สาระสำคัญโดยสังเขป:
จากความเชื่อในอดีตกับวิถีชีวิตของชาวไทย ต้นไผ่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านงานหัตถกรรมจักสาน เพื่อทำมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อประโยชน์ใช้สอย และงานจักสานยังสะท้อนวัฒนธรรม สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาของชาวบ้านได้อีกด้วย งานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ เป็นอาชีพที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย นิยมจักสานเพื่อมาใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ประเภทต่าง ๆ เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น กระบุง ตะแกรง กระด้ง ฝาชี เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร ตะกร้า เข่งใส่ผลไม้ เครื่องมือที่ใช้จับสัตว์น้ำ ลอบ ไซ เป็นต้น เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านอย่างง่ายที่สามารถทำใช้กันได้เองหรือสามารถหาซื้อได้ในราคาไม่แพง เครื่องจักสานไม้ไผ่กับวิถีชีวิตคนไทย ต้นไผ่ถือเป็นทรัพยากรสำคัญ สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของไผ่มาใช้ได้ ตั้งแต่หน่อ ลำต้น ใบ ราก เยื่อไผ่ ขุยไผ่ ประโยชน์หลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านงานหัตถกรรมจักสาน ใช้ทำเป็นข้าวของเครื่องใช้มากมาย เช่น ตะกร้า กระบุง แคร่ กระจาด ฝาชี กรอบรูป กระเป๋า เป็นต้น ไม้ไผ่ที่พบในประเทศไทยและนิยมนำมาใช้ในงานหัตถกรรมจักสานที่สำคัญ ดังเช่น ไผ่สีสุกหรือไผ่โจด พบทั่วไปและมีมากในภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ มีลักษณะขึ้นเป็นกอใหญ่หนาแน่นมาก มีลำต้นกลวง เนื้อหนา ผิวเป็นมันปล้องยาว ลำต้นมีเนื้อหนาและเหนียว ทนทานดีมาก ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไผ่ชนิดนี้มีความสวยงาม คงทน และเป็นที่นิยมนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
ประวัติความเป็นมา:
นายบุญจันทร์ วงษ์ศรี เกษตรกร มีอาชีพเสริมเป็นช่างจักสานไม้ไผ่ โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการจักสานไม้ไผ่จากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ตั้งแต่ อายุ 18 - 19 ปี และได้ทำเครื่องจักสานไม้ไผ่ไว้ใช้ในครัวเรือน อาทิ ตะกร้าไม้ไผ่ ข้อง ไซ เป็นต้น และปัจจุบันนำงานช่างฝีมือพื้นบ้านด้านการ จักสานไม่ไผ่ มาเป็นอาชีพเสริม โดยการจักสานตะกร้าไม้ไผ่ จำหน่ายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงฟ้าหยาดพัฒนา และลูกค้าทั่วไป ตะกร้าไม้ไผ่มีหลากหลายขนาด จักสานด้วยฝีมือประณีต ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า สามารถสร้างรายได้ให้ตนเองได้เป็นอย่างดี การทำงานจักสานจากไม้ไผ่ ตะกร้าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่สมัยปูย่าตาทวด และเป็นการสืบทอดต่อ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคน การนำวัตถุดิบจากธรรมชาติที่อยู่ในท้องถิ่นตนเองมาแปรเป็นอุปกรณ์ใช้ในครัวเรือน ถือเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การจักสานจากไม้ไผ่สามารถถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง การเรียนรู้ต่าง ๆ อาศัยวิธีการฝึกหัดและบอกเล่า ไม่มีหนังสือให้อ่าน ไม่มีบันทึก สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้ ความรู้ที่สะสมที่สืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น
ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์/เอกลักษณ์/ความโดดเด่น:
ตะกร้าจักสานด้วยฝีมือประณีต มีหลายขนาด ตกแต่งด้วยผ้าพื้นเมืองของชุมชนเป็นกระเป๋าได้ สามารถใช้ได้หลากหลายประเภทต่าง ๆ
ผลิตภัณฑ์จักสานตะกร้าไม้ไผ่ บ้านฟ้าหยาด ได้แก่ ตะกร้าไม้ไผ่ มีหลากหลายขนาด
วิธีการสานตะกร้า
1. นำไม้ไผ่มาจักเป็นเส้นตามขนาด ให้ได้เส้นบาง อ่อน และไม่คม เพื่อเหมาะสมต่อการใช้งาน
2. สานส่วนฐานของไม้ไผ่ให้ได้ความกว้างตามขนาดความต้องการ
3. ส่วนลำตัวตะกร้าให้ดัดขึ้นเป็นเกรียวและใช้เส้นตอกสานต่อให้ได้ตามความต้องการตามขนาด เมื่อได้ขนาดตามต้องการให้สานพับขอบของตะกร้าเพื่อกันไม่ให้ไม้ไผ่บาดมือขณะใช้งาน
4. สามารถสานหรือดัดแปลงตะกร้าได้หลากหลายลวดลายตามความถนัด