สาระสำคัญโดยสังเขป:
ตาจ้ำ หรือ พ่อจ้ำ คือ คำเรียกของชาวผู้ไทในพื้นที่ตำบลห้องแซง อำเภอเลิงนกทา หมายถึง ผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเชื่อว่าสามารถติดต่อสื่อสารกับดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ศาลปู่ตา รวมทั้งดวงวิญญาณเจ้าที่ ที่สิงสถิตอยู่บริเวณพื้นที่ในชุมชนที่คอยดูแลรักษาพื้นที่ในชุมชนให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข โดยมีสิ่งแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องบูชาเซ่นไหว้ ซึ่งตาจ้ำหรือพ่อจ้ำ จะมีบทบาทเป็นตัวกลางในการสื่อสารติดต่อกับดวงวิญญาณเหล่านั้น และเป็นผู้นำในการทำพิธีเซ่นไหว้ปู่ตา บรรพบุรุษที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
ประวัติความเป็นมา:
ตาจ้ำหรือพ่อจ้ำ หมายถึง ผู้ที่สามารถสื่อสารกับดวงวิญญาบรรพบุรุษ ดวงวิญญาณเจ้าที่ ไม่ใช่ลักษณะของคนทรงเจ้า วิญญาณไม่ได้สื่อสารโดยการเข้าสิงร่าง แต่เป็นรูปแบบของความฝันหรือนิมิต โดยปัจจุบันในพื้นที่ตำบลห้องแซง ยังมีความเชื่อเรื่องผู้ที่มีความสามารถติดต่อกับผู้อยู่ในโลกหลังความตายได้ และเชื่อว่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษยังคงดูแลปกปักรักษาคนในชุมชนและพื้นที่ทางการเกษตรให้คนในชุมชนดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข มีพืชผลทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์ โดยมีสิ่งแลกเปลี่ยน คือ เครื่องเซ่นไหว้ ซึ่ง “ตาจ้ำ” เป็นผู้ที่สามารถหยั่งรู้ว่าดวงวิญญาณบรรพบุรุษเจ้าที่ต้องการสิ่งใดเพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้ โดยจะกระทำพิธีไหว้ปู่ตา ก่อนการทำนาทุกปี ปัจจุบันผู้ที่สืบทอดการเป็นตาจ้ำ คือ นายกงจักร ห้องแซง อายุ 75 ปี เริ่มเป็นตาจ้ำ เมื่ออายุ 50 ปี โดยนายกงจักร เล่าว่า ดวงวิญญาณปู่ตา ชื่อ เจ้าปู่ชม ที่สิงสถิตอยู่ศาลปู่ตาของบ้านห้องแซง (ปัจจุบันศาลปู่ตา ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังเทศบาลตำบลห้องแซง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร) มาเข้าฝันตนและสั่งให้ตนสืบทอดการเป็นตาจ้ำ นายกงจักรจึงได้เล่าความฝันให้ผู้ใหญ่บ้านฟัง และได้อุทิศตัวเองเป็นตาจ้ำ โดยมีหน้าที่ดูแลศาลปู่ตา จัดหาเครื่องไหว้ปู่ตาทุกวันศีลดับ (วันแรม 15 ค่ำ) ประกอบด้วย ขันหมากเบ็ง หมาก 2 คำ ยาเส้น 2 มวน น้ำดื่ม และน้ำอ้อยนา รวมทั้งเป็นผู้นำกล่าวไหว้ปู่ตาเมื่อมีคนมาไหว้ขอพร หรือมาบนบานศาลกล่าวกับปู่ตา นายกงจักรจะดูแลให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มาบนบานศาลกล่าวและแนะนำสิ่งของสำหรับไหว้ปู่ตา นอกจากนี้ นายกงจักรยังย้ำว่า ผู้ที่จะมาสักการะปู่ตาต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย ถูกกาลเทศะ ห้ามนุ่งสั้น และสิ่งของที่จะนำมาไหว้ปู่ตา ควรเป็นน้ำหวานจากธรรมชาติ เช่น น้ำอ้อย หรือสามารถนำน้ำเปล่ามาถวายได้ หากเป็นอาหารคาว ควรเป็นหัวหมู ลาบเนื้อ นอกจากนี้ นายกงจักร ในฐานะผู้ทำหน้าที่ “ตาจ้ำ” ยังเป็นผู้นำพิธีกรรมในการไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ เช่น ดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ปกปักรักษาไร่นา ดอนเจ้าปู่ประจำที่นา อีกด้วย
ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์/เอกลักษณ์/ความโดดเด่น:
จากความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ผีเจ้าที่ ปู่ตา เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการอยู่ร่วมกันของชุมชนด้วยความเคารพธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
อื่นๆ:
เนื่องจากความเชื่อเรื่องการติดต่อกับดวงวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ จึงต้องมีระบบคัดกรองผู้ที่เป็น “ตาจ้ำ” คนต่อไป โดยเทศบาลตำบลห้องแซงได้เห็นความสำคัญของการรักษาวัฒนธรรม ความเชื่อดั้งเดิมของคนห้องแซง จึงมีแนวความคิดร่วมกับคนในชุมชนในการคัดเลือกผู้ที่จะเป็น “ตาจ้ำ” คนต่อไป โดยจะคัดเลือกบุคคลที่อยู่ในศีลธรรม ไม่กระทำผิดกฎหมาย มีจิตอาสา ประพฤติตนเป็นที่น่าเคารพเชื่อถือของคนในชุมชน เพื่อดำรงไว้ซึ่งวิถีของคนห้องแซงต่อไป