สาระสำคัญโดยสังเขป:
พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัด พระธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทุ่งนาในเขตตำบลตาดทอง พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือ มีลักษณะเป็นก่องข้าวองค์พระธาตุ เป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อย ๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อยมีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5x5 เมตร
นอกจากนี้ บริเวณด้านหลังพระธาตุมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐถือปูนโบราณ (ไม่ปรากฏนาม) สร้างโดย นายหก เวชกามา พร้อมลูกหลาน เมื่อปี พ.ศ. 2499 ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก กราบไว้ขอพรแล้วจะประสบความสำเร็จสมดังใจปรารถนา เช่น ขอให้สอบได้ ขอให้กิจการเจริญรุ่งเรือง เมื่อผู้ไปขอพรประสบความสำเร็จก็จะนำรูปปั้นเป็ด ไก่ มาถวาย บางรายโอนเงินมาบริจาคให้เทศบาลตำบลตาดทอง เพื่อบูรณะพระธาตุ และในเดือนห้าของทุกปีจะมีกิจกรรมนมัสการและสรงน้ำพระธาตุ ผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง เชื่อกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ฝนจะแล้งในปีนั้น
ประวัติความเป็นมา:
มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งผิดไปจากปูชนียสถานแห่งอื่น ๆ ที่มักเกี่ยวพันกับเรื่องพุทธศาสนา แต่ประวัติความเป็นมาของพระธาตุก่องข้าวน้อยกลับเป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนาตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาเพล มารดามาส่งข้าวสาย เกิดหิวข้าวจนตาลาย อารมณ์ชั่ววูบทำให้เขากระทำมาตุฆาต ด้วยสาเหตุเพียงว่าข้าวที่มารดาเอามาส่ง ดูจะน้อยไปไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมด จึงได้สติคิดสำนึกผิดที่กระทำรุนแรงต่อมารดาของตนเองจนถึงแก่ความตาย จึงได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำมาตุฆาต
นอกจากนี้ที่บริเวณบ้านตาดทอง กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และภาชนะลายเขียนสีแบบบ้านเชียง
ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์/เอกลักษณ์/ความโดดเด่น:
พระธาตุก่องข้าวน้อย หรือพระธาตุตาดทอง เป็นสถูปพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนโบราณ และใบเสมาสมัยทวาราวดี ตัวพระธาตุมีรูปทรงแปลกไปจากเจดีย์ทั่วไป คือ มีลักษณะเป็นก่องข้าว