"ไส้กรอกใหญ่รสเด็ดโบราณพิชัย"เป็นอาหารพื้นถิ่นของอำเภอพิชัยที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ มีรสชาติกลมกล่อม หวานนำเผ็ดปลายลิ้น หอมเครื่องเทศเฉพาะตัวไม่ฉุน รสสัมผัสหนึบๆ กรุบๆ เพราะมีส่วนผสมของข้าวเหนียว และถั่วลิสงคั่ว ไม่เหมือนที่อื่น หารับประทานยาก
วิธีการและขั้นตอนการปรุง
1. นำไส้หมูมาล้างผ่านน้ำจำนวน 3น้ำ แล้วนำไส้หมูไปหมักด้วยเกลือ แป้งมันสำปะหลัง แล้วขยำให้เข้ากันทิ้งไว้ 5นาที แล้วนำไปล้างออกให้สะอาด จนไส้มีลักษณะใส และสะอาดไม่มีกลิ่นคาว
2. นำพริกแกงมาโขลกกับกระชายพอหยาบ
3. นำหมูบดข้าวเหนียวนึ่งตามด้วยน้ำพริกมาผสมรวมกันให้เข้ากันดี
4. ตามด้วยหัวกะทิ ใบมะกรูดซอย ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลทราย มีลักษณะรสชาติหวานนำเค็มตาม ปิดท้ายด้วย ถั่วลิสงบดหยาบคลุกเคล้าพอเข้ากันดีนำไปคั่วในกระทะแล้วชิมรสชาติ เมื่อได้รสชาติที่ต้องการแล้ว นำไปยัดในไส้หมูที่เตรียมไว้พอหลวมๆ ไม่แน่นจนเกินไป
5. ก่อไฟด้วยกากมะพร้าว ให้กากมะพร้าวมีลักษณะไฟสีแดงอ่อนๆ จึงนำไส้กรอกลงไปย่างเพื่อที่จะลดกลิ่นคาวของไส้ ทำให้รสชาติดีขึ้นและกลมกล่อมและมีสีสันที่น่ารับประทาน
6. ในระหว่างย่างให้นำไม้จิ้มตัวไส้กรอกเป็นรูๆ เพื่อที่จะระบายอากาศที่อยู่ด้านในใส้จะไม่ทำให้ไส้กรอกเกิดการแตกตัว ใช้เวลาประมาณ 30นาที หรือมีสีสันที่น่ารับประทาน
7. พักไว้ให้เย็นตัดเป็นคำๆ เสริมคู่กับขิงสด พริกขี้หนูสวน กะหล่ำปลี ผักชีใบเลื่อย จัดให้สวยงามพร้อม รับประทาน
อ้างอิงข้อมูล: นายธัชธนพงษ์ โกศล จามจุรีคาเฟ่ วิทยาลัยการอาชีพพิชัย เลขที่ 154 ม.1 ต.ในเมือง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์
"ไส้กรอกใหญ่รสเด็ดโบราณพิชัย" เป็นเมนูของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้รับการคัดเลือกในกิจกรรม 1จังหวัด 1เมนู เชิดชูอาหารถิ่น "รสชาติ....ที่หายไป The Lost Taste" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567ตามประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ลงวันที่ 19สิงหาคม 2567 ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) "รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของอาหารไทย อาหารท้องถิ่น ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทยรวมถึงการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับอาหารไทย และอาหารท้องถิ่น ต่อยอดสมุนไพรไทย สรรพคุณทางเลือกและส่งต่อเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมศักยภาพของเครือข่ายวัฒนธรรมในการบริหารจัดการงานวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น