้วที่ทำเสร็จแล้ว และแช่ในน้ำผสมน้ำมันมะกอกแล้ว มาประกอบเข้ากับพานบายศรี 3 ชั้นที่ได้เตรียมไว้ และประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ให้สวยงาม