ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 21' 25.5031"
15.357084190209799
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 24' 12.2844"
104.40341233982461
เลขที่ : 198391
ประเพณีบุญผะเหวด
เสนอโดย ยโสธร วันที่ 16 กันยายน 2567
อนุมัติโดย ยโสธร วันที่ 19 กันยายน 2567
จังหวัด : ยโสธร
0 138
รายละเอียด

สาระสำคัญโดยสังเขป:

บุญผะเหวด คำว่าผะเหวด เป็นสำเนียงของชาวอีสานที่มาแผลงมาจากคำว่า พระเวส ซึ่งหมายถึง พระเวสสันดร การทำบุญผะเหวด เป็นการทำบุญและฟังเทศน์ เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ ซึ่งมีจำนวน 13 กัณฑ์ ทั้งนี้เพี่อเป็นการรำลึกถึงพระเวสสันดร ผู้ซึ่งบำเพ็ญเพียรอันยิ่งใหญ่ด้วยวิธีบริจาคทานหรือทานบารมีในชาติสุดท้าย หรือมหาชาติของพระพุทธองค์ก่อนที่จะมาเสวยชาติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า งานบุญผะเหวด เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวอีสานนิยมทำกันทุกหมู่บ้าน ด้วยความเชื่อว่าหากได้ฟังเทศน์มหาชาติครบทั้ง 13 กัณฑ์ จบภายในวันเดียวอานิสงส์จะดลบันดาลให้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความสุขตามพุทธคติ

ประวัติความเป็นมา:

มูลเหตุที่ทำ

มีกล่าวไว้ในหนังสือมาลัยหมื่นมาลัยแสนว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยให้ไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบและสนทนากับพระศรีอาริยเมตไตรย พระโพธิสัตว์ผู้ซึ่งจะได้จุติกาลลงมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ทราบความประสงค์ของมนุษย์จากพระมาลัยแล้ว จึงสั่งความกับพระมาลัยว่า “หากใครต้องการจะพบและเกิดในสมัยพระศรีอาริย์ ให้ทำแต่ความดี อย่าฆ่าพ่อตีแม่ สมณชี พราหมณ์ ครูอาจารย์ อย่าทำร้ายพระพุทธเจ้า อย่ายุยงสงฆ์ให้แตกกัน และต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบทุกกัณฑ์ในวันเดียว ท่านทั้งหลายจะได้เกิดร่วมและพบพระองค์” จึงเป็นที่มาของประเพณีบุญผะเหวด

พิธีกรรม

ชาวอีสาน จะจัดทำบุญผะเหวด ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือน 3 ไปจนถึงกลางเดือน 5 โดยจะมีวันรวมตามภาษาอีสาน เรียกว่า“วันโฮมบุญ”พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลาหรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็ก ๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับผี เปรต และมารรอบ ๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ 1 ถึงกัณฑ์สุดท้าย การจัดงานบุญผะเหวดหรืองานเทศน์มหาชาติ นิยมที่อัญเชิญพระอุปคุตมาปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชคลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึงมีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจากสะดือทะเล

การกำหนดวันงาน มี 2 วัน คือ วันโฮมบุญ (วันรวม) และวันฟังเทศน์ ในวันโฮมบุญ ฝ่ายแม่บ้านสุภาพสตรีก็จะจัดเตรียมบ้านเรือนไว้รับแขกบ้านอื่น และทำข้าวปุ้น (ขนมจีน) ไว้ทุกบ้านเรือน เตรียมของหวาน หมากพลู บุหรี่ และที่นอนไว้คอยรับแขกด้วย เพราะอาจจะมีผู้มาพักค้างคืน ส่วนฝ่ายชายซึ่งเป็นพ่อบ้านจะพากันไปเตรียมไว้ที่วัด จัดสถานที่ ทำที่ฟังเทศน์ ประดับตกแต่งธรรมาสน์เทศน์ ปักธงทิวไว้รอบวัด และทำที่หออุปคุต รูปนก รูปสัตว์ แขวนไว้ที่ศาลาการเปรียญ สำหรับพระภิกษุสามเณร ก็เตรียมสถานที่ต้อนรับพระภิกษุสามเณรที่มาจากบ้านอื่น ที่จะต้องมาพักแรมเพื่อร่วมเทศน์ในวันรุ่งขึ้น พิธีแห่อุปคุต ในตอนเย็นของวันรวม จะมีการอัญเชิญพระอุปคุตจากแหล่งน้ำมาสู่ศาลาวัด มีเรื่องราวกล่าวไว้ว่า ในอดีตพระอุปคุต ซึ่งเป็นพระเถระผู้ทรงฤทธิ์ นิรมิตกุฏิอยู่กลางแม่น้ำใหญ่ สามารถปราบภูตผีปีศาจได้ ครั้งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากที่ต่าง ๆ มาบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาใหม่ เสร็จแล้วจะทำการฉลอง จึงทรงปริวิตกถึงมารผู้เป็นศัตรูคู่เวรของพระพุทธเจ้า จึงทรงรับสั่งให้ไปนิมนต์พระอุปคุต มาในพิธีฉลองนั้น เมื่อมารรู้ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชจะฉลองสถูปเจดีย์ก็มาแสดงอิทธิฤทธิ์โต้ตอบกับพระอุปคุต ครั้งสุดท้ายพระอุปคุตได้เนรมิตหนังสุนัขเน่า ผูกแขวนคอมารไว้ มารไม่สามารถแก้ให้หลุดได้ ในที่สุดมารก็ยอมแพ้ พระอุปคุตจึงแก้หนังสุนัขเน่าออกจากคอมารและนำเอาตัวไปกักขังไว้บนยอดเขา การฉลองพระสถูปเจดีย์ครั้งนั้นจึงปลอดภัยและสำเร็จลงด้วยดี ดังนั้น บุญผะเหวดจึงนำเรื่องราวของพระอุปคุตมาเกี่ยวข้อง โดยถือความเชื่อจากเรื่องราวดังกล่าวนั้น จัดเป็นหอเล็ก ๆ ข้างในบรรจุอัฐบริขารไว้ครบชุด เรียกว่า “หออุปคุต” ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของศาลาการเปรียญ เพื่อให้งานบุญผะเหวดมีความสงบเรียบร้อยด้วยประการทั้งปวง

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์/เอกลักษณ์/ความโดดเด่น:

1. การใส่หนังสือ เมื่อได้กำหนดวันงานแล้ว จะกำหนดการใส่หนังสือ คือ เอาหนังสือใบลานหรือ “ลำผะเหวด” มาแบ่งย่อย ๆ ออกประมาณ 30-40 ผูกเป็นชุด แล้วนำเอาหนังสือที่แบ่งไว้นั้นไปให้ตามวัดต่าง ๆ เพื่อพระสงฆ์จากวัดนั้น ๆ จะนำไปเทศน์ตามวันที่กำหนดไว้ โดยที่พระจะทราบเองว่าใบลานชุดของตัวเองได้มานี้อยู่กัณฑ์ไหน เมื่อถึงผูกของตนก็จะนำขึ้นไปเทศน์และทั้งหมดนั้นจะเป็นอักษรตัวธรรม การกระทำเช่นนี้เรียกว่า “การใส่หนังสือ”

2. การแห่ผะเหวด และการแห่ข้าวพันก้อน ในตอนเย็นของวันโฮมบุญจะมีการไปรวมกันที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสมมติกันว่าเป็นป่า ตามเรื่องราวในพระเวสสันดรชาดก และพากันแห่ผ้าซึ่งเขียนภาพเป็นเรื่องราวพระเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ เข้าสู่หมู่บ้าน ตามระยะทางจะมีผู้ตั้งถังน้ำหอมไว้สำหรับให้ผู้ที่แห่ผะเหวดไว้เอาดอกไม้จุ่มเป็นการบูชาพระเวสสันดร พอถึงบริเวณวัดก็จะนำผ้าไปขึงไว้บริเวณรอบศาลาการเปรียญ หมู่บ้านบางแห่งจะแห่ข้าวพันก้อนไปด้วย แต่ส่วนใหญ่นิยมแห่ข้าวพันก้อนในตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น “ข้าวพันก้อน” หมายถึง ข้าวเหนียวทำเป็นก้อนเล็ก ๆ โดยการแบ่งคนละกัณฑ์ หรือ คุ้มละ 5 กัณฑ์ ก็ได้ แล้วไปจัดทำข้าวมาตามจำนวนพระคาถาในแต่ละกัณฑ์บ้านละเล็กบ้านละน้อย เข้ากันได้ 1,000 ก้อน และนำมาถวายพุทธบูชาในวันเทศน์มหาชาติ เป็นการบูชา “พระคาถา” และในการฟังเทศน์ บุญผะเหวด นั้นจะต้องมีอุบาสกอุบาสิกาคอยปฏิบัติพิธีกรรมในขณะที่ฟังแต่ละกัณฑ์ โดยจุดธูปเทียนเพื่อบูชากัณฑ์ต่าง ๆ ตามจำนวนคาถาในแต่ละกัณฑ์ ดังนี้

กัณฑ์ทศพร 19 พระคาถาจุดธูป 19 ดอก จุดเทียน 19 เล่ม

กัณฑ์หิมพานต์ 134 พระคาถาจุดธูป 134 ดอก จุดเทียน 134 เล่ม

กัณฑ์ทานกัณฑ์ 209 พระคาถาจุดธูป 209 ดอก จุดเทียน 209 เล่ม

กัณฑ์วนปะเวส 57 พระคาถาจุดธูป 57 ดอก จุดเทียน 57 เล่ม

กัณฑ์ชูชก 79 พระคาถาจุดธูป 79 ดอก จุดเทียน 79 เล่ม

กัณฑ์จุลพน 35 พระคาถาจุดธูป 35 ดอก จุดเทียน 35 เล่ม

กัณฑ์มหาพน 80 พระคาถาจุดธูป 80 ดอก จุดเทียน 80 เล่ม

กัณฑ์กุมาร 101 พระคาถาจุดธูป 101 ดอก จุดเทียน 101 เล่ม

กัณฑ์มัทรี 90 พระคาถาจุดธูป 90 ดอก จุดเทียน 90 เล่ม

กัณฑ์สักกะบรรพ์ 43 พระคาถาจุดธูป 43 ดอก จุดเทียน 43 เล่ม

กัณฑ์มหาราช 69 พระคาถาจุดธูป 69 ดอก จุดเทียน 69 เล่ม

กัณฑ์ฉกษัตริย์ 36 พระคาถาจุดธูป 36 ดอก จุดเทียน 36 เล่ม

กัณฑ์นครกัณฑ์ 46 พระคาถาจุดธูป 46 ดอก จุดเทียน 46 เล่ม

3. การแห่กัณฑ์หลอน“กัณฑ์หลอน” ซึ่งคำว่า “หลอน”เป็นภาษาอีสาน หมายถึง การแอบมาหา หรือลักลอบไปหาโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าในขณะที่พระภิกษุกำลังเทศน์มหาชาติอยู่นั้น ซึ่งกัณฑ์หลอนเป็นกัณฑ์พิเศษนอกเหนือจากกัณฑ์เทศน์บุญผะเหวด ที่มีอยู่ 13 กัณฑ์ และแต่ละกัณฑ์จะมีเจ้าภาพเป็นผู้ถวายปัจจัยอยู่แล้ว กัณฑ์หลอนจึงเป็นกัณฑ์เทศน์ที่ไม่ได้จองไว้ก่อน ชาวบ้านจะแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ หาดนตรีพื้นบ้าน อาทิ กลอง แคน ฉิ่ง ฉาบ แห่กันไปในหมู่บ้าน เพื่อเรี่ยไรทรัพย์สินเงินทองของชาวบ้านมาทำเป็นกัณฑ์เทศน์ โดยใช้ต้นกล้วยขนาดสูงประมาณ 1 เมตร ตั้งกลางกระบุงหรือภาชนะคล้ายกัน มีไม้ไผ่ที่ผ่าซีกไว้สำหรับคีบธนบัตร แล้วนำไปเสียบไว้ลำต้นกล้วย เมื่อรวบรวมได้พอสมควรแล้ว ก็จะแห่เข้ามาในวัด พอถึงบริเวณพิธีที่เรียกว่า“ผาม”ก็จะแห่รอบผาม โดยเวียนขวา 3 รอบ แล้วนำกัณฑ์หลอนขึ้นไปถวายพระสงฆ์ที่กำลังเทศน์อยู่ขณะนั้น โดยไม่บอกกล่าวไว้ล่วงหน้า กัณฑ์เทศน์ที่ลักลอบเข้ามาเช่นนี้ เรียกว่า“แห่กัณฑ์หลอน”

สถานที่ตั้ง
วัดฟ้าห่วนใต้
หมู่ที่/หมู่บ้าน บ้านฟ้าห่วน
ตำบล ฟ้าห่วน อำเภอ ค้อวัง จังหวัด ยโสธร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
พระครูวิสิฐนภเขต
บุคคลอ้างอิง เสาวภาคย์ กมลภากรณ์ อีเมล์ saowapak.kamolpakorn@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยโสธร
ถนน แจ้งสนิท
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองยโสธร จังหวัด ยโสธร รหัสไปรษณีย์ 35000
โทรศัพท์ 045715137
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่