สาระสำคัญโดยสังเขป:
“บุญข้าวจี่” วันเพ็ญเดือน 3 เป็นวันมาฆบูชา รุ่งขึ้นวันแรม 1 ค่ำ เป็นบุญประเพณีที่สำคัญของชาวอีสาน กำหนดอยู่ในฮีตสิบสอง เป็นงานบุญประเพณีที่ทำกันมาในเดือนสามเรียกว่า บุญเดือนสาม เป็นเวลาที่ชาวนา เก็บเกี่ยวข้าวและนำขึ้นยุ้งฉางเรียบร้อยแล้ว หมดภาระจากการทำนา จึงอยากร่วมกันทำบุญ และในพิธีทำบุญเดือนยี่ที่ผ่านมาต่าง ก็เป็นบุญข้าวเปลือกทั้งสิ้น (บุญคูนลาน บุญกุ้มข้าวใหญ่) ในเดือนสาม จึงเป็นบุญของข้าวสุก ข้าวจี่ คือ ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วนำมาปั้นเป็นขนาดประมาณกำมือ บางครั้งจะมีการใส่น้ำอ้อย (น้ำตาลแดง) หรือทาเกลือให้ทั่วก่อนนำไปปิ้งไฟให้สุกด้วยวิธีวางบนถ่านไฟ (การจี่) จนสุกเหลือง ทาด้วยไข่จนทั่วแล้วปิ้งไฟต่อให้สุกทั่ว มีกลิ่นหอม เมื่อถึงวันทำบุญชาวบ้านจะทำการแจกข้าวตั้งแต่เช้ามืด จากบ้านของตนเอง บางแห่งอาจนำเข้าและฟืนไปรวมกันที่วัดแล้วทำการจี่เข้าร่วมร่วมกัน นอกจากข้าวจี่แล้ว ก็จะนํา “ข้าวโป่ง หรือ ข้าวเขียบ”ทั้งที่ยังไม่ย่างเพื่อให้พระเณรย่างกินเองและที่ย่างไฟแล้วจนโป่งพองใส่ถาดไปด้วย พร้อมจัดอาหารคาว ไปถวายพระที่วัด เป็นการร่วมกันทำบุญ เสริมสร้างความสามัคคีกัน เมื่อนำข้าวจี่มารวมกัน ครั้งถึงเวลาพระภิกษุ สามเณรจะมานั่งที่อาสนะ ประธานในพิธีนำญาติโยมอาราธนาศีล พระภิกษุ ให้ศีลญาติโยมศีล แล้วกล่าวคำถวายข้าวจี่ จากนั้นจะนำข้าวจี่ไปใส่บาตรพระ ซึ่งตักบาตรเรียงแถวไว้ ตามจำนวนพระและถวายภัตตาหารพระ เมื่อพระฉันเสร็จ จะให้พรญาติโยมเป็นอันเสร็จพิธี โดยภายในงาน มีการแข่งขันการทำข้าวกี่ทำบุญตักบาตรข้าวจี่และข้าวเหนียวสุกและพิธีสู่ขวัญข้าวส่วนข้าวเปลือกที่นำมาทำกุ้มข้าวใหญ่ประชาชนในตำบลทุ่งแต้ได้นำข้าวเปลือกบรรจุกระสอบมาร่วมทำบุญกันก่อนสู่ขวัญข้าว ส่วนข้าวเปลือกเมื่อเสร็จพิธีกุ้มจะนำไปจำหน่ายนำเงินมาทำนุบำรุงพุทธศาสนาโดยมีประชาชนตำบลทุ่งแต้ ร่วมกิจกรรมการทำบุญในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
ประวัติความเป็นมา:
ชาวบ้านทุ่งแต้ มีความเชื่อเรื่องการตั้งถิ่นฐานของบ้านทุ่งแต้ว่า ครั้งเมื่อสมัยพระวอพระตาให้ลูกหลานได้แก่ท้าวคำสิงห์ เจ้าคำใส เจ้าคำขุย และเจ้าก่ำ อพยพจากนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภูในปัจจุบัน) เพื่อสร้างเมืองใหม่ตามลุ่มน้ำชี เจ้าคำสู ปกครองบ้านสิงห์ท่า (ยโสธรในปัจจุบัน) เจ้าคำขุย สร้างและปกครองบ้านสิงห์หินหรือสิงห์โคก (ตำบลสิงห์ในปัจจุบัน) เจ้าคำสิงห์ สร้างบ้านเมืองใหม่และปกครองอำเภอป่าติ้วใน ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอป่าติ้วเช่นกัน ก่อนที่เจ้าทั้ง 4 ท่าน จะปกครองบ้านเมืองของตนก็ได้นําไพร่พลไปสร้างเมืองใหม่คือ บ้านขั้นไดใหญ่และหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าบ้านโพนเขวาเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งในสมัยนั้น ระหว่าง พ.ศ. 2310-2318 ชาวบ้านอยู่กันอย่างสงบสุขเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดเหตุอาเพศ มีศพตกจากโลงไปที่นอนที่พื้นดินขณะที่ชาวบ้านกําลังหามไปที่ป่าช้า ชาวบ้านตื่นตระหนกและเชื่อกันว่าเป็นลางร้ายที่จำทำให้เกิดภัยพิบัติให้ชาวบ้านล้มตายกันทั้งหมู่บ้าน จึงพากันอพยพไปหาที่แหล่งใหม่ โดยบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือระยะทาง ประมาณ 20 กิโลเมตรเศษ ก็พบหนองน้ำที่มีดอกบัวขึ้นอยู่และได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณรอบ ๆ หนองบัวนั้น ตั้งอยู่ได้ไม่นานเพราะการทำไร่ ทำนา ไม่ได้ผลทำให้เกิดความอดอยากจึงพากันคิดหาทำเลใหม่ การหาทำเลใหม่ครั้งนั้นก็มุ่งไปสู่ทิศใต้ระยะทางไปไกลนัก โดยมีพ่อใหญ่ลือ คำหาญ เป็นหัวหน้า ก็พบหนองน้ำและมีป่า “มะค่าแต้”อยู่ทางทิศตะวันออก (คือหนองคำและดอนปู่ตาในปัจจุบัน) ทางทิศเหนือเป็นป่าบริเวณกว้างใหญ่ มีหนองน้ำบริเวณหลายแห่ง ตอนหลังหนองน้ำมีชื่อว่า “หนอง” “หนองต้อน”และ “หนองจั่น” ต้นทิศตะวันออกก็มี “หนองไผ่”และ “หนองหวาย” ชาวบ้านเห็นว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ จึงตัดสินใจตั้งเป็นบ้านใหม่
“บุญข้าวจี่” ประเพณีสำคัญอีก 1 ประเพณีของชาวบ้านทุ่งแต้ ข้าวจี่ คือ ข้าวเหนียวปั่น เป็นอาหารที่ชาวอีสานทั่วไปนิยมจี่รับประทานในตอนเช้าโดยเฉพาะหน้าหนาว ชาวอีสานนับเป็นของทานเล่นอย่างหนึ่งหรือถือว่าเป็นอาหารเสริม ในสมัยโบราณ ข้าวจี่มีบทบาทสำคัญในพิธีบุญเดือนสาม อันเป็นหนึ่งใน ฮีตสิบสอง (คือประเพณี 12 เดือนของชาวอีสาน) เพราะชาวอีสานจี่ข้าวแล้วนำไปทำบุญถวายพระเรียก “บุญข้าวจี่”
มูลเหตุของ “บุญข้าวจี่” ที่เป็นเรื่องเล่ากันว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังมีพระชนมายุอยู่ ครั้งหนึ่งได้เสด็จไปประทับที่กรุงราชคฤห์ มีนาทาสีคนหนึ่งชื่อ นางปุณณา นางต้องไปตักน้ำไกลจากบ้านทุกวัน นางจึงต้องเตรียมอาหารไปด้วย โดยนำเข้าผสมรำอ่อน ปั้นเป็นก้อนย่างไฟจนสุกเกรียม วันหนึ่งขนาดเดินไปตักน้ำ เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมา นางเกิดศรัทธาอยากถวายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่นางยากจนมีเพียงปั้นข้าวจี่ติดมือมา จึงได้ถวายปั้นข้าวจี่ ด้วยใจหวั่นเกรงว่าพระพุทธเจ้าจะโยนทิ้งเสีย แต่ตรงกันข้ามพระพุทธองค์รับปั้นข้าวจี่ แล้วทรงเสวยจนหมดต่อหน้านางพอทราบดีว่าการทำบุญขึ้นอยู่กับศรัทธาไม่ใช่ราคาของสิ่งที่ทำบุญ แล้วจึงทรงเทพโปรดนางปุณณา นางปุณณา ซาบซึ้งรสพระธรรมมาก จนบรรลุโสดาปัตติผล ตั้งแต่นั้นศาสนิกชนก็ทำบุญทำบุญเข้าจี่สืบมา
ส่วนผสมและวิธีการทำข้าวจี่
ส่วนผสม มีดังนี้
1.ข้าวเหนียวนึ่ง
2. ไข่ไก่
3. เกลือ
การทำข้าวจี่เริ่มจากนำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ ๆ มาปั้น ขนาดเท่ากำมือหรือไข่ไก่ โรยเกลือเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ นิยมตีไข่ทารอบข้าวปั้น บางแห่งทาด้วยน้ำอ้อย (น้ำตาลแดง) จากนั้นใช้ไม้เสียบ แล้วนำไปอังไฟหรือปิ้งให้สุก พลิกกลับไปมาเพื่อให้สุกโดยสม่ำเสมอข้าวจี่ที่สุกแล้วจะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ข้าวจี่ในปัจจุบันที่ทำจำหน่ายเป็นอาหารว่างได้เปลี่ยนรูปร่างเป็นแผ่นกลม ๆ เพื่อความสะดวกในการย่างบนตะแกรงเหล็กได้
วิธีการรับประทาน นำไปปิ้งไฟอ่อน ๆ หมั่นกลับไปมา ให้สุกทั่วกันทั้งสองด้าน แผ่นข้าวจะป่อง ยืดออกพองและกรอบ